การสร้างสรรค์บทละคร
“ละครที่ดีทุกเรื่อง ล้วนมาจากบทละครที่ดี” ประโยคนี้บ่งบอกถึงความสำคัญของบทละครได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เป็นเพราะบทละครถือเป็นหัวใจและเป็นจุดเริ่มต้นของงานละครทั้งหมด เป็นตัวกำหนดทิศทางของละคร ก่อนที่งานในส่วนอื่น เช่น การแสดง การกำกับการแสดง หรือการออกแบบเพื่อการแสดงจะตามมา
กระบวนการสร้างสรรค์บทละคร ความคิด โครงเรื่อง แตกฉาก บทสนทนา
ความคิด (Idea) การเขียนบทละครเริ่มต้นจากความคิดตั้งต้นที่ต้องการบอกเล่าหรือนำเสนอเรื่องราวบางอย่าง ความคิดนั้นอาจเป็นเรื่องที่น่ารู้น่าสนใจ, เป็นปัญหาหรือคำถามที่อยากกระตุ้นให้คนนึกถึง, เป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งความคิดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเนื้อหาของละครทั้งหมด โดยผู้สร้างสรรค์บทละครควรมีความชัดเจนในความคิดของตัวเอง ว่าต้องการบอกเล่าหรือนำเสนอเรื่องราวใดสู่ผู้ชม เพื่อให้การผูกเรื่องหรือการวางโครงเรื่องเป็นไปอย่างมีเอกภาพ เมื่อมีข้อสรุปที่ชัดเจน เราอาจเรียกความคิดหลักที่ต้องการนำเสนอว่า แก่นเรื่อง (Theme) ก็ได้
โครงเรื่อง (Plot) หลังจากมีความคิดตั้งต้นในการนำเสนอแล้ว ขั้นตอนต่อไปในการสร้างสรรค์บทละครก็คือ การนำความคิดนั้น มาผูกเป็นเรื่องราวที่มีลำดับเหตุการณ์ดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ หรือที่เรียกว่าการวางโครงเรื่องนั่นเอง วิธีการพัฒนาจากความคิดหรือแก่นเรื่องไปสู่โครงเรื่อง สามารถทำได้โดยการหาตัวละครและเหตุการณ์มาใส่ โดยตัวละครจะเป็นตัวเผชิญกับสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เป็นปัญหา อุปสรรคต่างๆ ตั้งแต่ต้นจบจน ตัวละครจึงเป็นเสมือนผู้นำพาผู้ชมไปสัมผัสกับเรื่องราวทั้งหมด ทั้งนี้ การสร้างเรื่องราว ตัวละคร และเหตุการณ์ต่างๆ นอกจากจะคำนึงถึงความสนุกสนาน น่าติดตามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเอกภาพที่เรื่องราวทั้งหมดจะนำไปสู่ความคิดหรือแก่นเรื่องที่ผู้สร้างสรรค์บทละครต้องการนำเสนอ
ทั้งนี้ในการวางโครงเรื่องนั้น ควรให้เรื่องดำเนินไปอย่างมีพัฒนาการทางอารมณ์ โดยมากสูตรของการวางโครงเรื่องจึงเริ่มต้นจาก นำเรื่อง แนะนำตัวละคร, ความเป็นมาของเรื่อง ปมปัญหา เกิดเหตุการณ์ที่ตัวละครต้องเผชิญหรือแก้ไขให้สำเร็จ วิกฤต เหตุการณ์หรือปัญหาขมวดถึงจุดสูงสุด จบเรื่อง บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมด
การแตกฉาก (Treatment) คำว่า Treatment หมายถึง โครงเรื่องขยาย ดังนั้น การแตกฉาก หรือ Treatment คือการขยายโครงเรื่องหรือเนื้อเรื่องที่วางไว้ออกมาในรายละเอียด และแบ่งการนำเสนอออกเป็นฉากต่างๆ ตั้งแต่ต้นไปจนจบ โดยทั่วไปแล้ว การแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นฉากต่างๆ จะพิจารณาถึงประเด็นดังต่อไปนี้ เมื่อเปลี่ยนสถานที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง เมื่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจบลงและมีการผ่านช่วงเวลา
บทสนทนา (Dialogue) เมื่อได้แตกโครงเรื่องออกเป็นฉากแต่ละฉากที่มีรายละเอียดของเหตุการณ์และประเด็นสนทนาระหว่างตัวละครแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ การนำรายละเอียดของแต่ละฉากมาเขียนเป็นบทละครซึ่งประกอบด้วยภาพการกระทำหรือบทสนทนาระหว่างตัวละครในฉากนั้นๆ หลักในการเขียนบทสนทนาก็คือประโยคสนทนาที่ใช้จะต้องมีความสำคัญกับเรื่อง ทำให้เรื่องราว หรือเหตุการณ์ในเรื่องเดินไปข้างหน้า ไม่เยิ่นเย้อ พูดซ้ำความเดิม นอกจากนี้ คำพูดที่เลือกใช้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับลักษณะนิสัยของตัวละคร เช่น เป็นคนสุภาพหรือหยาบคาย, พูดตรงๆ หรือขี้เกรงใจคนอื่น เป็นต้น
ละครสนุกได้เพราะอะไร ??? ละครเล่าเรื่องโดยผ่านตัวละครซึ่งมีความต้องการ หรือเป้าหมายอะไรบางอย่าง อาจเป็นความรัก, ความสุข, ความปลอดภัย, ตำแหน่งทางการเมือง, หน้าที่การงาน ฯลฯ สิ่งที่ทำให้ละครสนุก น่าติดตามคือปัญหาหรืออุปสรรคที่เข้ามาทำให้ตัวละครต้องต่อสู้ผ่าฟันเพื่อไปสู่สิ่งที่เขาต้องการนั่นเอง ปัญหาหรืออุปสรรคนี้ รวมเรียกว่า จุดขัดแย้ง (Conflict) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้โครงเรื่องทุกเรื่องสนุก น่าติดตาม
ความขัดแย้ง สามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ ตัวละคร vs. ตัวเขาเอง ตัวละคร vs. ตัวละครอื่น ตัวละคร vs. สังคม ตัวละคร vs. ธรรมชาติ ตัวละคร vs. อำนาจเหนือธรรมชาติ