Virtual Library ห้องสมุดเสมือน
02 ห้องสมุดเสมือน หรือ Virtual Library ได้มีผู้ศึกษาและนิยามความหมายของคำไว้ดังนี้ สมร ตาระพันธ์ (2543, 20-21) ได้ให้ความหมายว่า ห้องสมุดเสมือน หรือ Virtual Library หมายถึง ห้องสมุดที่เกิดจากการรวมตัวของเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆเครื่องที่ติดต่อกันบนระบบเครือข่ายและใช้โปรแกรมที่มีประสิทธิภาพในการจัดการ โดยเน้นให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพียงนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับแหล่งสารสนเทศต่างๆ ไม่ว่าสารสนเทศนั้นจะอยู่ที่ใด โดยห้องสมุดจะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้ และทำหน้าที่กระจายสารสนเทศโดยเน้นการเข้าถึงมากกว่าการเป็นเจ้าของ หนังสือที่อยู่ในห้องสมุดเสมือนจะอยู่ในรูปของอิมเมจ (Image) ซึ่งอาจเกิดจากการสแกนหน้าหนังสือ วารสาร เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์
02 Reid (วาสนา อภิญญาวงศ์ 2538, 26 อ้างจาก Reid 1995, 213) ให้ความหมายของคำ Virtual Library ไว้ว่าเป็นแหล่งจัดการทำสารสนเทศมาอยู่รวมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าสารนิเทศนั้นจะอยู่ในห้องสมุดแบบสมัยก่อน ๆ ที่เป็นเพียงสถานที่จัดเก็บหนังสือหรือเป็นห้องสมุดสมัยใหม่ที่มีการใช้ระบบการสื่อสารทางไกลและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เข้าถึงสารสนเทศได้อย่างรวดเร็วก็ตาม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ผู้ใช้สามารถค้นหาสารสนเทศเองได้ นอกจากนั้นยังมีการดึงสารสนเทศจากห้องสมุดที่ผู้ใช้กำลังศึกษาอยู่หรือจากแหล่งสารนิเทศภายนอกมาบรรจุให้ผู้ใช้ได้เข้าถึงสารสนเทศได้ครบถ้วนและง่าย Saunders (วาสนา อภิญญาวงศ์ 2538, 26 อ้างจาก Saunders 1995, 66) นิยามว่า Virtual Library นั้นเป็นแนวคิดหรือมโนภาพในการเข้าถึงสารนิเทศ การให้บริการของห้องสมุดต่าง ๆ หรือแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลสามารถดึงมาเชื่อมโยงกับแหล่งสารสนเทศที่ผู้ใช้กำลังเข้าใช้บริการ ซึ่งมีทั้งสารสนเทศที่อยู่ในรูปสิ่งพิมพ์หรือในรูปอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม ด้วยการใช้ข่ายงานอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวกำหนดในการเข้าถึง จุดสำคัญอยู่ที่ผู้ใช้ต้องประเมินได้ว่า ห้องสมุดมีส่วนเชื่อมโยงในการนำเอาทรัพยากรสารสนเทศจากห้องสมุดหลาย ๆ แห่งทั้งใกล้และไกลให้มาทำงานร่วมกัน และมีการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด
02 ห้องสมุดเสมือนจึงเป็นที่รวมแหล่งสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการจัดการอย่างมีระบบและให้บริการค้นคืนสารสนเทศแบบออนไลน์ในระบบเครือข่าย โดยที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงระยะไกลมายังห้องสมุดเพื่อสืบค้นและใช้สารสนเทศของห้องสมุดหรือเชื่อมโยงกับแหล่งสารสนเทศอื่นได้ทุกที่ในระบบเครือข่าย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อ้างอิงจาก http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~spoungpa/book2.html