ทิศทางใหม่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผศ. ดร. จิตรกร โพธิ์งาม
คำถามที่ถามกันมากในสมัยนี้คือ “ทิศทางการพัฒนาสังคมน่าจะเป็นอย่างไร ในทศวรรษหน้า?”
ในการพัฒนาสังคม เราอาจบอกว่ามีทางเลือก 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้ 1. มีการพัฒนาภายใต้สมมุติฐานว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย นั้นก็คือ ปัญหาสะสมมากขึ้น 2. มีการปฏิรูปบางส่วนของปัญหาใหญ่ ๆ เช่น ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปสวัสดิการ ปฏิรูปภาษี และปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ 3. มีการพัฒนาสังคมที่เน้นการเปลี่ยนแปลงระบบ นั่นคือ มีภาพสังคมใหม่ มีเป้าหมายใหม่ มีค่านิยมใหม่ มีการปรับเปลี่ยนระบอย่างกว้างขวางแบบถอนรากถอนโคน
การพัฒนาสังคมและการพัฒนามนุษย์ ในระยะหลัง ๆ ในทฤษฎีสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมมีการเน้นเรื่อง “การพัฒนามนุษย์” (Human Development) มากขึ้น ทั้งนี้เพราะในระยะที่ผ่านมาเราพูดถึงแต่เรื่องระบบและโครงสร้าง แต่เราไม่มอง ตัวมนุษย์ การพัฒนามนุษย์ ท้จริงแล้วก็คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ หมายความว่า เราจะต้องสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์นั่นเอง
ในระบบสังคมสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันตกของทุนนิยมหรือโลกตะวันออกของสังคมนิยม (ก่อนล่มสลาย) ปรากฏว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เหมือนกัน นั่นคือ
1. ทั้ง 2 ระบบเน้นความสำเร็จทางด้านวัตถุ เน้นโลกภายนอก ไม่มอง โลกภายในจิตใจ 2. ปัจเจกชนที่อยู่ในระบบจึงมีแนวโน้มที่จะต้องการวัตถุและเน้นค่านิยม ในการบริโภควัตถุเท่านั้น 3. ทั้ง 2 ระบบเน้นการใช้เทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่เพื่อก่อให้เกิดความก้าวหน้ามากขึ้น 4. มนุษย์ของทั้ง 2 ระบบ ได้กลายเป็นเครื่องจักร
ท่ามกลางวิกฤติการณ์ในสังคมกระแสหลัก ซึ่งหมายถึงกระแสที่กำลังดำเนินอยู่ทั่วโลก ปรากฏว่ามีความพยายามเกิดขึ้นทางทฤษฎีและอุดมการณ์เพื่อสร้างแบบจำลองขึ้นมาใหม่ ที่เรียกว่า แนวคิดแบบ “มนุษยนิยม” (Humanism) ซึ่งเป็นการนำมนุษย์กลับมาสู่ศูนย์กลางของระบบ แนวมนุษยนิยมมีหลายแนว เช่น แนวของคริสต์ศาสนา พุทธปรัชญา แนวมาร์กซิสต์ แนวคานธี และ แนวจิตวิทยาแบบมนุษยนิยม (Humanistic Psychology)
ปรัชญาแนวจิตวิทยามนุษยนิยม (Humanistic Psychology) ทฤษฎีนี้จะเน้นเรื่องใหญ่ ๆ 3 เรื่องด้วยกันคือ เรื่องประสบการณ์ เรื่องความเข้าใจ และเรื่องการพัฒนามนุษย์ ทางด้านประสบการณ์ ย้ำว่า เราควรมีวิธีการสัมผัสโลกด้วยวิธีการใหม่ ๆ ไม่ใช่เน้นวิทยาศาสตร์แบบกลไกหรือเน้นวิชาการ เราไม่เน้นเหตุผล แต่เน้นการพัฒนาความรู้สึกลงไปในจิตใจมนุษย์ โดยไม่ให้มนุษย์ยึดถือกับโลกภายนอก
ทางด้านความเข้าใจ หมายความว่า เราควรจะมองโลกด้วยสายตาที่กว้างไกล มองโลกไม่แยกเป็นส่วน ๆ มีจิตสำนึกมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ทางด้านการพัฒนา เราจะใช้แนวทางที่สนองความต้องการของมนุษย์ที่มี หลายระดับจากความต้องการพื้นฐานไปถึงการพัฒนาทางด้านจิตใจและค่านิยม ในระดับปัจเจกชน
ปัญหาและข้อจำกัดของแนวคิด อย่างไรก็ตามทางด้านสังคมมหภาค แนวคิดนี้อาจมีปัญหาเพราะระบบโครงสร้างอำนาจยังเหมือนเดิม เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ระบบโครงสร้างอำนาจและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ยังมีอิทธิพลต่อจิตใจและชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ส่วนดีของแนวคิดมนุษยนิยมคือ เรามีปรัชญาใหม่ ๆ ขึ้นมา เราเรียกว่า “ปรัชญาที่เน้นการพัฒนามนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสังคม”
ปรัชญาที่เน้นการพัฒนามนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสังคม มีหลักการใหญ่ ๆ อยู่ 5 หลักการด้วยกัน คือ 1. การพัฒนาต้องเน้นความเสมอภาคของสังคม 2. การพัฒนาต้องเน้นความหลากหลายและความเป็นอิสระของการพัฒนาตนเอง ไม่มีการครอบงำ 3. การคิดคำนึงถึงอนาคตและระบบนิเวศเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง 4. ไม่ลืมที่จะแก้ไขปัญหาของผู้ยากไร้ 5. ต้องส่งเสริมการปกป้องเสรีภาพ และการสร้างสรรค์ชีวิตของมนุษย์ให้มีความหมาย
ยุทธศาสตร์การพัฒนาแนวพุทธ : กรณี “สรรโวทัย” ในศรีลังกา ยุทธศาสตร์การพัฒนาแนวพุทธ : กรณี “สรรโวทัย” ในศรีลังกา มีการนำเอาแนวคิดบางอย่างของชาวพุทธมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม คือ มีการแบ่งปันทรัพยากรให้แก่เพื่อนมนุษย์ในชุมชน ใช้หลักเศรษฐศาสตร์แห่งความรัก ทำงานเพื่อช่วยกันทางเศรษฐกิจ ยึดหลักความเสมอภาคทางสังคคม
หลักการพัฒนาแบบพุทธ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้ ยุทธศาสตร์หลักเน้นที่ “ความเป็นมนุษย์” มากกว่า “ความปรารถนา ที่จะครอบครองวัตถุ” เน้นเรื่องความสามัคคี (Solidarity) ใช้หลักการมีส่วนร่วม (Participation) การพัฒนาไม่ใช่เรื่องของการสงเคราะห์ แต่เป็นเรื่องของการปลดปล่อย และหลุดพ้น (Liberation)