ชื่อเรื่อง ผลการใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียนวิชางานวัดละเอียดช่างยนต์ของนักศึกษาชั้น ปวช.2 สาขางานยานยนต์ โรงเรียนโปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่
วัตถุประสงค์ในการวิจัย 1.เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปฏิบัติก่อนและหลังเรียนโดยใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.2) ห้องช่างยนต์ 2104 - 2106 สาขางานยานยนต์ โรงเรียนโปลิเทคนิคลานนาเชียงใหม่
กรอบแนวคิดงานวิจัย สมมุติฐาน ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชางานวัดละเอียดช่างยนต์ของนักศึกษาหลังเรียนโดยใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือสูงกว่าก่อนเรียน
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากร ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักศึกษาระดับ ปวช.2 ห้องช่างยนต์ 2104 - 2106 สาขางานยานยนต์ โรงเรียนโปลิเทคนิคลานนาเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักศึกษาระดับ ปวช.2 สาขางานยานยนต์โรงเรียนโปลิเทคนิคลานนาเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2553 ภาคเรียนที่ 2 จำนวน 84 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีสุ่มแบบกลุ่ม
ลักษณะของเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ได้แก่ 1. แผนจัดการเรียนรู้ ใช้หลักการของเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ จำนวน 1 แผน 12 หน่วยการเรียน คาบละ 2 ชั่วโมง 2. แบบทดสอบวัดพื้นฐานงานวัดละเอียดช่างยนต์ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังระดับชั้น ปวช.ปีที่ 2 สาขางานยานยนต์ แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 16 ข้อ แบบอัตนัย 1 ข้อ รวม 20 คะแนน
สรุปผลการศึกษา ผลของการใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือของนักศึกษาระดับ ปวช. 2 พบว่า นักศึกษาที่เรียนโดยใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชางานวัดละเอียดสูงขึ้น โดยมีคะแนนที่ได้จากการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าคะแนนที่ได้จากการทดสอบก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ แสดงว่าการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือช่วยพัฒนาการเรียนวิชางานวัดละเอียดสูงขึ้น
ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการทดลองสอนโดยใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือแล้วเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชางานวัดละเอียดก่อนและหลังเรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เนื่องจาก การที่นักศึกษาที่มีระดับความสามารถต่ำ ปานกลาง และสูงคละกันมาร่วมมือกันทำกิจกรรมในชั้นเรียนของนักศึกษา ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นร่วมกัน จึงทำให้ประสบความสำเร็จได้เท่าเทียมกัน เพราะช่วยกันศึกษาหาความรู้ คอยให้กำลังใจกัน นักศึกษาที่เก่งจะช่วยอธิบายให้เพื่อนที่อ่อนกว่า สมาชิกทุกคนจึงมีความเชื่อมั่นในตนเอง ส่งผลให้นักศึกษามีความสามารถในการเรียนสูงขึ้น
ข้อเสนอแนะการวิจัย 1.1 ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การเรียนการสอนด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชางานวัดละเอียดหลังการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ดังนั้นครูผู้สอนควรนำเทคนิคการเรียนแบบกลุ่มร่วมมือไปใช้ในการเรียนการสอนเพื่อช่วยพัฒนาทักษะในการเรียน 1.2 ก่อนนำเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน ครูผู้สอนควรเตรียมความพร้อมในด้านการทำงานด้วยกระบวนการกลุ่มให้แก่นักศึกษา เช่นใบงาน เครื่องมือวัดละเอียด ชิ้นส่วนที่ทำการวัด ค่ามาตรฐานเพื่อทำการเปรียบเทียบ และคู่มือซ่อมเครื่องยนต์แต่ละรุ่นที่ใช้ในการวัดเพื่อให้การทำกิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่องตลอดการเรียน