ข. ประเภทตำนาน-พงศาวดารท้องถิ่น เอกสารประเภทนี้เป็นเพียงเอกสารชั้นรองที่ใช้ประกอบการศึกษากับหลักฐานประเภทอื่นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ พระราชพงศาวดาร / ตำนานพื้นบ้าน ตำนานศาสนา
- ประเภทพระราชพงศาวดารและตำนานพื้นบ้าน เช่น พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่สำคัญ น่าเชื่อถือที่สุดรวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2223) พงศาวดารเมืองน่าน(พงศาวดารล้านนาไทย) พงศาวดารโยนก เป็นต้น ประเภทตำนานศาสนา ได้แก่ ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา สิหิงคนิทาน เป็นต้น
หลักฐานประเภทนี้จัดเป็นเอกสารชั้นที่ 2 คือข้อความที่เขียนขึ้นภายหลังเหตุการณ์ โดยผู้เขียนมิได้เห็นเหตุการณ์และอาจเพิ่มเติมความเห็นส่วนตัวเข้าไปด้วย ดังนั้นการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร (ทั้งที่เป็นศิลาจารึก ใบลาน สมุดข่อยฯ) จึงจำเป็นต้องตรวจสอบและพิจารณาให้ดีเสียก่อน
ค. จดหมายเหตุจีน จดหมายเหตุจีนเป็นเอกสารสำคัญที่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าสนใจซึ่งอาจไม่พบในเอกสารอื่นเนื่องจากจีนเป็นชาติที่สนใจประวัติศาสตร์และราชสำนักจีนให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การบันทึกเหตุการณ์และวันเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นวันเวลาที่กล่าวถึงในจดหมายเหตุจีนจึงมีความน่าเชื่อถือสูง ข้อมูลอกสารจีนที่เกี่ยวกับสุโขทัยถือเป็นข้อมูลชั้นที่ 1 ซึ่งหมายถึงข้อความที่บันทึกหรือเล่าโดยผู้อยู่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้นๆ
หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หลักฐานโบราณคดีและหลักฐานทางศิลปกรรมประเภทต่างๆ, หลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม, ชุมชนโบราณ หลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรม ได้แก่ ก. สถาปัตยกรรม ข. ประติมากรรม ค. จิตรกรรม ง. เครื่องสังคโลก จ. ชุมชนโบราณ
สถาปัตยกรรม ก. เจดีย์ เจดีย์สุโขทัยแบ่งได้เป็น 1. แบบสุโขทัยแท้ ฐานเป็นสี่เหลี่ยม 3 ชั้นซ้อนกัน องค์เจดีย์เหลี่ยมย่อมุม ยอดเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือรูปดอกบัวตูม เช่น ที่วัดมหาธาตุ, วัดตระพังเงิน, พระเจดีย์องค์กลางที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย (รูป 2,3,4)
2. เจดีย์ทรงกลมหรือเจดีย์ทรงลังกา คงได้อิทธิพลมาจากเกาะลังกาพร้อมพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ตัวอย่างของเจดีย์แบบนี้ เช่น เจดีย์ที่วัดตะกวน, วัดสระศรี นอกจากนี้เจดีย์ช้างล้อมก็จัดอยู่ในประเภทนี้ (รูป 5,6,7)
3. เจดีย์แบบศรีวิชัย หรือ เจดีย์ทรงปราสาท คือเจดีย์ที่มีฐานและองค์ระฆังสูงทำเป็นสี่เหลี่ยม บางครั้งมีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูป ตอนบนเป็นพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา และเจดีย์องค์เล็กๆประกอบอยู่ที่มุม ตัวอย่างได้แก่ มณฑปวัดเขาใหญ่ และเจดีย์รายบางองค์ในวัดเจดีย์เจ็ดแถว ลักษณะของเจดีย์แบบนี้คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะศรีวิชัย แต่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าได้รับแบบอย่างมาจากศิลปะพม่าที่เมืองพุกาม (รูป 8,9,10)
เจดีย์อีกแบบหนึ่งที่พบในสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงจอมแห เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ส่วนบนของฐานมีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูป องค์ระฆังก่อเป็นริ้วคล้ายแห ได้แก่เจดีย์ที่เขาพระบาทน้อย (รูป 11)
ข. ปราสาทเขมร ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยมีอยู่สองแห่ง คือ ศาลตาผาแดง กับปราสาทสามหลังวัดศรีสวาย สร้างด้วยอิฐ ศาสนสถานทั้งสองเป็นปราสาทในศิลปะเขมร (รูป 12,13)
ค. ปรางค์ สถาปัตยกรรมสุโขทัยอีกประเภทหนึ่งคือ พระปรางค์ เป็นสถาปัตยกรรมที่รับอิทธิพลขอมแต่มีลักษณะทรวดทรงที่สูงชลูดขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น พระปรางค์ที่วัดศรีสวาย ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ และพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง (รูป 14-15)
ง. โบสถ์และวิหาร โดยทั่วไปวิหารสมัยสุโขทัยจะใหญ่กว่าโบสถ์ ผนังก็มักเจาะเป็นช่องลูกกรงเล็กๆแทนหน้าต่าง ตัวอย่างเช่น วิหารที่วัดนางพญา เป็นต้น (รูป 16)
จ. มณฑป (เรือนที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) เป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมอีกแบบหนึ่งในสมัยสุโขทัย มีลักษณะเป็นทรงแท่งสี่เหลี่ยม และมักมีพระพุทธรูปสี่อิริยาบถประดับที่ผนังด้านนอกทั้งสี่ด้าน ตัวอย่าง เช่น มณฑปวัดศรีชุม ผนังของมณฑปมี 2 ชั้น มีบันไดอยู่กลางซึ่งสามารถเดินขึ้นไปที่ด้านหลังพระพุทธรูปและหลังคาได้ (รูป 17)
มณฑปนี้ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสถาปัตยกรรมเมืองศรีสัชนาลัย มีรูปแบบพิเศษ คือ นิยมสร้างประตูทาง เข้าด้านหน้าโค้งแหลม (แบบโค้งกลีบบัว) มีซุ้มประตูซ้อน กัน 2 ชั้น แบ่งออกเป็น ก. มณฑปขนาดเล็ก – นิยมประดิษฐานพระพุทธรูป ปางมารวิชัย เช่น มณฑปวัดชมชื่น วัดกุฎีราย วัดสวนแก้วอุทยานน้อย (รูป 18,19,20)
ข. มณฑปขนาดใหญ่ – ประดิษฐานพระพุทธรูปปาง ลีลาหรือยืน เช่น มณฑปวัดพญาดำ วัดสระปทุม วัดหัวโขน