ระบบการพิมพ์
ระบบการพิมพ์ การพิมพ์โดยทั่วไป แบ่งตามกระบวนการพิมพ์ ได้ 4 ระบบใหญ่ๆ ดังนี้ 1. การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์นูน ( Relief Printing ) 2. การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์ร่องลึก ( Intaglio Printing ) 3. การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์พื้นราบ ( Planographic Printing ) 4. การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์ฉลุ ( Zerigraphic Printing )
การพิมพ์ระบบพิมพ์นูน ( Relief Printing ) เป็นการพิมพ์ยุคเริ่มต้นของมนุษย์ ซึ่งการพิมพ์หนังสือสมัยแรก ๆ ช่างพิมพ์จำเป็นต้องใช้วิธีการแกะไม้ ( Wood Cut ) การสร้างแม่พิมพ์ หลักการของการพิมพ์ในระบบนี้ คือการสร้างแม่พิมพ์ให้มีระดับ แตกต่างกันระหว่างตัวภาพพื้นแม่พิมพ์โดยให้ตัวภาพ มีความสูงกว่าพื้น การสร้างภาพบนแม่พิมพ์ จำเป็นต้องให้ภาพหรือตัวอักษร มีลักษณะเป็น ด้านกลับ ( Reverse ) ซึ่งถ่ายทอดให้ภาพบนชิ้นงานพิมพ์มีลักษณะเป็น ด้านตรง การพิมพ์พื้นนูนที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่ การพิมพ์เลตเตอร์เพรส ( Letter Press)และการพิมพ์เฟลกโซกราฟี ( Flexography )
ภาพ : แม่พิมพ์ระบบการพิมพ์นูน
การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์ร่องลึก ( IntaglioPrinting) หลักการพิมพ์ระบบนี้ คือ ส่วนที่เป็นภาพหรือตัวหนังสือ จะมีระดับลึกลงไป หมึกพิมพ์จะขังอยู่ในร่องลึกซึ่งเป็นตัวภาพ เมื่อนำกระดาษวางทาบบนแม่พิมพ์กระดาษก็จะซับหมึกเฉพาะ ส่วนที่เป็นตัวภาพหรือตัวอักษรขึ้นมาเท่านั้น การพิมพ์ระบบนี้ ได้นำมาเป็นแนวทางในการพิมพ์ที่ต้องการประณีต เช่น การพิมพ์ธนบัตร แสตมป์ การพิมพ์จำลองงานทางศิลปะอย่างก้าวหน้าและแพร่หลาย ซึ่งเรียกว่า การพิมพ์ในระบบกราวัวร์ ( Gravure )
ภาพ : แม่พิมพ์ระบบการพิมพ์ร่องลึก
การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์พื้นราบ ( Planographic Printing ) มีหลักการพิมพ์ซึ่งแตกต่างจากทั้งสองระบบที่กล่าวมา โดยแม่พิมพ์จะมีระดับเสมอหรือเท่ากันหมดทั้งตัวภาพและพื้น แต่บริเวณตัวภาพจะมีลักษณะเป็นไข เมื่อนำหมึกพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นไขทาหรือกลิ้งบนแม่พิมพ์ หมึกจะติดเฉพาะบริเวณ ตัวภาพ แต่จะไม่ติดที่พื้น เมื่อนำกระดาษพิมพ์วางทาบลงบนแม่พิมพ์หมึกพิมพ์ จะถ่ายทอดขึ้นมาติดบนกระดาษ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งแท่นพิมพ์หนังสือเข้ามาในประเทศไทย และต่อมาได้ถูกพัฒนามาเป็นระบบการพิมพ์ที่เรียกว่า ระบบออฟเซท ( Off Set ) ซึ่งนิยมใช้ในกิจการพิมพ์อย่างแพร่หลาย ในปัจจุบัน เช่น งานพิมพ์หนังสือ ตำราเรียน พจนานุกรม นิตยสาร สารคดี วิชาการ
ภาพ : แม่พิมพ์ระบบการพิมพ์พื้นราบ
การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์ฉลุ ( SerigraphicPrinting ) การพิมพ์ระบบนี้มีกระบวนการพิมพ์ และการสร้างแม่พิมพ์ ที่แตกต่างจากการพิมพ์ทั้งสามระบบข้างต้นอย่างมาก โดยใช้แม่พิมพ์ จากวัสดุที่มีลักษณะเป็นฉาก ( Screen ) บาง ๆ และหมึกพิมพ์ สามารถ ทะลุ เช่น การใช้ผ้าไนล่อนขึงกับกรอบ ( Frame ) จากนั้นจะใช้วัสดุทึบ สำหรับปิดกั้นบนฉากนั้น เพื่อไม่ให้หมึกพิมพ์ผ่านไปในบริเวณที่ไม่ต้องการพิมพ์ โดยเปิดช่องว่างเฉพาะบริเวณที่ต้องการให้เกิดภาพ หรือ ตัวหนังสือ เมื่อนำหมึกพิมพ์มาปาดลงไปบนฉาก สีของหมึกพิมพ์จะทะลุฉากลงไปติดกับชิ้นงาน ( ซึ่งอาจเป็นกระดาษ, โลหะ, แก้ว, พลาสติก, ผ้า ฯลฯ ) เฉพาะส่วนที่เป็นรูปภาพหรือตัวอักษรอย่างงดงาม
ภาพ : แม่พิมพ์ระบบการพิมพ์ฉลุ