คำแนะนำในการตอบข้อสอบ
ข้อพึงปฏิบัติ จะต้องอ่านคำถามเพื่อให้ทราบว่ามีกี่ประเด็นที่จะต้องตอบ ส่วนใหญ่จะมี 2-3 ประเด็น ปัจจุบันจะไม่มีข้อสอบประเด็นเดียว ประเด็นหาได้จากคำถามและข้อเท็จจริงที่ให้มาในคำถาม
การตอบต้องแยกประเด็นตอบแต่ละประเด็น จะต้องสรุปหลักกฎหมายในประเด็นนั้น และนำข้อเท็จจริงมาปรับแล้วตอบแบบฟันธง เช่น ปัญหามีว่าคำเบิกความของนาย ก. รับฟังได้หรือไม่ หลักกฎหมายเรื่องคำเบิกความของพยานบุคคลที่ต้องสาบานตนก่อนเบิกความมีว่า....................................ตามข้อเท็จจริงในปัญหาที่ให้มามีว่า.................................ดังนั้น....................................................................
ข้อไม่พึงปฏิบัติ 1. ห้ามลอกคำถามลงแล้วตอบสรุปแบบฟันธง 2. ห้ามสมมติข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่
ข้อพึงระลึก ต้องตรวจดูว่าคำตอบที่ฟันธงไปนั้น 1. ได้ให้เหตุผลหรือไม่ 2. เหตุผลนั้นเป็นหลักกฎหมายหรือไม่
ข้อพึงปฏิบัติ 1. ในการอ้างหลักกฎหมายซึ่งมีหลักว่าต้องอ้างหลักกฎหมายในแต่ละประเด็นที่จะต้องตอบแล้ว หลักกฎหมายดังกล่าวควรจะยกมาเฉพาะที่เป็นประเด็นจะต้องตอบ ไม่ใช่ยกมาทั้งมาตรา 2. การอ้างตัวบทมาตราถ้าเป็นมาตราที่สำคัญควรจำได้และให้ใส่ไปด้วย
ตัวอย่าง คำถามถามเกี่ยวกับการรับฟังสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับในกรณีที่ต้นฉบับสูญหาย ให้ตอบโดยอ้างหลักกฎหมายเฉพาะ ป.วิ.พ.มาตรา 93(2) เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึง (1) (3) และ (4) เช่น ตอบว่า “ป.วิ.พ. มาตรา 93 บัญญัติว่าการอ้างเอกสารเป็นพยานนั้นให้ยอมรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารนั้น โดยมีข้อยกเว้นในอนุมาตรา (2) ว่า ถ้าต้นฉบับหาไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือ ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้...”
ข้อไม่พึงปฏิบัติ 1. ไม่จำเป็นต้องอ้างเหตุผลของกฎหมาย เช่น ไม่ต้องอธิบายว่าเหตุใดกฎหมายจึงบัญญัติให้อ้างแต่ต้นฉบับ 2. หากจำตัวเลขมาตราไม่ได้ให้ใช้ถ้อยคำว่า “หลักกฎหมายในเรื่องการนำสืบต้นฉบับเอกสารมีว่า...” อย่าใช้ถ้อยคำในลักษณะที่แสดงให้เห็นชัดว่าไม่รู้ เช่น “มีบทมาตราหนึ่งใน วิ.แพ่งบัญญัติว่า...” 3. ไม่พึงอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาว่ามีฎีกาตัดสินแล้วเป็นเหตุผลในคำตอบ เช่น ไม่ตอบว่า “เรื่องนี้มีฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานแล้วว่า...”
ข้อพึงระลึก ควรท่องจำเลขมาตราที่สำคัญและหลักกฎหมายซึ่งเป็นถ้อยคำในมาตราเหล่านั้นได้ เพื่อจะได้ใช้ภาษากฎหมายที่ถูกต้อง