มาตรฐานสากลของระบบคุ้มครองเงินฝาก การคุ้มครองเงินฝากเป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินโดยเฉพาะผู้ฝากรายย่อยซึ่งอาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเงินได้อย่างเพียงพอ ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองประสบปัญหาและถูกปิดกิจการ ระบบคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่จ่ายคืนเงินผู้ฝากภายในวงเงินและระยะเวลาที่กำหนด ช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงิน ซึ่งนำไปสู่การเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก Deposit Protection Agency: DPA บทบาท สถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2551 ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินโดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารทางการเงินได้อย่างเพียงพอ ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างรวดเร็วภายใต้วงเงินและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินฝากที่มีจำนวนเกินวงเงินจ่ายคืนดังกล่าว จะได้รับคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ
หน้าที่หลักของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน โดยจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากโดยเร็วเมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อสะสมไว้เป็นกองทุนคุ้มครองเงินฝาก สำหรับใช้ในการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามวงเงินและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินใดถูกปิด ชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิด และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชี จ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากในกรณีที่มีเงินฝากเกินวงเงินที่กำหนด
ประโยชน์ของการมีระบบคุ้มครองเงินฝาก ประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน : เงินฝากในสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ระบบนี้ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฯ โดยอัตโนมัติ ผู้ฝากไม่ต้องกังวล หรือ ดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก เมื่อสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง จะส่งเสริมให้ผู้ฝากเงินติดตามข่าวสารหาข้อมูลทางการเงินมากขึ้น ประโยชน์ต่อระบบการเงิน : สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มีการแข่งเสรีตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินมีความเหมาะสม ประโยชน์ต่อภาครัฐ : ภาครัฐไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝาก
วงเงินคุ้มครอง วงเงินคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 เป็นดังนี้ ระยะเวลาที่สถาบันการเงินปิดกิจการ 11 สิงหาคม 2555 - 10 สิงหาคม 2558 ไม่เกิน 50 ล้านบาท 11 สิงหาคม 2558 - 10 สิงหาคม 2559 ไม่เกิน 25 ล้านบาท 11 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปไม่เกิน 1 ล้านบาท ผู้ฝากที่มีเงินฝากจำนวนเกินวงเงินจ่ายคืนดังกล่าว จะได้รับเงินคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ
เงินฝากที่คุ้มครอง สถาบันให้ความคุ้มครองเงินฝากสกุลเงินบาทของบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ดังนี้ บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สะสมทรัพย์ เผื่อเรียก หรือบัญชีเงินฝากในทำนองเดียวกันที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม บัญชีเงินฝากจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน และบัญชีเงินฝากที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นที่สถาบันการเงินรับฝากจากประชาชนหรือบุคคลใดโดยมีความผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนแก่ผู้ฝาก ทั้งนี้ ไม่รวมเงินฝากในบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง และเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน
สถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครอง ธพ.จดทะเบียนในประเทศไทย 16 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 15 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง
เงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก เงินที่สถาบันนำมาใช้จ่ายคืนผู้ฝากเงินนั้น เป็นเงินที่สถาบันการเงินสมาชิกนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าอัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองตามช่วงเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ปัจจุบันกำหนดอัตราเงินนำส่งไว้ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ทั้งนี้ หลังจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว สถาบันจะได้รับชำระคืนสำหรับเงินที่จ่ายคืนผู้ฝากไปแล้ว ซึ่งจะส่งคืนเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก