การจัดการงานบุคคลของสหกรณ์ออมทรัพย์ บทที่ 4 การจัดการงานบุคคลของสหกรณ์ออมทรัพย์ เนื้อหาในบทเรียน - ความหมายและขอบเขตของการจัดการงานบุคคลในสหกรณ์ออมทรัพย์ - กระบวนการจัดการงานบุคคล - กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการงานบุคคล
ความหมายและขอบเขตของการจัดการงานบุคคลในสหกรณ์ออมทรัพย์ การจัดการงานบุคคลในสหกรณ์ออมทรัพย์ หมายถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายการวางแผนโครงการ ระเบียบและวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์ เพื่อให้ได้มาได้ใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาทรัพยากร “คน” ที่มีประสิทธิภาพและมีปริมาณเพียงพอ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
กระบวนการจัดการงานบุคคล งานในหน้าที่ของการจัดการงานบุคคล มีขอบเขตตั้งแต่การวางแผนรับคนเข้าทำงาน จนถึงการให้พ้นจากงาน กระบวนการจัดการงานบุคคลใน สหกรณ์ออมทรัพย์อาจแบ่งเป็นขั้นตอนดังนี้ 1. การวางแผนกำลังคน และการกำหนดอัตราเงินเดือนและตำแหน่ง 2. การแสวงหาบุคคล ได้แก่การสรรหา การเลือกสรร การบรรจุ 3. การบำรุงรักษาและการจัดสวัสดิการ 4. การประเมินผลการปฏิบัติงาน 5. การพัฒนาบุคคล 6. การให้พ้นจากงาน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการงานบุคคล 1. กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นกฎหมายอาญาที่รัฐบัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองมาตรฐานขั้นต่ำในการทำงานของผู้ใช้แรงงาน โดยกำหนดให้นายจ้างจัดสภาพการจ้างและสภาพการทำงานของลูกจ้างตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ซึ่งหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหรือละเลยละเมิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ไม่เพียงแค่จะเป็นกระทำผิดต่อลูกจ้างเท่านั้น แต่ยังจะเป็นการกระทำผิดต่อสังคมและรัฐด้วยและเข้าข่ายความผิดในคดีอาญาแม้ว่าจะไม่มีผู้ใดร้องเรียนก็ตาม
สิ่งที่นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีดังต่อไปนี้ - เวลาทำงานปกติ - เวลาพัก - การทำงานเกินทำงานปกติและค่าล่วงเวลา - วันหยุดประจำสัปดาห์ - วันหยุดตามประเพณี - วันหยุดพักผ่อนประจำปี - การทำงานในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุด - การลาป่วย - การลาคลอด - ค่าจ้าง - สวัสดิการ - ค่าชดเชย - เงินทดแทน
2. พระราชบัญญัติประกันสังคม ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติประกันสังคมมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2533 เป็นต้นไป กฎหมายประกันสังคมมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การช่วยเหลือแก่ลูกจ้างที่ต้องเจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายซึ่งมิใช่เกิดขึ้นจากการทำงาน เพราะถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานได้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิต่างๆ ไว้แล้ว สำหรับสาระสำคัญของประโยชน์ทดแทนกฎหมายประกันสังคมได้กำหนดไว้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้ (ม.54)
1) กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน 2) กรณีทุพพลภาพ อันเกิดจากการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการทำงาน 3) กรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน 4) กรณีที่ตนเอง หรือคู่สมรสคลอดบุตร 5) กรณีสงเคราะห์บุตร 6) กรณีชราภาพ 7) กรณีว่างงาน กฎหมายประกันสังคม มีผลบังคับใช้กับสถานประกอบกิจการทุกแห่งโดยในปีแรกกฎหมายประกาศใช้ จะใช้กับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป (ม.103) และเมื่อประกาศใช้แล้ว 3 ปี จะขยายขอบเขตไปยังสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
คำถามประเมินผลหลังเรียน จงกล่าวถึงขอบเขตและกระบวนการจัดการงานบุคคลในสหกรณ์ออมทรัพย์ มาให้เข้าใจ จงกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการงานบุคคล มาให้ทราบโดยสังเขป Main Menu