ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง กิจกรรม/โครงการที่ดำเนินงานโดยไม่ใช้งบประมาณปกติ
โครงการเลี้ยงปลาในพื้นที่น้ำเปรี้ยว ดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง
ประวัติความเป็นมา สืบเนื่องจากปลายปี 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมราษฎรพื้นที่บ้าน ปาตาตีมอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำพรุไหลบ่าเข้าพื้นที่เลี้ยงปลาของ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังบริเวณบ้านปาตาตีมอ ต.ตะลุบัน อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ งานประมง ศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำการศึกษาผลกระทบของน้ำพรุต่อการเลี้ยงปลาน้ำกร่อยเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ราษฎรศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทอง
ได้ขอความร่วมมือมายังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส โดยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบทำการศึกษาและวิจัยเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและวิธีการแก้ไขตลอดจนหารูปแบบการเลี้ยงที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โครงการนี้ใช้ชื่อเดิมว่า “โครงการทดลองเลี้ยงปลาน้ำกร่อย(ปลาร้องไห้)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2540 และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการเลี้ยงปลาในพื้นที่น้ำเปรี้ยว
วัตถุประสงค์ 1.เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่ออัตราการตาย และการรอดตายของปลากะพงขาวในแหล่งเลี้ยงที่มีน้ำเปรี้ยวไหลผ่าน 2.เพื่อศึกษาและทดสอบหารูปแบบ และวิธีการเลี้ยงปลากะพงขาวที่เหมาะสม ในพื้นที่ที่มีการไหลบ่าของน้ำเปรี้ยวผ่านแหล่งเลี้ยงปลาในกระชัง 3.เพื่อนำผลที่ได้รับจากการศึกษา ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาให้กับราษฎรผู้ประกอบอาชีพการเลี้ยงปลากะพงขาวในพื้นที่เป้าหมาย
พื้นที่ดำเนินการ พื้นที่บ้านละเวง ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 5 กลุ่ม รวมสมาชิกทั้งสิ้น 58 ราย ประกอบด้วย กลุ่มแปดราย มีจำนวนสมาชิกรวม 8 ราย กลุ่มศาลาใหม่ มีจำนวนสมาชิกรวม 14 ราย กลุ่มน้องใหม่ มีจำนวนสมาชิกรวม 13 ราย กลุ่มบางสาย มีจำนวนสมาชิกรวม 14 ราย กลุ่มหัวสะพาน มีจำนวนสมาชิกรวม 9 ราย
การติดตามผลโครงการฯและขยายผลการเลี้ยง พื้นที่บ้านละเวง ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี
ตั้งแต่ปี 2547- ปัจจุบัน ศูนย์ฯไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการต่อ แต่ศูนย์ฯยังคงสนับสนุนวัสดุสำหรับซ่อมแซมกระชังและพันธุ์ปลากะพงขาวขนาด 4-5 นิ้วทุกปีจนถึงปัจจุบัน ยกเว้น ปี 2552 ได้งดแจกพันธุ์ปลาเนื่องจากบริเวณที่ตั้งกระชังเลี้ยงมีการก่อสร้างสะพาน สมาชิกหยุดการเลี้ยงปลาชั่วคราว เมื่อสร้างสะพานแล้วเสร็จในปี 2553 สมาชิกจะกลับมาเลี้ยงปลาอีกครั้ง ศูนย์ฯก็ต้องดำเนินการสนับสนุนต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการในพระราชดำริฯ