อิทธิพลของการเกิดฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมน Testosterone มีบทบาทอย่างไร Testosterone คือฮอร์โมนเพศที่สำคัญที่สุดของผู้ชาย มีหน้าที่กำหนดลักษณะความเป็นชาย ทำให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งรวมไปถึงเรื่องความต้องการทางเพศ การสร้างอสุจิ ปริมาณขนตามร่างกาย กล้ามเนื้อและกระดูก ในช่วงแรกของพัฒนาการของทารก จะยังไม่มีการแบ่งแยกลักษณะของเพศชายหญิง จนกระทั่งได้รับฮอร์โมน Testosterone ทำให้มีการพัฒนาทางเพศ กระตุ้นให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงสรีระไปตามเพศ ที่กำหนดไว้ โดยโครโมโซมสำหรับเพศชายจะกระตุ้นให้อัณฑะเคลื่อนที่ออกมานอกช่องท้องและอวัยวะเพศขยาย ขนาดขึ้น
Testosterone จะสร้างมากที่สุดเมื่ออายุยี่สิบต้นๆ จากนั้นจะลดลงอย่างช้าๆ เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อลีบเล็ก ลงพุง ผมบางลง ความรู้สึกและความต้องการทางเพศลดลง เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัวหรือแข็งตัวไม่นานพอที่จะทำกิจกรรมทางเพศได้ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิต หน้าที่การงาน และสภาพจิตใจ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึมเศร้า ห่อเหี่ยว ไม่กระฉับกระเฉง นอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
สาเหตุที่ทำให้ Testosterone ต่ำมีอะไรบ้าง •การบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ เช่น แผลบาดเจ็บ การทำหมัน การฉายรังสี หรือการทำเคมีบำบัด •การติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ •ความผิดปกติทางด้านฮอร์โมน เช่น โรคหรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ฮอร์โมน Prolactin อยู่ในระดับสูง
•โรคที่เกี่ยวกับระบบต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคตับและไตเรื้อรัง ไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน การรักษาโรคด้วยยาบางชนิด และโรคที่เกิดจากพันธุกรรม เช่น Klinefelter Syndrome, Prader-Willi Syndrome อาจเป็นสาเหตุของภาวะ Testosterone ต่ำได้ ชายสูงอายุส่วนใหญ่จะมีระดับ Testosterone อยู่ในระดับต่ำ และหลายๆ คนในจำนวนนั้นไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร
จะตรวจวินิจฉัยภาวะฮอร์โมน Testosterone ต่ำได้อย่างไร แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูการกระจายของขนตามร่างกายว่าเป็นไปตามลักษณะเพศชายหรือ ไม่ ตรวจขนาดของหน้าอก ความสม่ำเสมอ และขนาดของอัณฑะ ถุงอัณฑะ และอวัยวะเพศ นอกจากนี้จะตรวจวัดระดับฮอร์โมน Testosterone ในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ซึ่งสถานพยาบาลเจตนินจะใช้ค่าอ้างอิงระดับ Testosterone ปกติ อยู่ระหว่าง 2.49 - 8.30 ng/mL
มีการรักษาภาวะฮอร์โมน Testosterone ต่ำอย่างไร การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนเสริม จะสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพของผู้ชายให้ดีขึ้น เช่น เพิ่มความรู้สึกทางอารมณ์ และการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น มีพลัง กระฉับกระเฉงมากขึ้น มีความสนใจทางเพศมากขึ้น การงอกของขนตามร่างกาย ความหนาแน่นของกล้ามเนื้อ ซึ่งวิธีการรักษาแบบเสริมฮอร์โมน Testosterone มีหลายวิธี ได้แก่ การฉีด การแปะแผ่นที่ผิวหนัง การทาเจล และการให้ยารับประทาน
การดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลเสียต่อระดับฮอร์โมน เช่น ควรออกไปรับแดดตอนช่วงเช้าหรือช่วงเย็นเป็นเวลาอย่างน้อย 15-20 นาที ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ถูกสัดส่วน ช่วยทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายมีความสมดุล ร่างกายแข็งแรง อารมณ์ดี มีชีวิตชีวา ไม่ซึมเศร้า มีความรู้สึกทางเพศเพิ่มขึ้น และสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ดีขึ้น ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ใน ครอบครัวดีขึ้น ทำให้ลดปัญหาภาวะมีบุตรยากที่มีสาเหตุจากฝ่ายชายได้
ไม่น่าเชื่อว่าฮอร์โมนเพศ จะมีอิทธิพลต่อชีวิต ครอบครัว และยังเลยไปถึงหน้าที่การงาน ได้ถึงเพียงนี้ ถ้าเรารู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นและเพิ่มฮอร์โมนเพศ ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมพื้นฐานของชีวิตให้ดีตามไปด้วย