โครงการพัฒนาดัชนีการเกษียณอายุข้าราชการและพนักงานของรัฐ: รายงานเบื้องต้น โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักการและเหตุผล สังคมไทยกำลังเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงวัย” จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ทำให้ “อัตราการพึ่งพิง” (dependency ratio) เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับสภาพที่กำลังเกิดขึ้น จึงควรมีการศึกษาเกี่ยวกับดัชนีการเกษียณอายุ นอกจากนี้ ผู้สูงวัยในปัจจุบันยังสามารถทำงานได้ล่วงเลยอายุที่เคยกำหนดให้เป็นอายุเกษียณแต่เดิม
การศึกษาในรอบสองเดือน โครงการได้ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการพัฒนาดัชนีการเกษียณอายุจากแหล่งต่างๆ กำลังจัดเตรียมการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น และนำเสนอผลการศึกษาเพื่อขอความแนะนำ ฯลฯ เพื่อสรุปเป็นแนวนโยบายและผลการศึกษา ในเดือนธันวาคมนี้
รายงานของ Cato Institute ในปี ค.ศ. 2004 วุฒิสภาของสหรัฐฯได้มอบหมายให้สถาบัน Cato ทำการศึกษาเกี่ยวกับการกำหนดอายุเกษียณตายตัว (mandatory retirement age) ผลการศึกษาพบว่า รัฐบาลควรค่อยยกเลิกการกำหนดอายุเกษียณดังกล่าว และให้การว่าจ้างข้าราชการเป็นไปตามสัญญาจ้าง
หากข้าราชการยังสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพดี ก็ควรจะจ้างต่อไป แต่ก็มีมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ข้าราชการสามารถเลือกตัดสินใจได้เองว่า เมื่อใดควรจะเกษียณอายุตนเอง
การบังคับอายุเกษียณ ในอดีตการกำหนดอายุเกษียณตายตัวมีความจำเป็น เนื่องจากพัฒนาการทางสาธารณสุขยังไม่ดีเพียงพอ ทำให้คนอายุตั้งแต่หกสิบปีขึ้นไป ไม่สามารถทำงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป แต่ปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว นอกจากนี้ ปัจจุบันก็ยังมีเครื่องมือช่วยเหลือต่างๆ เช่นเทคโนโลยี ฯลฯ ที่ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างดี แม้อายุจะมากขึ้น
นอกจากนี้ การที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง ก็ทำให้การหาบุคลากรมาทดแทนผู้ที่เกษียณอายุออกไปทำได้ยากขึ้น ในสหรัฐฯมีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยอายุ (Anti-age Discrimination) ซึ่งหมายความว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกการจ้าง หรือไม่รับพนักงานเข้าทำงาน ด้วยเหตุเรื่องอายุเท่านั้น กฎหมายนี้ทำให้การกำหนดอายุเกษียณตายตัวไม่จำเป็นนัก เพราะบริษัทจำเป็นต้องมี package เพื่อจูงใจให้พนักงานเกษียณอายุ
ข้อควรระวัง อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ก็ได้เตือนไว้ว่า การยกเลิกการกำหนดอายุเกษียณตายตัวไปเลยในทันที อาจก่อให้เกิดผลเสีย ตัวอย่างได้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐฯ ที่ได้ยกเลิกอายุเกษียณไปในทันที ทำให้คณาจารย์อยู่กันจนอายุมากๆ เกิดปัญหาแรงงานไม่หมุนเวียน และตลาดแรงงานอาจารย์หดตัวลงอย่างมาก สิ่งสำคัญก็คือ ในสายตาของผู้รายงาน อาจารย์มหาวิยาลัยไม่มีการประเมินผลงาน ทำให้อยู่ไปได้เรื่อยๆโดยไม่จำเป็นต้องทำอะไรมาก ซึ่งทำให้เกิดผลเสียแก่หน่วยงานโดยรวม
ข้อเสนอ ผู้รายงานได้เสนอว่า ควรค่อยๆยกเลิกการกำหนดอายุเกษียณเป็นระยะๆ แทนที่จะยกเลิกไปเลย และมีมาตรการทดแทนที่เหมาะสม ได้แก่ package เกี่ยวกับการจูงใจให้เกษียณตนเอง
ทางเลือกสำหรับประเทศไทย ในอนาคต ประเทศไทยอาจตัดสินใจยกเลิกการกำหนดอายุเกษียณตายตัว โดยอาจค่อยๆทำไปเช่นเดียวกับที่รายงานนี้เสนอ ก่อนถึงเวลานั้น ก็อาจมีการกำหนดดัชนีการเกษียณอายุ โดยพิจารณาถึงลักษณะของสาขาอาชีพต่างๆของข้าราชการและพนักงานของรัฐ ซึ่งโครงการนี้จะพัฒนาต่อไป