รสในวรรณคดี พิโรธวาทัง
รสในวรรณคดี รส ในความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หมายถึง ลักษณะที่รู้สึกด้วยลิ้นว่ามีรสเปรี้ยวหรือหวาน เป็นต้น แต่รสในความหมายทางการประพันธ์ หมายถึง อารมณ์ สัมผัส รับรู้ด้วยใจ เช่นรสเสียง รสถ้อยคำ สัมผัสคำ ฯลฯ เกิดจากจังหวะของวรรคตอนในการอ่านบทประพันธ์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างมโนภาพด้านอารมณ์ ความเคลื่อนไหว ของภาพให้ชัดเจน มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น อันยังเป็นผลให้เข้าถึงรสภาพอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ เมื่ออ่านหรือฟังคำประพันธ์ใดแล้ว เกิดความรู้สึกอย่างไร หากคำประพันธ์ใดไม่มีรสย่อมจืดชืด ไม่เกิดอารมณ์สะเทือนใจแต่อย่างใดแก่ผู้อ่าน
รสในวรรณคดี รสวรรณคดีของไทย เป็นลีลาของบทประพันธ์อย่างหนึ่ง คือ การใช้ภาษา ให้เหมาะสมแก่เนื้อความของเรื่อง กล่าวคือ แต่งบทประพันธ์ตามรสบทประพันธ์ไทย หรือ รสวรรณคดีไทย ซึ่งมี 4 รส คือ 1. เสาวรจนี ได้แก่ บทพรรณนาความงามของสถานที่ธรรมชาติ ชมนาง 2. นารีปราโมทย์ ได้แก่ บทเกี้ยวพาราสี แสดงความรัก 3. พิโรธวาทัง ได้แก่ บทโกรธ บทตัดพ้อต่อว่า 4. สัลปังคพิสัย ได้แก่ บทแสดงความโศกเศร้า คร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์
พิโรธวาทัง พิโรธวาทัง (อารมณ์โกรธ) เป็นอารมณ์ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ปุถุชน "เป็นความโกรธ หรือการตัดพ้อว่าด้วยความขุ่นเคือง คำที่ใช้จึงมักจะลงเสียงหนัก เพื่อเน้นความรู้สึกโกรธ เกลียดหรือเจ็บใจ" จารีตนิยมชนิดนี้มีความแตกต่างเป็นระดับ กล่าวคือ กล่าวเปรียบเทียบเชิงถ่อมตน - เจียมตน ตัดพ้อต่อว่า กล่าวเปรียบเปรยด่าว่าและถึงขั้น ตัดเป็นตัดตาย ตัวอย่างเช่น
แล้วว่าอนิจจาความรัก เพิ่งประจักษ์ดังสายน้ำไหล ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา สตรีใดในพิภพจบแดน ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิจ โอ้ว่าเสียดายตัวนัก เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร จาก บทละครเรื่องอิเหนา
เมื่อแรกเชื่อว่าเป็นเนื้อทับทิมแท้ มาแปรเป็นพลอยหุงไปเสียได้ กาลวงว่าหงส์ให้ปลงใจ ด้วยมิได้ดูหงอนแต่ก่อนมา คิดว่าหงส์จึงหลงด้วยลายย้อม ช่างแปลงปลอมท่วงทีดีหนักหนา ดังรักถิ่นมุจลินท์ไม่คลาดคลา ครั้นลับตาฝูงหงส์ก็ลงโคลน จาก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน