แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดย อ.ดร.คีรีบูน จงวุฒิเวศย์
“หากท่านหยุดอยู่กับที่ เท่ากับท่านกำลังถอยหลัง” การให้คุณค่ากับมนุษย์ทุกคน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ “การศึกษา” หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่าง ต่อเนื่องตลอดชีวิต เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
การศึกษา (Education) เป็นกระบวนการสร้างสมและถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะทำงานเลือกอาชีพตามความต้องการในอนาคต
การฝึกอบรม (Training) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้บุคคลได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และ ทัศนคติที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยคาดว่าผู้ที่ผ่านการ ฝึกอบรมไปแล้ว จะสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development) เป็นกระบวนการจัดการเพื่อพัฒนาบุคคล เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อองค์การมากที่สุด ให้สามารถก้าวไปทันกับการเปลี่ยนแปลงหรือเติบโตขององค์กร โดยที่ทางองค์กรจะเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียน และจัดประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เอื้อให้บุคลากรสามารถเรียนรู้ และพัฒนาได้ตามศักยภาพของตน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ สร้างคุณภาพและความก้าวหน้าของบุคลากรเพื่อมุ่งพัฒนาความสำเร็จขององค์การ
จากความหมายของการศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่กล่าวถึง สอดคล้องกับนิยาม ซึ่ง Nadler and Nadler (1979) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Developing Human Resources ว่า
Training : Those activities which have been designed to improve human Performance on the job employee is presently doing or is being hired to do.
Education : Activities designed to improve the overall competence of the Employee in a specified direction and beyond the job now held.
Development : Deals with preparing the employee to move with the organization as it develops, changes, and grows.