ชาวพุทธตัวอย่าง พระเจ้าอโศกมหาราช ประวัติเบื้องต้น พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์ในรัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติในนครปาตลีบุตร เมืองหลวงใหม่ของแคว้นมคธ (หรือทุกวันนี้เรียกว่าแคว้นพิหาร) เมื่อ พ.ศ.๒๑๘–๒๖๐ (นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันส่วนมากกล่าวว่าทรงครองราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๒๗๐–๓๑๒)
ครั้นครองราชย์ได้ ๘ ปี ได้ทรงยกทัพไปปราบแคว้นต่าง ๆ ให้อยู่ในพระราชอำนาจ แคว้นหนึ่งซึ่งมีกำลังมากในสมัยนั้นคือ แคว้นกาลิงคะ เป็นแคว้นที่มีกำลังคนและกำลังอาวุธที่เข้มแข็งมาก มีผู้คนมากแต่ก็ถูกปราบเสียยับเยิน ทำให้พระราชอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราชแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงมีพระบรมเดชานุภาพมากพระองค์หนึ่งของประเทศอินเดียในยุคหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณสองร้อยปีเศษ พระราชประวัติของพระองค์เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเทศที่ประชาชนส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา พระองค์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งสมณฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนต่าง ๆ นอกชมพูทวีป
การเข้ามานับถือพระพุทธศาสนา การสงครามแต่ละครั้งทำให้ผู้คนล้มตายมาก ทำให้เกิดภัยพิบัติเอนกอนันต์ พระเจ้าอโศกมหาราชทอดพระเนตรเห็นกองซากศพและทะเลเลือดในสงครามแล้วเกิดสลดพระทัย กอปรพบเหตุการณ์อันเป็นชนวนให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา เหตุการณ์นั้นคือขณะที่ประทับอยู่ในปราสาท ทอดพระเนตรทางช่องพระแกลไปที่หน้าพระลานหลวง ทรงเห็นสามเณรรูปหนึ่งอุ้มบาตรผ่านมามีบุคลิกและลีลาก้าวเดินที่สง่า สำรวม น่าเลื่อมใส
เมื่อทรงให้เจ้าหน้าที่ประจำราชสำนักตามไปนิมนต์ จึงทรงทราบว่าสามเณรรูปนั้นชื่อว่าสามเณรนิโครธ พระเจ้าอโศกมหาราชตรัสถามสามเณรว่าพระพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร สามเณรนิโครธถวายวิสัชนาว่า “พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ควรประมาทในทุกสถานในกาลทุกเมื่อ”
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสดับแล้วทรงสะท้อนในพระทัย เพราะทรงนึกถึงพระองค์ผู้มัวเมาประมาท ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติท่ามกลางเลือดเนื้อและชีวิตผู้คนจำนวนมาก ทรงสลดพระทัย ตั้งแต่วันนั้นมาจึงทรงเลิกทำสงครามหันมานับถือพระพุทธศาสนา
สามเณรนิโครธผู้มีบุคลิกสง่าและสำรวมนั้น นัยว่าเป็นพระโอรสแห่งพระอนุชาองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งถูกราชภัยจนสิ้นพระชนม์ พระชายาซึ่งกำลังทรงครรภ์หนีรอดไปได้แล้วระหกระเหินไปประสูติพระโอรสที่ต้นนิโครธหรือต้นไทร จึงตั้งชื่อบุตรว่า “นิโครธ” ครั้นพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงทราบเรื่องราวของสามเณรนิโครธ ก็ทรงสลดพระทัยยิ่งขึ้น ได้พระราชทานอุปถัมภ์สามเณรผู้เป็นพระราชนัดดาเป็นอย่างดี
ผลงานสำคัญ ๑. ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ๒. ทรงส่งสมณฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกชมพูทวีป รวม ๙ สาย ๓. ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างมหาวิหารเท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ของพระไตรปิฎก พร้อมกับได้จารึกธรรมะที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีข้อความว่า “เย ธัมมา เหตุปัปภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวังวาที มหาสะมะโณ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระตถาคตพุทธเจ้าตรัสเหตุนั้น และความดับของธรรมนั้นไว้แล้ว พระมหาสมณะ (หมายถึงพระพุทธเจ้า) ทรงมีหลักคำสอนอย่างนี้”
๔. ทรงสร้างเสาศิลาจารึกตามสังเวชนียสถานทุกแห่ง ทำให้ชาวพุทธภายหลังได้ค้นพบสถานที่สำคัญเหล่านั้น ตลอดจนหัวเสาอโศกนั้นได้กลายมาเป็นตราแผ่นดินของประเทศอินเดียปัจจุบัน
แบบอย่างในการดำเนินชีวิต ๑. มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าจนถึงขั้นให้พระราชโอรส คือ มหินทะและพระราชธิดาสังคมิตตาออกบวชในพระพุทธศาสนา ๒. ทรงเปลี่ยนวิเทโศบายจากการเอาชนะศัตรูด้วยการทำสงครามมาเป็นการให้หลักธรรมคำสอน ๓. ทรงเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริม เผยแผ่ และปกป้องพระพุทธศาสนา