เพลงกล่อมเด็กภาคใต้
ความหมายของเพลงกล่อมเด็ก เพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงร้องเพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและนอนหลับไปด้วยความอบอุ่น เนื้อเพลงมักแสดงถึง ความรัก ความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูกหรือเป็นทำนองที่ สั่งสอน เพลงกล่อมเด็กบางเพลงยังสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ความคิดและความเชื่อ(ประเทือง คล้ายสุบรรณ และคณะ ๒๕๑๒ : ๓๐)
เพลงกล่อมเด็กภาคใต้ เพลงกล่อมเด็กชาวใต้บางถิ่นเรียกว่าเพลงร้องเรือและเรียกการเห่กล่อมว่า ร้องเรือ แต่บางถิ่นเรียกว่าเพลงชาน้อง คำว่าชา มีความหมายว่า กล่อมขวัญ หรือสดุดี เช่น มีการชาขวัญข้าว (สดุดีแม่โพสพ) บางแห่งเรียกว่า เพลงน้องนอน ซึ่งหมายถึงเพลงกล่อมเด็กนั่นเอง แต่เพลงร้องเรือ กับเพลงเรือ นั้น หาเหมือนกันไม่
ฉันทลักษณ์ของเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ เพลงกล่อมเด็กภาคใต้โดยมาก ๑ บท จะมี ๙ วรรค แต่ละวรรคมีคำตั้งแต่ ๔-๗ คำ แต่ก็มีบางบทที่บางวรรค มี ๓ คำ และบางวรรคมีเกิน ๗ คำ จนถึง ๑๐ คำ ขึ้นไปก็มีและบางบทอาจมีความยาวถึง ๓๐ วรรคหรือมากกว่านั้น
ฉันทลักษณ์ของเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ ฮาเหอ...(ชื่อบท)...เหอ ๐๐...๗-๔คำ...๐ ๐๐...๗-๔คำ...๐ ๐๐...๗-๔คำ...๐ ๐...มักซ้ำกับวรรคที่ ๔..๐ ๐๐๐๐๐ เหอ (๐๐๐๐ เหอ...๐)
ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคใต้
ฮาเอ้อ คือแม่ เหอ คือแม่มิ่งฟ้า คู่บุญราชา แม่ของแผ่นดิน เมตตาอาทร ราษฎรทุกถิ่น อย่าให้ได้ยิน ที่ไหนลำบาก แม่ทรงประทาน โครงการไว้มาก เป็นสิ่งไม่ยาก ให้ลูกสืบสาน ลูกขอยอไหว้ ที่แม่ให้ทาน ปวงชนเบิกบาน เพราะบ้านมีแม่ เหอ
ประโยชน์จากเพลงกล่อมเด็ก เพลงกล่อมเด็กเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมในแง่ต่าง ๆ เช่น ความเชื่อ ความคิดเห็น ภูมิปัญญา ภูมิธรรม ๒. เพลงกล่อมเด็กสะท้อนให้เห็นประเพณี วัฒนธรรม อันเป็นเครื่องปรุงแต่งสังคม และเห็นสภาพความเจริญทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ ซึ่งมักแทรกปนอยู่ในถ้อยคำ ที่นำมาเปรียบเทียบ ๓. เพลงกล่อมเด็กให้ความรู้เรื่องศัพท์ภาษาถิ่น สำนวนโวหารตลอดจนแนวทางแสดงความคิดออกมาอย่างมีศิลปะ เช่น การใช้โวหารในบทเพลงกล่อมเด็ก ให้ฟังได้รสทางภาษาเข้าใจง่าย ๔.เป็นการสืบทอดวรรณคดีมุขปาฐะให้คงอยู่สืบไป
สรุป เพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงที่ใช้ขับกล่อมให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน จำนวนวรรคของเพลงกล่อมเด็กอาจมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ความนิยมของแต่ละท้องถิ่นการเลือกสรรคำขึ้นต้นเพลงมักเอาสิ่ง ใกล้ตัวมาเกี่ยวโยงกับการดำเนินชีวิตทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม และถ้าใช้สัญลักษณ์ใดก็ตาม เมื่อเอาไปใช้อีกมักจะยังคงความหมายเดิมหรือความหมายที่ใกล้เคียงกันแต่อาจใช้คำที่ผิดเพี้ยนเนื่องจากสำเนียงในการพูดที่ต่างกันหรือจงใจแต่งขึ้นมาใหม่ก็อาจเป็นได้
จัดทำโดย นายอาณัฐ เพชรแก้ว นักศึกษาหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี