พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทโท) พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทโท)
ประวัติและผลงาน พระโพธิญาณเถระ มีชื่อเดิมว่า ชา ช่วงโชติ เกิดวันศุกร์ ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 บิดาชื่อ นายมา ช่วงโชติ มารดา ชื่อ นางพิมพ์ ช่วงโชติ ณ หมู่บ้านจิกก่อ ตำบลธาตุ (ปัจจุบัน คือ ตำบลแสนสุข) อำเภอวารินชำรา จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องทั้งหมด 10 คน ครอบครัวของเด็กชายชา เป็นครอบครัวใหญ่ มีแค่ความ อบอุ่น บิดามารดาเป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เข้าวัดฟังธรรมเป็นประจำ จึงทำให้ เด็กชายชา ช่วงโชติ เป็นคนจิตใจฝักใฝ่ธรรมะ ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา รักความเป็นธรรม
พ.ศ. 2482 (อายุ 21 ปี) นายชาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดก่อใน โดยมีพระครูอินทรสารคุณเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ สุภทโท ”
ชื่อเสียงของพระอาจารย์ชาเริ่มขจรขจายออกไป โดยเฉพาะเมื่อท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านก่อ และต่อมามีญาติโยมร่วมกันสร้างเสนาสนะต่างๆอย่างเรียบง่ายให้เป็นที่พักและปฏิบัติธรรม ณ ป่าดงดิบ ชื่อ ดงหนองป่าพง
เมื่อมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้น หลวงพ่อชาจึงจัดตั้งสาขาของวัดหนองป่าพงขึ้น ที่วัดป่าอรัญวาสี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสาขาที่1 โดยมีพระเที่ยง ชิธมโม เป็นเจ้าอาวาส จากนั้นสาขาที่2และ3 และสาขาอื่นๆก็เกิดตามมา ปัจจุบันสาขาของวัดหนองป่าพงมีมากกว่า 100 สาขา
พ.ศ. 2516 หลวงพ่อชาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญชื่อ พระโพธิญาณเถระ
พ.ศ. 2518 ได้ตั้งสาขาที่14 ของวัดหนองป่าพงที่วัดป่านานาชาติ ตำบลทุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระสุเมธ ลูกศิษย์ฝรั่งรูปแรก เป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. 2519 พระอาจาย์สุเมโธ ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมโยมบิดามารดาที่เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นไม่นาน นาย ยอร์ช ชาร์ป ประธานมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อนิมนต์พระโพธิญาณเถระไปเผยแผ่พุทธธรรมในประเทศอังกฤษ
5 พฤษภาคม พ.ศ.2520 พระโพธิญาณเถระพร้อมด้วยพระอาจาย์สุเมโธและนายตง โยมอุปัฏฐาก ได้จาริกสู่ประเทศอังกฤษ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามที่ได้รับนิมนต์ ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม จึงเดินทางกลับถึงประเทศไทย
ตุลาคม พ.ศ.2520 บีบีซี. แห่งประเทศอังกฤษได้ขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่วัดหนองป่าพง เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชีวิตข้อวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐาน
พระโพธิญาณเถระได้รับนิมนต์สู่ประเทศอังกฤษเป็นครั้งที่2 และได้จัดตั้งสาขาขึ้นที่วัดป่าจิตตวิเวก นับเป็นสาขาแรกของวัดหนองป่าพงที่ตั้งขึ้นในต่างประเทศ และมีสาขาของวัดป่าเกิดขึ้นอีกหลายประเทศ เช่น อิตาลี นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
พ.ศ. 2524 พระโพธิญาณเถระได้อาพาธด้วยโรคที่เกี่ยวกับไขสันหลัง และในพ.ศ. 2535 ท่านก็ได้มรณภาพ หลังจากได้รับพระราชทานเพลิงศพแล้ว ศิษยานุศิษย์ทั้งในและต่างประเทศได้ลงมติให้สร้างเมรุเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ ณ วัดหนองป่าพง
คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง มีจิตใจฝักใฝ่ธรรมะ มีนิสัยซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา รักความยุติธรรม ไม่นิยมความรุนแรง มีความสนใจใฝ่รู้และชอบสนทนาธรรมกับผู้ที่มีความรู้ ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น มีความขยันหมั่นเพียรและอดทนในการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะในเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จนพระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร เป็นอาคารสามชั้นทรงไทยประยุกต์ มีโถงบันไดอยู่ตรงกลาง ชั้นล่างมีตู้แสดงโครงกระดูกมนุษย์อยู่สองข้าง ชั้น 2 จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด และชั้น 3 ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าจริงของหลวงปู่ชา ในท่านั่งเก้าอี้ และเครื่องอัฐบริขารของท่าน
เจดีย์ศรีโพธิญาณ เจดีย์สีทองอร่ามตั้งอยู่บนลานโล่ง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ พุทธศิลป์ลาวคือ ส่วนองค์เจดีย์เป็นบัวเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานทรงกลม ซึ่งเป็นอาคารโบสถ์ มีทางเข้าทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานรูปเหมือนและอัฐิของหลวงปู่ชาให้ผู้ศรัทธาได้สักการะ