ทัศนะศึกษา วัดอรุณราชวราราม
ชื่อสมาชิกกลุ่ม น.ส.ธัญชนก ดังก้อง ม.4/4 เลขที่ 16 นาย กัญจน์ ชาติสุวรรณ์ ม.4/4 เลขที่ 29 น.ส.ชนัญชิดา ปิ่นประดับ ม.4/4 เลขที่ 33 น.ส.ชมลวรรณ จิราษฎร์ ม.4/4 เลขที่ 34
ประวัติ วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี มีชื่อเรียกเดิมว่า วัดมะกอก สมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดแจ้ง สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดมะกอกมาเป็นวัดแจ้งก็เพราะว่า เมื่อสมัยที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ปราบศัตรูที่อยุธยาและคนไทยมีอิสรภาพขึ้นดังเดิมแล้ว แต่ไม่สามารถจะตั้งอาศัยอยู่ ณ ราชธานีเดิม คือกรุงเก่าต่อมาได้ จึงพากันล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหาที่ตั้งราชธานีใหม่ พอลงมาถึงหน้าวัดมะกอกนี้ ก็พอดีรุ่งแจ้ง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้ยับยั้งกระบวนผู้คน ให้เทียบเรือพระที่นั่งเข้ากับท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการบูชา พระมหาธาตุ คือพระพุทธปรางค์องค์เดิม ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำข้างหน้าวัด ต่อมาได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็นวัดแจ้งเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จมาประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมข้างใต้วัดแจ้ง
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อ โปรดให้สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารต่อจากที่เริ่มสร้างไว้แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่พระอุโบสถโปรดให้สร้างพระระเบียงล้อมรอบ การสร้างพระอุโบสถและพระวิหารเสร็จแล้ว ยังโปรดให้ บูรณะพระอุโบสถและพระวิหารเก่าหน้าพระปรางค์หน้าวัด กับสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง การปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ สำเร็จเรียบร้อย ก็มีการฉลองและพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม ต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะสถาปนาพระมหาธาตุหรือพระพุทธปรางค์ข้างหน้าวัด ขึ้นใหม่ให้เป็นที่งามสง่า พระปรางค์เดิมสูงเพียง ๘ วา ทรงพระราชดำริว่าควรจะเสริมสร้างให้ใหญ่สูงเป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร จึงโปรดให้กำหนดการลงมือขุดคลองรากทำเป็นฐาน แต่การยังไม่สำเร็จก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๒ เสียก่อน
รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบมาจนเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ทรงพระราชดำริถึงพระมหาธาตุที่วัดอรุณฯ ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระราชดำริไว้และค้างอยู่นั้น ควรจะดำเนินการให้สำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงได้ทรงคิดแบบอย่างแล้วโปรดให้ลงมือสร้าง พระพุทธปรางค์ เป็นพระมหาเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว ฐานวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๑๗ วาในรัชกาลนี้ ยังโปรดให้สร้างพระมณฑป ขึ้นระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง กับสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ ๑๒ ขึ้น ๔ องค์ ในบริเวณด้านใต้
ความสำคัญต่อชุมชน ความสำคัญของวัดอรุณราชวราราม เมื่อสมัยกรุงธนบุรีอีกเรื่อง คือ วัดอรุณราชวราราม เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกตอยู่นานถึง ๕ ปี โดยเมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๒ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตีได้เมืองเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์ คือ พระแก้ว มรกต กับพระบางลงมาด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นไปรับล่วงหน้าพาล่วงลงมาตามลำแม่น้ำ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับถึง บางธรณี โปรดให้แห่ลงมา ณ กรุงธนบุรี ให้มีมหรสพสมโภชมาใน
กระบวนเรือระหว่างทาง เมื่อถึงวัดแจ้งโปรดให้ อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นที่สะพานป้อมต้นโพธิ์ ปากคลองนครบาล แล้วให้พักไว้ ณ โรงชั่วคราว โปรดให้มีมหรสพสมโภชโดยสังเขป ครั้นจัดการสร้างพระมณฑปขึ้นสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเสร็จแล้ว จึงเมื่อวันวิสาขปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๖ ปีชวด โทศก พ.ศ. ๒๓๒๓ โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานไว้ในพระมณฑป ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารเก่า มีการสมโภชใหญ่ ๗ วัน ๗ คืนพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ เป็นเวลาประมาณ ๕ ปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เสด็จมาสร้างพระมหานคร ณ ฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สร้างพระบรมมหาราชวัง แล้วโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง