การพูดโต้วาที เป็นการพูดแบบชักจูง และเป็นการอภิปรายที่จะต้องมีการโต้แย้งกันด้วยเหตุผล เพื่อตัดสินว่าจะยอมรับญัตตินั้นหรือไม่
หลักการของการโต้วาที เป็นการพูดที่มีฝ่ายเสนอความคิดเห็นฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวค้านความคิดเห็น ทั้งสองฝ่ายจะใช้วาทศิลปะกล่าวค้านความคิดเห็นของกันและกันอย่างมีระเบียบ โดยใช้เหตุผลข้อเท็จจริงและหลักวิชา ให้เห็นว่าความคิดเห็นของตนนั้นถูกต้อง ทั้งสองฝ่ายจะกล่าวค้านเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ และในการเสนอข้อคิดเห็นของตนนั้น ต้องเสนอให้ตรงตามประเด็นญัตติ
ส่วนประกอบของการโต้วาที
ญัตติ คือ การเสนอความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องเดียวกัน ควรเป็นญัตติที่มีความหมาย มีประโยชน์ และเป็นข้อเสนอที่ฝ่ายค้านสามารถจะค้านได้ด้วยเหตุผล ควรเป็นญัตติที่ให้ความรู้และเพิ่มพูนปัญญาแก่ผู้ฟัง ควรเป็นเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจ (ทันเหตุการณ์) ควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายหรือคุณค่า หรือเกี่ยวกับหลักวิชาต่างๆ ควรเป็นเรื่องข้อเท็จจริงและไม่เป็นภัยต่อสังคม หลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง ความเชื่อ และศาสนา
ผู้โต้วาที ผู้ดำเนินการโต้วาที จะเป็นผู้ทำหน้าที่กล่าวนำ และพูดแนะนำผู้โต้ทั้งสองฝ่ายว่าเป็นใคร และชี้แจงญัตติที่จะโต้กัน หัวหน้าฝ่ายเสนอ จะต้องเป็นผู้พูดก่อน เพราะถือว่าเป็นผู้ออกความเห็นจะต้องเป็นผู้เสนอญัตติ หัวหน้าฝ่ายค้าน จะต้องพูดต่อจากหัวหน้าฝ่ายเสนอ การพูดนั้นจะเป็นการโต้แย้งโดยใช้ระยะเวลานานเท่ากันกับหัวหน้าฝ่ายเสนอ ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ ผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน
หน้าที่ของผู้โต้วาที จะต้องเตรียมหาความรู้ ข้อเท็จจริงไว้ให้พร้อม เพราะผู้โต้วาทีจะต้องเป็นผู้ทรงความรู้ และความรู้ในญัตติดี จะต้องรู้จักพูดโน้มน้าวใจผู้ฟังคล้อยตาม คือ มีศิลปะในการพูด และจะต้องมีเป็นผู้มีเหตุผล จะต้องรู้ และมีมารยาทในการพูด ไม่พูดเสียดสี กระทบกระทั่งผู้อื่น หรือเอาเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นขึ้นมาพูด จะต้องรู้จักรับผิดชอบในวัฒนธรรม และภาษาไทย หลีกเลี่ยงการใช้คำพูด และภาษาที่ไม่สุภาพในการโต้วาที ควรคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ฟัง ไม่ควรพูดเล่นคารมมากเกินไป ควรพูดให้มีสาระเพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟัง