พัฒนาการของการวัดและประเมินผลการศึกษา ประเทศจีนสมัยโบราณมีการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งข้าราชการและขุนนางระดับต่างๆ นักปราชญ์กรีกโบราณ เช่น โซกราตีส (Socrates) มีการทดสอบความรู้ของนักเรียนโดยการสอบปากเปล่า ในเมืองไทยสมัยก่อนการเรียนการสอนจะเป็นการเรียนกับครูตัวต่อต่อ มีการสอบปากเปล่าและภาคปฏิบัติทีละคน เพื่อวัดและประเมินผลการเรียนว่าใครควรจะสำเร็จการศึกษา
จุดเริ่มต้นของการวัดผลด้านจิตวิทยา เนื้อหาวิชาสาขาจิตวิทยาเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ประมาณ พ.ศ. 2393 นั้นมีส่วนที่จัดว่าเป็นปรัชญามากกว่าทางด้านวิทยาศาสตร์เช่นปัจจุบัน การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์นั้น เรียกว่า วิชา ปรัชญาจริยธรรม (Moral Philosophy) ส่วนใหญ่จะเรียนเกี่ยวกับ จิต (mind) และวิญญาณ (soul) การเรียนวิชาจิตวิทยาในยุคนั้นไม่มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตั้งทฤษฎีทางจิตวิทยาเลย ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า คนเราสามารถวัดผลเกี่ยวกับ ความจำ การลืม สติปัญญาและความเร็วของปฏิกริยาตอบสนองของมนุษย์นั้นถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และไม่ได้รับความสนใจเลย
ต่อมานักฟิสิกส์และนักสรีรวิทยาได้ร่วมกันทำการทดลองเกี่ยวกับการวัดความสามารถในการจำแนกแยกแยะของประสาทสัมผัสและความเร็วของปฏิกริยาตอบสนองของมนุษย์ในหลายๆ แหล่ง ผลจากการค้นคว้าทดลองดังกล่าวแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นให้นักวิชาการในสาขาวิชาจิตวิทยาได้สนใจการวัดผลทางด้านจิตวิทยาของมนุษย์ และได้ตระหนักถึงอิทธิพลของวิชาชีววิทยาและวิชากายวิภาคที่มีต่อสาขาวิชาของตนมากขึ้น
ประมาณ พ.ศ. 2443 นักจิตวิทยาได้พยายามผลักดันให้วิชาจิตวิทยาเป็น แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ โดยได้แยกตัวออกจากสาขาปรัชญา และมีความเกี่ยวพันกับสาขาวิชาชีววิทยามากขึ้น โดยได้เริ่มมีการทำการทดลอง มีการวัดผลสิ่งที่ทำการทดลอง เช่น การวัดพฤติกรรมของมนุษย์ ในช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่นักจิตวิทยาได้เริ่มพัฒนาเทคนิคการวัดผลชนิดต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการทดลองทางด้านจิตวิทยา
จุดเริ่มต้นของจิตวิทยาการทดลอง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ได้เริ่มมีการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการทดลองทางจิตวิทยา วิชาสรีรวิทยาเชิงการทดลองได้เป็นจุดสนใจในการทำวิจัยของนักวิจัยในห้องทดลองของประเทศเยอรมันและประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป นักสรีรวิทยาเชิงทดลองในช่วงแรกนั้นสนใจการทำงานของประสาทสัมผัสในร่างกายของมนุษย์ เช่น ประสาทสัมผัสทางตา ประสาทสัมผัสทางหู ประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ และความเร็วของการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ในปี พ.ศ. 2422 เมื่อเริ่มมีห้องปฏิบัติการครั้งแรกที่เมือง Leipzig ในประเทศเยอรมัน โดย Wilhelm Wudnt เป็นผู้จัดตั้งขึ้นนั้น นักจิตวิทยาการทดลองในระยะแรกๆ ส่วนมากจะมุ่งทำการทดลองเกี่ยวกับทางด้านสรีรวิทยา เช่น การวัดประสาทสัมผัสทางตา ทางหู ความเร็วของปฏิกริยาตอบสนอง ต่อมาการทดลองได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวกับทางด้านจิตวิทยาโดยเฉพาะ เช่น การวัดการับรู้ ความเร็วในการเรียนรู้ การวัดความสามารถทางสมอง
นับตั้งแต่นั้นมามีการริเริ่มและวิธีการใหม่ๆ ในการทดลองและวิจัย เช่น การคิดสร้างรูปแบบของการวิจัยเชิงทดลอง พัฒนาวิธีการวัดผลและประเมินผลให้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงและพัฒนาวิธีการทางด้านสถิติ เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการวัดผลและแปลผลการทดลองต่างๆ
การศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคลในยุคแรก ในปี พ.ศ. 2402 Charles Darwin ได้เขียนหนังสือชื่อ Origin of Spicies จุดประสงค์ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ ต้องการชี้ให้เห็นความแตกต่างและความแปรผันของลักษณะสิ่งมีชีวิตในแต่ละ species ผลงานของ Darwin ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาการวัดผลทางด้านจิตวิทยา กล่าวคือ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ Sir Francis Galton ได้นำความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาตามหลักการของ Darwin (Darwinian Biology) มาประยุกต์เข้ากับเรื่องราวของมนุษย์
Galton พยายามศึกษาหาความแตกต่างระหว่างบุคคล และค้นคว้าเกี่ยวกับลักษณะนิสัยที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เขาได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะของมนุษย์ทั้งทางด้านกายภาพและด้านจิตวิทยา แล้วใช้วิธีการทางสถิติวิเคราะห์ข้อมูลโดยมี Karl Pearson ได้คิดค้นพัฒนาวิธีการทางสถิติ คือ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Pearson Product Moment Correlation) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบความแตกต่างระหว่างบุคคล
การศึกษาเกี่ยวกับบุคคลที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ปกติ ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษสนใจเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้น นักจิตวิทยาก็เริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับบุคคลที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ปกติ ในยุคก่อนนั้น คนที่เป็นโรคประสาทหรือคนที่เป็นโรคจิตจะถูกคุมขังและลงโทษในข้อหาที่ว่าเป็นแม่มดหรือหมอผี ต่อมาได้มีการศึกษาและวิจัยเพื่อที่จะทำความเข้าใจสภาพของคนปัญญาอ่อน คนที่จิตไม่สมประกอบ เพื่อที่จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่และชีวิตของคนเหล่านี้ให้ดีขึ้น
ประเทศฝรั่งเศสเป็นแหล่งที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากที่สุด การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องบุคคลที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ปรกตินี้เองทำให้ Alfred Binet นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสและผู้ร่วมงานได้เริ่มสร้างแบบทดสอบวัดสติปัญญา (Intelligence Test) ขึ้นมาเพื่อใช้วัดพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่สมประกอบ เช่น ทางด้านปฏิกริยาตอบสนอง ความสามารถทางสมอง เพื่อที่จะลงสรุปเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคลเหล่านั้นว่าเหตุใดเขาจึงไม่สามารถที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนธรรมดากับเพื่อนๆ ได้ การศึกษาวิจัยของ Binet นี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา
การสร้างเสริมวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา นักจิตวิทยาในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เริ่มมีความสนใจและสร้างแบบทดสอบวัดสติปัญญาขึ้นมาเช่นกัน James McKeen Cattell นักจิตวิทยาชาวอเมริกันแต่ได้ไปศึกษาวิชาจิตวิทยาระดับบัณฑิตศึกษากับ Wilhelm Wudnt ที่ประเทศเยอรมัน เป็นบุคคลที่มีความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ จิตวิทยาเชิงทดลอง และนอกจากนี้ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับผลงานของ Francis Galton เรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลและวิธีการทางสถิติเป็นอย่างดี ได้เริ่มสร้างแบบทดสอบเพื่อวัดเกี่ยวกับประสาทสัมผัส และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของบุคคล และนอกจากนี้เขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ในการเรียนและงานภาคปฏิบัติของนักเรียนอีกด้วย
บุคคลที่ได้ช่วยสร้างเสริมเกี่ยวกับวิชาการวัดผลและประเมินผลการศึกษาอีกผู้หนึ่งคือลูกศิษย์ของ Cattell ชื่อ E.L. Thorndike เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว Thorndike มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา แบบทดสอบมาตรฐานทางการศึกษา ผลงานของ Thorndike และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียมีส่วนทำให้การวัดผลทางการศึกษาที่เป็นปรนัยแพร่หลายในอเมริกา
ผลงานของ Alfred Binet ก็ได้รับความสนใจอย่างมากในอเมริกา ใน พ. ศ ผลงานของ Alfred Binet ก็ได้รับความสนใจอย่างมากในอเมริกา ใน พ.ศ. 2459 Lewis Terman ได้แปลแบบทดสอบสติปัญญาของ Binet เป็นภาษาอังกฤษ และได้ดัดแปลงให้เข้ากับสภาพของคนอเมริกัน โดยให้ชื่อแบบทดสอบว่า Stanford-Binet Intelligence Test
พัฒนาการเกี่ยวกับวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษาในประเทศไทย การวัดและประเมินผลการศึกษาของเมืองไทยในสมัยก่อนนั้น มักจะเป็นการสอบปากเปล่า เช่น ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการสอบพระภิกษุเป็นเปรียญ โดยให้แปลภาษาบาลี เป็นภาษาไทย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5-6 การวัดและประเมินผลการศึกษาเปลี่ยนแปลงจากการสอบปากเปล่า เป็นการสอบข้อเขียนให้นักเรียนเขียนตอบลงในกระดาษ ลักษณะข้อสอบในสมัยนั้นเป็นอัตนัย หรือแบบความเรียง
ในสมัยรัชกาลที่ 7 เริ่มมีการพัฒนาระบบการศึกษารวมทั้งการวัดและประเมินผลในประเทศไทยให้ทันสมัยอย่างจริงจัง จากหลักฐานที่ค้นพบแบบทดสอบเชาวน์ ของพระยาเมธาธิบดี โดยนายยุทธ เดชคำรณ ปรากฏว่าแบบทดสอบฉบับที่ค้นพบนี้ลักษณะข้อสอบเป็นแบบเลือกตอบ มีคำอธิบายชี้แจงวิธีตอบเช่นเดียวกับแบบทดสอบมาตรฐานในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.ชวาล แพรัตกุล ผู้ซึ่งได้ศึกษาแบบทดสอบเชาวน์ ของพระยาเมธาธิบดีอย่างละเอียด ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า แบบทดสอบฉบับนี้อาจจะเป็นแบบทดสอบประเภทปรนัยฉบับแรกของเมืองไทย และประมาณว่าสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2470-2475
สำหรับการเคลื่อนไหวในด้านการวัดผลการศึกษาของเมืองไทยนั้น จุดเริ่มต้นที่สาขาวิชานี้ได้รับความสนใจจากนักการศึกษาเริ่มขึ้นในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สำนักงาน USOM ของสหรัฐอเมริกาได้ส่งนักวิชาการมาช่วยเมืองไทยทางด้านการศึกษามีการอบรมวิธีการเขียนข้อสอบปรนัยแบบเลือกตอบ
ต่อมาในช่วงปี พ. ศ. 2500 มหาวิทยาลัยอินเดียนาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ คือ W ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2500 มหาวิทยาลัยอินเดียนาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ คือ W.H.Fox มาก่อตั้งคณะวิจัยเพื่อทำการวิจัย และสร้างแบบทสอบที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร หลังจากนั้นได้มีการส่งนักการศึกษาคนไทยไปเรียนวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่สหรัฐอเมริกา คือ ศาสตราจารย์ ดร.ชวาล แพรัตกุล
ในปี พ.ศ. 2504 หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว และนับว่าเป็นคนไทยคนแรกที่จบวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา ดร.ชวาล ได้ร่วมงานกับ ดร.มล.ตุ้ย ชุมสาย จัดตั้งสำนักงานทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยาขึ้นในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และต่อมา ในปี พ.ศ. 2508 ได้ทำการเปิดสอนวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษาในระดับปริญญาโทและประกาศนียบัตรชั้นสูงวิชาเฉพาะ เป็นแห่งแรกของเมืองไทย ในปัจจุบันสถาบันที่ทำการสอนวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษาในระดับปริญญาโทอีกแห่งหนึ่งคือ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย