ด้วงกว่าง
สารบัญ ประวัติด้วงกว่าง ประเภทด้วงกว่าง รูปภาพด้วงกว่าง
ประวัติด้วงกว่าง ด้วงกว่าง หรือ กว่าง หรือ แมงกว่าง หรือ แมงกวาง[1] หรือ แมงคาม (อังกฤษ: Rhinoceros beetle, Rhino beetle, Hercules beetle, Unicorn beetle, Horn beetle) เป็นแมลงในวงศ์ย่อย Dynastinae จัดอยู่ในวงศ์ใหญ่ Scarabaeidae ในอันดับแมลงปีกแข็ง (Coleoptera) ด้วงกว่างมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากแมลงปีกแข็งจำพวกอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ ตัวผู้มีขนาดที่ใหญ่ แลดูบึกบึน มีปีกที่พัฒนาเป็นเปลือกแข็ง 1 คู่หุ้มลำตัวด้านบนที่นูนอยู่เหมือนสวมชุดเกราะ มีสีดำคล้ำหรือน้ำตาลเข้มที่เงางาม ขณะที่บางชนิดอาจมีสีอ่อนกว่าหรือแม้กระทั่งสีทองก็มี มีจุดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ มีอวัยวะบริเวณส่วนหัวที่งอกยาวออกมาคล้ายเขาจำนวนอย่างน้อย 1 คู่ อยู่ด้านบนและด้านล่างของส่วนหัว ซึ่งจะมีจำนวนและลักษณะสั้น-ยาวแตกต่างกันออกไปตามสกุลและชนิด ซึ่งพบมากที่สุดได้ถึง 5 เขา ขณะที่ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าและไม่มีเขา หรือมีแต่สั้นกว่ามาก มีผิวลำตัวที่ขรุขระหยาบและมีขีดร่องหรือเรียบกว่า จุดแทง ที่ส่วนปีกแข็งมาก ตามลำตัวในบางชนิดมีขนอ่อนคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองหรือสีน้ำตาลปกคลุมอยู่บริเวณใต้ท้องทั้งตัวผู้และตัวเมีย ขาคู่หน้ามีช่องที่อยู่ในแนวขวางสามารถบิดขยับได้ มีหนวดเป็นรูปใบไม้[2]
ประเภทด้วงกว่าง กว่างโซ้ง (ซ่ง) เป็นกว่างตัวผู้ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะดีที่สุด ตัวโต สง่างาม เขายาวและหนาทั้งข้างล่างข้างบน ลำตัวสีน้ำตาลแดง สีสันสวยงาม กว่างชนิดนี้มักจะส่งเสียง "ซี่ ๆ" ตลอดเวลา นิยมใช้ชนกัน ลักษณะของกว่างโซ้งที่ดีนั้น ต้องมีหน้ากว้าง กางเขาออกได้เต็มที่ เขาล่างจะยาวกว่าเขาบนนิดหน่อย ถ้าเขาล่างยาวกว่าเขาบนก็จะเรียกว่า "กว่างเขาหวิด" ถือว่าหนีบไม่แรง ไม่แน่น
กว่างกิ เป็นกว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น (กิแปลว่าสั้น) เขาบนจะออกจากหัวออกมานิดเดียว กว่างกิจะต่อสู้หรือชนกันโดยใช้เขาล่างงัดกัน แต่ไม่สามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ได้ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นกว่างชน กว่างกิมี 2 ชนิดคือ กว่างกิขี้หมู ซึ่งเป็นด้วงที่เกิดในบริเวณมูลสุกรเก่า ตัวเล็ก มักมีสีน้ำตาลแดง และ กว่างกิทุย เป็นกว่างกิที่มีตัวใหญ่ขนาดใกล้เคียงกับกว่างโซ้ง แต่เขาสั้นกว่า ลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำ (ทุย แปลว่า กระเทย หรือ ครึ่งๆ กลางๆ)
กว่างอีลุ้ม เป็นกว่างตัวเมียซึ่งเป็นเหยื่อล่อตามธรรมชาติ บางแห่งเรียกว่า กว่างแม่อู้ด กว่างแม่มด หรือ กว่างแม่อีดุ้ม กว่างตัวเมียนี้จะมีทั้งชนิดตัวเล็กและตัวใหญ่ มีทั้งสีน้ำตาลและสีดำ กินจุกว่ากว่างตัวผู้ ไม่มีเขา ปากมีลักษณะเป็นฝาสำหรับขุด ซึ่งจะขุดอ้อยให้เป็นแอ่งเห็นได้ชัด ปกติจะใช้กว่างแม่อีหลุ้มนี้เป็นตัวล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน กว่างตัวเมียนี้เมื่อผสมพันธุ์แล้ว จะขุดรูลงดินเพื่อวางไข่แล้วจึงตาย
รูปภาพด้วงกว่าง