ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการพัฒนา การปรับตัว ปรับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ที่ประกอบด้วยคนไทยและอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในคาบสมุทรมีคนมาเลย์ คนจีน และคนที่มาจากอินเดียฝ่ายใต้ แต่กลุ่มชนที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ไทยสยาม โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแหลมทอง มีทะเลกว้างใหญ่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในทะเล และบนแผ่นดิน อันล้วนเป็นเขตมรสุมใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผู้คนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรมเดินทางมาทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อมาตั้งหลักแหล่ง แสวงหาโภคทรัพย์และทำมาค้าขายเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานกว่าพันปี มีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันหลายลักษณะ ทั้งบริเวณชายทะเล ที่ราบระหว่างชายทะเลกับเทือกเขา หลังเขา และตามสายน้ำน้อยใหญ่จำนวนมากที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน ภูมิปัญญาของภาคใต้จึงมีความหลากหลาย ทั้งที่ได้พัฒนาการจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หรือคนต่างถิ่นที่พกพามาจากแหล่งอารยะธรรมต่างๆจนหลอมรวมกัน เกิดเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น ซึ่งมีอยู่ในหลายลักษณะ คือ
ภูมิปัญญาในด้านประเพณีความเชื่อ ภูมิปัญญาในด้านศิลปะการแสดง ภูมิปัญญาในด้านกีฬาการละเล่น ภูมิปัญญาในด้านอาหารการกิน ภูมิปัญญาในด้านสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน
แต่เนื่องจากประเพณีมีมากจึงขอนำมากล่าวเฉพาะที่สำคัญ ในสมัยวัฒนธรรมทองที่ยังพอมีลมหายใจอยู่บ้าง และได้เข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้มีบทบาทอิทธิพลเสมือนยาดำ ต่อการจัดระเบียบทางสังคมและการดำรงคุณธรรมของชาวบ้าน ได้อาศัยศาสนาเป็นแกนและใช้วัฒนธรรมประเพณีเป็นตัวช่วยให้เกิดบูรณาการ (Integration) เติมเต็ม ทำให้คนพื้นเมืองมีอัตลักษณ์และมีคุณภาพมีจริยธรรมสามารถรักษาสถาบันทางสังคมเข็มแข็งที่เป็นลักษณะเฉพาะ (Unique Strength) เป็นมรดกล้ำค่าน่าภูมิใจและเป็น “ต้นทุนชีวิต” สืบมาได้จากวันนี้
ประเพณีและพิธีกรรมตามความเชื่อ ของคนภาคใต้ เรื่องวัฒนธรรม และประเพณีในวิถีชีวิตชาวใต้ที่เกิดขึ้นมีทั้งในรอบปี และในรอบตลอดชีวิต เป็นอย่างไร และมีอะไรบ้างนั้น เราอาจแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทคือ ๑. ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาโดยตรง เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เทศกาลเข้าพรรษา-ออกพรรษา การเข้าสุหนัต การละหมาด ซากัด การแสวงบุญ
๒. ประเพณีที่มีการสืบเนื่องจากศาสนา เช่น การเวียนเทียน การบวชเรียน การรับ-ส่งตา-ยา ในงานบุญเดือนสิบ ประเพณีลากพระ การลอยกระทง งานเมาลิด การถือศีลอด การอ่านคัมภีร์กุรอ่าน การสวดอาซาน การถือศีลกินเจ
๓. ประเพณีที่จัดให้มีขึ้นตามฤดูกาลหรือวาระ เช่น งานแรกนาขวัญ งานแข่งเรือ งานบวชนาค งานสมรส งานทำศพ งานให้ทานไฟ งานสงกรานต์ งานทำบุญ หมู่บ้าน ราญอฮัจยี เป็นต้น
ประเพณีในวิถีชีวิตชาวใต้ที่เกิดขึ้นในรอบ ตลอดชีวิต และมีอะไรบ้างนั้น การเกิด ผูกเปล โกนผมไฟ บวช แต่งงาน ดูดวงผูกชะตา สู่ขอ แยบ หมั้น แต่ง ดูฤกษ์ผานาที
ขึ้นบ้านใหม่ สวดบ้าน ไหว้นา ไหว้สวน ไหว้เจ้าที่ พระภูมิ สวดรับเทดา /เทียมดา / เทวดา
การเจ็บป่วย รักษา หาหมอ ต้มยา รดน้ำมนต์ ทำบุญสะเดาะเคราะห์ บริจาคทาน สวดอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์
การตายจัดทำพิธีตามประเพณีความเชื่อของแต่ละศาสนา สวดอภิธรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศล / สวดดูอา เผา / ฝัง ลอยอังคาร/ทำบุญบังสุกุลบัว /กระดูก เช้งเม้ง / ไหว้หลุมศพ