กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยงไทย ไก่แจ้ กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์
ความสำคัญของไก่แจ้ ไก่แจ้มีวิวัฒนาการและปรับตัวมาจากไก่ป่าขนสีแดง (red jungle fowl) เช่นเดียวกับไก่ชนิดอื่น ๆ เกือบทั่วโลก ไก่แจ้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับไก่เลี้ยงทั่วไปคือ Gallus domesticus จัดอยู่ใน Tribe Phasianini, Subfamily Phasianinae, Family Phasianidae, Suborder Galli, Order Galliforms และ Class Aves ไก่แจ้มีแข้งสั้น มองแทบไม่เห็นขา ลักษณะแข้งสั้นดังกล่าวถูกควบคุม ด้วยยีน Cp สามารถพบเห็นไก่แข้งสั้นได้ในหลายพื้นที่ของโลก การเรียกขานไก่แข้งสั้นชนิดนี้ในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไป เช่น ประเทศไทยเรียก ไก่แจ้ ประเทศญี่ปุ่นเรียก Chabo และ Jitokko ประเทศฝรั่งเศสเรียก Courtes Pattes ประเทศอังกฤษเรียก Scots Dumpy ส่วนอเมริกาเรียก Creeper และ Japanese bantams ซึ่งเป็นพันธุ์ไก่แข้งสั้นที่นำมาจากประเทศญี่ปุ่น ไก่ขาสั้นจะมีเอกลักษณ์ เฉพาะตัวคือแข้งสั้นแตกต่าง จากไก่ Bantams ทั่วไปที่หมายถึงไก่ที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักไม่มาก แต่ความยาวขาปกติ
ความสำคัญของไก่แจ้ ไก่แจ้ เป็นไก่พื้นเมืองชนิดหนึ่ง (Domestic Fowl) จัดอยู่ในประเภทสัตว์สวยงาม อยู่คู่สังคมไทยมาเป็นเวลานาน วัตถุประสงค์ของการเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน ความสวยงาม และความสุขใจของผู้เลี้ยง เดิมเป็นไก่ป่าที่มีความปราดเปรียว ขี้ระแวง เข้าใกล้ไม่ได้ แต่เพราะมีขนสวยงาม ลักษณะที่น่ารัก และการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก ทำให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้เลี้ยงได้ จับต้องได้ และอุ้มได้ โดยมีการพัฒนาต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี จนสามารถพัฒนาไก่แจ้ไทยได้ถึง 12 สี โดยมีความสวยงามตามมาตรฐานสากล
ลักษณะประจำพันธุ์ - เพศผู้มีขนาดใหญ่ กว้างกลม หงอนใหญ่ หน้า มีสีแดง ผิวหงอนหยาบ เหนียงใหญ่ ปากสั้น ตากลมโต เป็นประกาย ลำตัวเล็กกลม อกใหญ่กลม ขนสะอาด นุ่ม หนา แน่น เป็นเงา เพศเมีย มีลักษณะเดียวกันกับเพศผู้
ลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจ เพศผู้ มีน้ำหนักตัวประมาณ 730 กรัม ถ้าน้ำหนักตัวสูงกว่ามาตรฐานเกิน 120 กรัม ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน เพศเมีย น้ำหนักตัวประมาณ 610 กรัม ถ้าน้ำหนักตัวสูงกว่ามาตรฐานเกิน 120 กรัม ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน