หน่วยที่ 1 เทคโนโลยีสารสนเทศ
ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ Information Technology หรือ IT คือ การประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในระบบสารสนเทศ ตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บ ประมวลผล และการเผยแพร่สารสนเทศ เพื่อช่วยให้ได้สารสนเทศที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ โดยเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจประกอบด้วย 1. เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ รวมทั้งซอฟท์แวร์ทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในงานเฉพาะด้าน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จัดเป็นเครื่องมือทันสมัย และใช้เทคโนโลยีระดับสูง (High Technology) 2. กระบวนการในการนำอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ข้างต้นมาใช้งาน เพื่อรวบรวม จัดเก็บ ประมวลผล และแสดงผลลัพธ์เป็นสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เช่น การจัดเก็บข้อมูลในลักษณะของฐานข้อมูล เป็นต้น
หลักการและวิธีการของเทคโนโลยีสารสนเทศ การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ระบบ นักเรียนอาจเห็นว่าในการสอบแข่งขันที่มีผู้สอบจำนวนมาก มีการใช้ดินสอระบายตามช่องที่เลือกตอบ เพื่อให้เครื่องอ่านเก็บรวบรวมข้อมูลได้ เมื่อไปซื้อสินค้าก็มีการใช้รหัสแท่ง (bar code) เพื่ออ่านข้อมูลการซื้อสินค้าที่บรรจุในรหัสแท่ง การใช้รหัสแท่งเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผล ข้อมูลที่เก็บมาได้มักจะเก็บในสื่อต่าง ๆ เช่น แผ่นบันทึก แผ่นซีดี หรือเทป เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลตามต้องการ การแสดงผลลัพธ์ อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงผลลัพธ์มีมาก สามารถแสดงเป็นตัวหนังสือ รูปภาพ ตลอดจนพิมพ์ออกมาที่กระดาษ การแสดงผลลัพธ์มีทั้งที่แสดงเป็นภาพ เป็นเสียง เป็นวิดิทัศน์ เป็นต้น การทำสำเนา เมื่อมีข้อมูลที่จัดเก็บในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ การทำสำเนาจะทำได้ง่าย และทำได้เป็นจำนวนมาก อุปกรณ์ช่วยในการทำสำเนา จัดได้เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การสื่อสารโทรคมนาคม เป็นวิธีที่จะส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือกระจายออกไปยังปลายทางครั้งละมากๆ ปัจจุบันมีอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมหลายประเภท ตั้งแต่โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร วิทยุ โทรทัศน์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีการกระจายทางสาย เช่น โทรศัพท์ เส้นใยนำแสง เคเบิลใต้น้ำ คลื่นวิทยุ ดาวเทียม เป็นต้น
การดูแลรักษาสารสนเทศเพื่อการใช้งาน ประกอบด้วย 1) การเก็บรักษาข้อมูล การเก็บรักษาข้อมูล หมายถึง การนำข้อมูลมาบันทึกเก็บไว้ในสื่อบันทึกต่าง ๆ เช่น แผ่นบันทึกข้อมูล นอกจากนี้ยังรวมถึงการดูแล และทำสำเนาข้อมูลเพื่อให้ใช้งานต่อไปในอนาคตได้ 2) การค้นหาข้อมูล ข้อมูลที่จัดเก็บไว้มีจุดประสงค์ที่จะเรียกใช้งานได้ต่อไป การค้นหาข้อมูลจะต้องค้นได้ถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว จึงมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนช่วยในการทำงาน ทำให้การเรียกค้นกระทำได้ทันเวลา 3) การทำสำเนาข้อมูล การทำสำเนาเพื่อที่จะนำข้อมูลเก็บรักษาไว้ หรือนำไปแจกจ่ายในภายหลัง จึงควรจัดเก็บข้อมูลให้ง่ายต่อการทำสำเนา หรือนำไปใช้อีกครั้งได้โดยง่าย 4) การสื่อสาร ข้อมูลต้องกระจายหรือส่งต่อไปยังผู้ใช้งานที่ห่างไกลได้ง่าย การสื่อสารข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีบทบาทที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้การส่งข่าวสารไปยังผู้ใช้ทำได้รวดเร็วและทันเวลา
การรักษาความปลอดภัยในการพัฒนาระบบสารสนเทศ ๑.ในการพัฒนาระบบสารสนเทศ จะต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ในการรักษาความปลอดภัย ต่องานที่กำลังพัฒนา ๒. เมื่อพัฒนาระบบสารสนเทศแล้ว จะต้องจัดให้มีการทดสอบระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยทดสอบในระบบที่แยกต่างหากจากระบบที่มีอยู่เดิมจนกว่าจะเกิด ความมั่นใจในการใช้งาน จึงนำมาใช้งานจริงร่วมกัน หรือทดแทนระบบที่มีอยู่เดิม ๓. บุคคลภายนอกที่เข้ามาพัฒนาระบบสารสนเทศ ให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๑๗ และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยเคร่งครัด