ประเภทของระบบสารสนเทศ By kru.Jindawan Boonchakorn
1. ระบบสารสนเทศประมวลผลรายการธุรกรรม TPS : Transaction Processing System เป็นระบบสารสนเทศเกี่ยวกับการบันทึก และประมวลผลข้อมูลที่เกิดจากการทำธุรกรรม (Transaction) หรือการปฏิบัติงานประจำ (Routine) สนับสนุนการทำงานระดับปฏิบัติการ เช่น การบันทึกรายการขายประจำวัน รายการสั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบ การฝากถอนเงินจากธนาคาร การสำรองห้องพัก สารสนเทศที่ได้อาจจะยังไม่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจมากมายนักเนื่องจากได้เป็นสารสนเทศที่เป็นรายการจำนวนมาก
2. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ MIS : Management Information System เป็นการนำข้อมูลจากระบบสารสนเทศประมวลผลธุรกรรมมาประมวลผลเพื่อนำไปใช้ในการควบคุมการทำงานหรือตัดสินใจในระดับปฏิบัติการ สารสนเทศที่ได้จากระบบนี้จะอยู่ในรูปแบบของรายงานสรุปประเภทต่าง ๆ เช่น รายงานตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นการกำหนดเวลาและรูปแบบไว้ล่วงหน้า อาจจัดทำขึ้นทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกปี เช่น รายงานยอดขายของพนักงาน เป็นต้น
รายงานสรุป เป็นรายงานสรุปการดำเนินงานในภาพรวม นิยมแสดงในรูปแบบของกราฟเปรียบเทียบ รายงานเมื่อมีเงื่อนไขเฉพาะเกิดขึ้น จัดทำเมื่อมีเงื่อนไขเฉพาะที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การทำงานงานปกติ เช่น รายงานแสดงสินค้าที่มียอดขายต่ำกว่าที่คาดหวัง รายงานตามความต้องการ รายงานประเภทนี้จัดทำเมื่อผู้บริหารต้องการ เช่น รายงานแสดงรายชื่อนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.0 เพื่อนำไปใช้ในการสอนซ่อมเสริม เป็นต้น
3. ระบบสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจ DSS : Decision Support System เป็นการรวบรวมข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อนำมาประมวลผลให้ได้สารสนเทศที่ช่วยผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ เช่น การตัดสินใจเรื่องการคิดโปรโมชั่นของสินค้า การตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจจะสร้างทางเลือกต่าง ๆ ให้ผู้บริหารตัดสินใจ โดยจะต้องมีความยืดหยุ่นสูง กล่าวคือ ผู้บริหารสามารถปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ เองได้ และต้องตอบสนองการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
4. ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจแบบกลุ่ม GDSS : Group Decision Support System เป็นระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยน กระตุ้น ระดมความคิดและแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่ม มักใช้ในการประชุมทางไกล (Teleconference) การลงคะแนนเสียง และการสอบถามความคิดเห็น
5. ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ GIS : Geographic Information System เป็นระบบสารสนเทศที่ทำการจัดเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ แล้วนำมาจัดแสดงในรูปของแผนที่ดิจิทัลซึ่งระบุที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ปัจจุบันมีการนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในหลายด้าน เช่น พิจารณาการกระจายตัวของประชาชนหรือทรัพยากรตามภูมิศาสตร์ การตรวจสอบเส้นทางการขนส่งสินค้า และการแก้ปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
6. ระบบสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง EIS : Executive Information System เป็นระบบสารสนเทศที่ช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์ปัญหา ศึกษาแนวโน้มในเรื่องที่สนใจ ส่วนใหญ่จะนำเสนอในรูปแบบรายงาน ตาราง กราฟ เพื่อสรุปสารสนเทศให้ผู้บริหารเข้าใจง่าย และประหยัดเวลา ข้อมูลที่ใช้มาทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตัวอย่างเช่น กราฟแสดงสภาวะทางเศรษฐกิจและกราฟเปรียบเทียบยอดขายกับบริษัทคู่แข่ง เป็นต้น
7. ปัญญาประดิษฐ์ AI : Artifecial Intelligence คือ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้มีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการเรียนรู้และความสามารถทางประสาทสัมผัส ซึ่งเลียนแบบการเรียนรู้และการตัดสินใจของมนุษย์ ปัญญาประดิษฐ์มีหลายสาขาวิชา เช่น การประมวลภาษาธรรมชาติ ศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ ระบบการเรียนรู้ เครือข่ายเส้นประสาท และระบบผู้เชี่ยวชาญ (ES : Expert System) ซึ่งเป็นระบบที่รวบรวมและจัดเก็บความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยในการหาข้อสรุปและคำแนะนำให้กับผู้ใช้
ตัวอย่างระบบผู้เชี่ยวชาญ การรักษาโรคของแพทย์ การแนะนำการผลิตสินค้าแก่โรงงานอุตสาหกรรม การอนุมัติบัตรเครดิต
8. ระบบสารสนเทศสำนักงาน OIS : Office Information Systems หรือ Office Automation System เป็นระบบที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหาร เช่น การจัดทำเอกสาร รายงาน จดหมายธุรกิจ การส่งข้อความ การบันทึกตารางนัดหมาย การค้นหาข้อมูลจากเว็บเพจ และการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
สาระน่ารู้ การนำข้อมูลมาประมวลผลให้ได้สารสนเทศ เรียกว่า การประมวลผลสารสนเทศ การนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาประมวลผลสารสนเทศเรียกว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ
งาน ให้นักเรียนยกตัวอย่างระบบสารสนเทศที่ใช้งานในปัจจุบันแต่ละประเภทตามความเข้าใจ