10 วิธี ดูแลลูกยุคไซเบอร์ โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เอื้อเฟื้อข้อมูล น.พ. บัณฑิต ศรไพศาล สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
1. สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็ก ให้ลูกหลานเล่นเกมได้ วันละไม่เกิน 1-2 ช.ม. และ ลูกต้องทำการบ้านหรือหน้าที่ของตนเองให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเล่นเกม
2. ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำกัดจำนวนเครื่อง เล่นเกมหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านให้มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนคนเล่น จัดวางเครื่องเล่นดังกล่าวในห้องรวมของครอบครัวแทนห้องนอนส่วน ตัวของลูก
3. ใช้มาตรการทางการเงินช่วย ไม่ให้เงินลูกมากจนลูก มีเงินเหลือไปซื้อเกมมากเกินไป ให้ลูกรับรู้ค่าใช้จ่ายของครอบครัว เช่น ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเล่นเน็ตหรือเล่นเกมที่บ้าน อาจให้ลูกช่วยแชร์ค่า ใช้จ่ายในส่วนของเขา
4. ฟังและพูดดีต่อกัน ฟังลูกพูดให้จบ ให้เกียรติลูก ไม่ตำหนิรุนแรง หรือเสียดสี ใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ฟังอยากฟัง/ชื่นใจที่ได้รับฟัง น้อมรับข้อแนะนำไปปฏิบัติโดยไม่รังเกียจ ใช้ภาษาเดียวกับลูก เช่น ภาษาในเกม ภาษาแฟชั่นตามวัยของเขา
5. จับถูกมากกว่าจับผิด หาข้อดีของลูกแม้เล็กน้อยก็ตาม คอยพูดชื่นชมและให้กำลังใจ มากกว่าจะขยันหาข้อผิด/ข้อด้อย และดุด่าซ้ำเติม
6. ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม บังคับใช้อย่างเข็มแข็งแต่ อ่อนโยน เช่น ลูกอยากเล่นเกม 3 ช.ม. พ่อแม่ต้องการแค่ 1 ช.ม. ก็พบกันที่ 2 ช.ม. แบบนี้ลูกจะยอมรับมากกว่า และพ่อแม่ ต้องอย่าใจอ่อน ให้ลูกปฏิบัติ ตามข้อตกลงโดยไม่มีการ ยืดหยุ่นหรือยกเว้น
7. มีทางออกเชิงสร้างสรรค์อื่นๆ ให้เด็ก เพื่อให้เด็กค้นพบทางออกหรือความถนัดของตัวเองที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้รับความภูมิใจ เช่น กีฬา ดนตรี วรรณกรรม สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ
8. สร้างรอยยิ้มเล็กๆในครอบครัว พูดเรื่องตลกหรือเรื่องที่ทุกคนในบ้านฟังแล้วสบายใจ มอบของขวัญในโอกาสพิเศษ กล่าวชื่นชมกันด้วยความจริงใจ
9. ควบคุมอารมณ์และสร้างความสุขเล็กๆ ในใจของพ่อแม่เอง พ่อแม่ต้องมีความอดทนในการเลี้ยงดูลูก ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ให้โกรธหรือเสียใจมากเกินไปหากลูกไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง การปรับปรุงลูกต้องใช้เวลา และพ่อแม่ก็ต้องสร้างพลังในตัวเองด้วยการมองเห็นคุณค่าในตัวเองและคุณค่าในตัวของลูก
10. เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา...ทันที เปลี่ยนแปลงปัจจัยลบในบ้าน ลด ละ เลิก บุหรี่ ลดความเจ้าชู้ ลดการทะเลาะเบาะแว้ง เพิ่มปัจจัยบวก เช่น ให้เวลาทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน เปลี่ยนตัวเองให้ลูกเห็นตัวอย่างว่าลูกก็ทำได้เช่นกัน