จิตรกรรม จิตรกรรมสมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่เล่าเรื่องทางศาสนาเป็นลักษณะการเขียนภาพแบบอุดมคติ เช่น ภาพอดีตพุทธเจ้า ประทับยืนเรียงรายเป็นแถว แต่ละองค์คั่นสลับด้วยภาพบุคคลชั้นสูงประทับอัญชลี จิตรกรรมในผนังคูหาเจดีย์รายหมายเลข 33 วัดเจดีย์เจ็ดแถว ถือว่าเป็นภาพระบายสีที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้ยังปรากฏภาพลายเส้นจารบนแผ่นหินชนวน อยู่ในอุโมงค์วัดศรีชุม จำนวนไม่น้อยกว่า 60 แผ่น เป็นเรื่องราวชาดกต่างๆ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากศิลปะลังกาสมัยโปลนนารุวะ (รูป 43 )
เครื่องสังคโลก ในสมัยสุโขทัยมีการทำเครื่องถ้วยชามดินเผาเคลือบที่เรียกว่า เครื่องสังคโลก ซึ่งคงได้รับแบบอย่างมาจากช่างจีน และขอม ทั้งยังได้ส่งไปขายเป็นสินค้าออกไกลๆ เช่น ที่เกาะญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จนกระทั่งถึงเกาะบอร์เนียว นอกจากเครื่องถ้วยชามแล้ว ยังมีการทำเครื่องเคลือบเป็น ตุ๊กตาสังคโลก ทวารบาล และ ส่วนประกอบสถาปัตย กรรม หรือเครื่องตกแต่งโบสถ์วิหารด้วย เช่น ปั้นลมสังคโลก
รูปเทพนม และนาคหรือมกรสังคโลกประดับมุมชายคา หรือมุมล่างของจั่ว บราลีใช้ประดับสันหลังคา ปลอกสี่เหลี่ยมสำหรับสวมครอบหัวอกไก่ หัวขื่อ หัวแปเพื่อกันน้ำฝน แหล่งเตาผลิตสังคโลก หรือแหล่งเตาที่มีชื่อเสียงในสุโขทัยตั้งอยู่ริมแม่น้ำโจนข้างวัดพระพายหลวง และแหล่งเตาที่เมืองศรีสัชนาลัย ที่บ้านเกาะน้อยและบ้านป่ายาง (รูป 44-53 )
เตาเผาสังคโลก แหล่งเตาสุโขทัย – อยู่ทางตอนเหนือของเมืองเก่าสุโขทัยนอกกำแพงเมือง ใกล้กับวัดพระพายหลวง มีแหล่ง เตาสังคโลกอยู่เรียงรายตามลำน้ำโจนเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เท่า ที่สำรวจพบแล้วมีมากกว่า 50 เตา แหล่งเตาเผาศรีสัชนาลัย – อยู่นอกกำแพงเมืองโบราณศรีสัชนาลัยไปทางเหนือ มีเตาเผาเครื่องสังคโลกที่เรียกว่า เตาทุเรียงเรียงรายเป็นกลุ่มใหญ่ในบริเวณสองหมู่บ้าน คือ บ้านป่ายางและบ้านเกาะน้อย
- กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง อยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ห่างจากตัวเมืองศรีสัชนาลัยไปทางเหนือประมาณ 500 เมตร เป็นกลุ่มเตาเผาสังคโลกประมาณ 21 เตา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเตายักษ์ และกลุ่มเตาตุ๊กตา (ที่เรียกกลุ่มเตายักษ์ เนื่องจากมีเตาเผาจำนวนหนึ่งพบชิ้นส่วนของยักษ์ซึ่งเป็นส่วนประดับตกแต่งอาคาร เช่นเดียวกับกลุ่มเตาตุ๊กตา เนื่องจากได้พบชิ้นส่วนประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็ก รูปบุคคลและรูปสัตว์เป็นจำนวนมาก) เตาที่พบเป็นประเภท เตาประทุน อายุของเตากลุ่มนี้นี้อยู่ในรุ่นหลังกว่าเตาบ้านเกาะน้อย
- กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย ห่างจากแหล่งเตาเผาบ้านป่ายางไปทางเหนือประมาณ 4 กม. กลุ่มเตาเผานี้ประกอบด้วยเตาเผาไม่น้อยกว่า 200 เตา ประเภทของเตากลุ่มนี้เป็นเตาประทุนและเตาตะกรับ
ประเภทของเตาเผาสังคโลก เตาประทุน มีรูปร่างรีก่อหลังคาโค้งคล้ายประทุนเรือ โครงสร้างของเตาก่อด้วยอิฐทั้งหมด แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ ส่วนช่องใส่ไฟ ส่วนห้องบรรจุภาชนะ และส่วนปล่องไฟ เตามีขนาดต่างๆกัน ยาวระหว่าง 4-12 เมตร กว้างระหว่าง 2-5 เมตร เตาชนิดนี้ให้ความร้อนสูงและควบคุมอุณหภูมิได้ โดยความร้อนจะไหลผ่านขึ้นมาจากระดับต่ำสุด คือบริเวณหน้าเตาที่เป็นช่องสำหรับลำเลียงภาชนะเข้าออก และเติมเชื้อเพลิง แล้วไหลไปออกปล่องไฟซึ่งเป็นส่วนที่สูงที่สุดของเตา
ลักษณะที่ความร้อนไหลเช่นนี้เป็นการไหลในแนวนอนที่ลาดเอียง ทำให้เรียกเตาเผาประเภทนี้ว่า เตาระบายความร้อนในแนวนอน (Crossdraft or Horizontal Kiln) หรือเรียกง่ายๆตามรูปทรงของเตาว่า เตาประทุน เนื่องจากเตาประเภทนี้ให้ความร้อนสูงได้ถึง 1000-1250 องศาเซลเซียส และสามารถควบคุมอุณหภูมิได้จึงใช้เผาพวกเครื่องเคลือบและภาชนะประเภทเนื้อแกร่ง (รูป 54-56 )
เตาตะกรับ เป็นเตาเผาขนาดเล็กให้ความร้อนไม่เกิน 900 องศาเซลเซียส รูปร่างที่พบมีทั้งทรงกลมและทรงสี่เหลี่ยม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 1-2 เมตร แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดตามวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง คือ อิฐ และดินเหนียว เตาประเภทนี้ความร้อนจะไหลผ่านจากห้องใส่ไฟไปสู่ห้องบรรจุภาชนะในระดับแนวดิ่ง (Updraft Kiln) จึงทำให้เรียกชื่อเตาชนิดนี้ตามลักษณะการไหลของความร้อนว่า เตาระบายความร้อนในแนวดิ่ง หรือเรียกชื่อตามลักษณะแผ่นตะกรับ (ภาพ 57)
เตาประเภทนี้เหมาะสำหรับเผาภาชนะประเภทเนื้อเครื่องดิน เช่น กระเบื้องและหม้อซึ่งไม่ต้องใช้ความร้อนสูงมากนัก กลุ่มเตาบ้านเกาะน้อยมีอายุเก่ากว่ากลุ่มเตาบ้านป่ายาง เตาหลอมโลหะ นอกจากเตาสองประเภทที่กล่าวมาแล้ว ยังได้พบเตาหลอมโลหะขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไปทางตอนเหนือของบ้านเกาะน้อย