แบบนำเสนอผลงานโครงการ “การจัดการความรู้ : Share and Learn ประจำปี 2555” วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2555 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1. ชื่อผลงาน : การรณรงค์ป้องกันพยาธิใบไม้ตับ ในตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น 2. เจ้าของผลงาน : นางกาญจนศรี สิงห์ภู่ และ นางสาวสุกานดา อริยานุชิตกุล นายประจวบ ชัยมณี นายชวลิต เนตรอริยทรัพย์ นางภัคณัณท์ อุสันเทียะ นายสุวิทย์ บาลไธสง นางสาวณัฐภรณ์ หาดี นางสาวลัดดาวัลย์ นาสถิตย์ 3. ประเภทผลงานตามพันธกิจ : การจัดการองค์กรที่ดี (ด้านการมีส่วนร่วม) 4. ข้อมูลเกี่ยวกับผลงาน / ความสำคัญ โรคพยาธิใบไม้ตับยังคงเป็นโรคที่มีอัตราการติดเชื้อที่สูงในภาคอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย ในบางพื้นที่ของภาคอีสานมีอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับสูงกว่าร้อยละ 85 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการติดเชื้อ เกิดจากพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่ที่ยังนิยมรับประทานอาหาร ประเภทปลาน้ำจืดสุกๆ ดิบๆ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญของโรคท่อทางเดินน้ำดีหลายชนิด รวมถึงมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของมะเร็งท่อน้ำดีสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีอัตราการตายกว่า 80 คนต่อวัน ถึงแม้จะมีการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทย มากกว่า 30 ปี แต่อุบัติการณ์ของโรคทั้งสองชนิดนี้ก็ยังคงสูงอยู่ ดังนั้นการให้ความรู้และการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในประชาชน จึงมีส่วนสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ประชาชนเป็นโรคนี้ เนื่องจากหากประชาชนมีไข่พยาธิในอัตราที่จะสามารถก่อโรคได้ ก็จะได้หาทางช่วยเหลือและรักษาได้ทันเวลา และหากการแก้ปัญหานี้ได้ผลก็จะนำไปเป็นตัวอย่างในพื้นที่อื่นอีกต่อไป คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดโครงการนำร่องอันจะเป็นต้นแบบของการดูแลสุขภาพ อย่างมีส่วนร่วม ขึ้น เพื่อให้บุคคล สังคม ชุมชน ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดอุบัติการณ์การเกิดโรคและลดอัตราการตายจากโรค เพื่อประโยชน์ในเรื่องความสะดวกในการรับบริการของประชาชนในพื้นที่โดยตรง 5. วิธีดำเนินการ (How to) ดังนี้ 1) จัดประชุมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมสมองวางแผนการดำเนินงาน 2) เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติจากศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ ห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร ภาควิชาพยาธิวิทยา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกง 4) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ 5) จัดทำเอกสารวิชาการเพื่อแจกแก่ประชาชน 6) ลงพื้นที่ให้ความรู้โดยการบรรยายทางวิชาการ และตรวจหาไข่พยาธิ 7) เมื่อพบผู้มีไข่พยาธิจะจัดส่งยาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกงให้ยาฆ่าพยาธิแก่ประชาชน 8) สรุปผลการดำเนินงานและรายงานผล แก่ผู้บริหารได้รับทราบ 6. ผลการดำเนินงาน 1) การให้ความรู้ทางวิชาการ ในวันที่ 24, 27 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวนผู้เข้าร่วม 313 คน 2) ให้บริการตรวจหาไข่พยาธิ จำนวน 205 คน ตรวจพบไข่พยาธิ ร้อยละ 0.97 (2 ราย) 3) ผลการประเมินความรู้และความพึงพอใจของการให้บริการอยู่ในระดับดี-ดีมาก ร้อยละ 98.95 4) สามารถรายงานผลการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับได้ทันเวลา ภายใน 3 วัน 5) ความรู้หลังการฟังบรรยายดีกว่าก่อนการฟังการบรรยาย 7. ปัจจัยที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ (Key success factors) มีการร่วมมือและประสานงานที่ดีจากทีมสหสาขาทุกวิชาชีพ โดยมีการวางแผนงานและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน และแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ถือเป็นการจัดการองค์กรที่ดีในด้าน “การมีส่วนร่วม” 8. ข้อเสนอแนะอื่นๆ ควรมีการจัดโครงการในลักษณะนี้อีกในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง