สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การพัฒนาหนังสือ “การพยาบาล จิตเวชและสุขภาพจิต: ศาสตร์และศิลป์สู่การปฏิบัติ เล่ม 1 และ 2” สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
แรงบันดาลใจในการเรียบเรียงหนังสือ ประสิทธิภาพการบำบัดทางการพยาบาลส่งผลต่อกระบวนการฟื้นหาย การคืนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เผชิญปัญหาทางจิตเวชและสุขภาพจิต ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้อง นักศึกษาพยาบาลและคนทำงานต้องการสื่อการเรียนรู้แบบมีชีวิตที่สามารถ บูรณาการระหว่างความรู้ภาคทฤษฏีจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (explicit knowledge) และความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) จากประสบการณ์ตรงของพยาบาลวิชาชีพและทีมสหวิชาชีพเพื่อให้เห็นรูปธรรมการนำทฤษฎีสู่การปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างแท้จริง
ความหวัง: ปลายทางการเรียบเรียงหนังสือ เกิดหนังสือที่มีชีวิต มีรูปธรรมการบูรณาการศาสตร์และศิลป์ของการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ผู้เผชิญปัญหาทางจิตเวชและสุขภาพจิตรวมทั้งครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องเกิดความรู้สึกปลอดภัย เชื่อมั่น และมีความหวังต่อคุณภาพการบำบัดทางการพยาบาลที่นำไปสู่กระบวนการฟื้นหายและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขเต็มศักยภาพ กระบวนการบำบัดทางการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างความกระจ่างในคุณค่าและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพการพยาบาลได้อย่างแท้จริง
วิธีดำเนินงาน: เส้นทางการพัฒนา พัฒนาโครงสร้าง (structure) เนื้อหาตามขอบเขตของวิชาชีพ ค้นหาทีมผู้เรียบเรียงรายบท (อาจารย์ + พยาบาลวิชาชีพ/ทีมสหวิชาชีพ) รวม 23 คน จากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และสถาบันราชานุกูล ผู้เรียบเรียงแต่ละบทระบุองค์ประกอบเนื้อหา + รูปธรรมเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร เพื่อให้เนื้อหาเกิดการทำหน้าที่ (function) ได้ตามเป้าหมายและชวนติดตาม ดำเนินการเรียบเรียงและปรับปรุง ทดลองใช้กับนักศึกษารายวิชา NUR-251 การพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต (2 ปี) ปรับปรุงแก้ไข รวมเวลา 4 ปี 9 เดือน ตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (plagiarism) ด้วยโปรแกรม Turnitin และพิสูจน์อักษร ประสานสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์และศูนย์บรรณสารฯ เพื่อขอตีพิมพ์ตามระเบียบของ มวล. จัดจำหน่ายและเผยแพร่โดยศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
บทเรียนคนทำงาน/การผลิดอกใบ: คุณค่าของการร่วมแรงใจระหว่างพยาบาลนักปฏิบัติการและนักวิชาการ “...ขอบคุณที่ให้พื้นที่มอบสมบัติกับน้องร่วมวิชาชีพเพื่อให้การดูแลผู้ป่วย หนังสือบทนี้เป็นของขวัญสำหรับตัวเองก่อนเกษียณอายุและเป็นของขวัญที่ได้ตอบแทนบุญคุณวิชาชีพพยาบาลที่ความรู้บางอย่างไม่ตายไปพร้อมกับพี่ ไม่คิดว่าคนแก่ก็เขียนงานวิชาการได้ รู้สึกตัวเองมีค่า...”
บทเรียนคนทำงาน/การผลิดอกใบ: คุณค่าของการร่วมแรงใจระหว่างพยาบาลนักปฏิบัติการและนักวิชาการ “...โกรธมาก เครียดมาก เหนื่อยมาก กดดันมาก แก้แล้วแก้อีก แก้แล้วแก้อีก อะไรกันนักหนา ทำไมอาจารย์ต้องบอกว่าต้องทำงานให้สำเร็จ ไม่ใช่ทำให้เสร็จ ๆ คำนี้ฟังจนเบื่อมาก.... แต่วันที่หนังสือออกมาเพิ่งเข้าใจว่าทำไมต้องแก้เพราะทุกตัวอักษรที่เขียนคือความรับผิดชอบต่อวิชาชีพที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของคนอ่านและชีวิตของคนไข้...”
บทเรียนคนทำงาน/การผลิดอกใบ: คุณค่าของการร่วมแรงใจระหว่างพยาบาลนักปฏิบัติการและนักวิชาการ “...การรวมพลังระหว่างวิชาการกับปฏิบัติช่วยเติมเต็มกัน เมื่อก่อนแอนตี้ จริง ๆ ทุกฝ่ายสำคัญ ประสบการณ์สำคัญ แต่ขาดวิชาการไม่ได้ วิชาการที่ขาดประสบการณ์เหมือนกินข้าวแล้วไม่มีน้ำ เราต้องทำงานไปด้วยกัน เติมเต็มกัน วิชาชีพเราจึงจะรอด...”
ขอขอบคุณ หนังสือสำเร็จด้วยดีจากความร่วมมือและให้โอกาสของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โรงพยาบาล สวนสราญรมย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และสถาบันราชานุกูล ที่มุ่งมั่นทุ่มเทแรงกายแรงใจจนทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดคุณค่าต่อการนำไปปฏิบัติเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้เผชิญปัญหาทาง จิตเวชและสุขภาพจิตอย่างสมบูรณ์
ขอบคุณค่ะ