การสังเกต อ.สมพงษ์ พันธุรัตน์
การสังเกต เป็นการค้นหาความจริงของพฤติกรรมบุคคลที่เกิดขึ้นในทันทีทันใด โดยอาจเลือกศึกษาจากพฤติกรรมที่บุคคลเหล่านั้นแสดงออกบ่อยๆ จนเป็นปกติวิสัย หรือกรณีพิเศษก็ได้ เป็นการแสวงหาความจริงของปรากฏการณ์ โดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้งหลายของผู้สังเกตโดยตรง จำเป็นต้องมีเงื่อนไข หรือข้อกำหนดบางประการสำหรับการสังเกตแต่ละครั้ง ซึ่งได้แก่ ความตั้งใจ (Attention) ความไวในการใช้ประสาทสัมผัสหรือผัสสะ (Sensation) ความไวในการรับรู้หรือสื่อความหมาย (Perception)
ลักษณะการสังเกตที่ดี เป็นการสังเกตเพื่อตอบปัญหาการวิจัย มีการกำหนดไว้แน่ชัดว่าจะสังเกตอะไร (สังเกตอะไร สังเกตใคร) มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดขอบเขตของปัญหา และทราบเป้าหมายที่แน่นอนของการวิจัยครั้งนั้นๆ นั่นคือ ผู้สังเกตต้องสามารถเลือกพฤติกรรมหลักที่ต้องการสังเกต ต้องสามารถนิยามพฤติกรรมเหล่านั้นได้แจ่มชัดว่า พฤติกรรมนั้นคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ต้องการสังเกตไปเพื่ออะไร จะเกิดประโยชน์อย่างไร ซึ่งสามารถทำได้โดยการกำหนดขอบเขตของเรื่อง ของพื้นที่ และของเวลา (สังเกตที่ใด สังเกตแค่ไหน สังเกตเมื่อไหร่ ) มีการบันทึกเป็นหมวดหมู่ หรือมีการแปลงเป็นตัวเลขเพื่อให้สามารถนำไปคำนวณได้เป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกับข้อเสนอทั่วไปได้ (สังเกตอย่างไร) ผู้สังเกตต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะสังเกต หรือมีการแสวงหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ มาก่อนที่จะสังเกตสิ่งนั้น (ความถูกต้อง_Validity) ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตต้องสามารถทำซ้ำ และนำมาตรวจสอบกับคนอื่นๆ ได้ (ความเชื่อถือได้_Reliability)
ข้อดี สามารถบันทึกเหตุการณ์ หรือพฤติกรรมในขณะที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะได้ข้อเท็จจริงถูกต้องกว่าการสอบถามผู้รู้ในภายหลัง เพราะอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากผู้ให้สัมภาษณ์ลืมเหตุการณ์นั้นแล้ว สามารถบันทึกได้ว่าทำไมจึงเกิดสถานการณ์เช่นนั้น ทำไมจึงเกิดพฤติกรรมเช่นนั้น สามารถรวบรวมข้อมูลจากบุคคลที่ไม่สามารถให้คำตอบได้โดยเฉพาะ การได้มาซึ่งข้อมูลยังขึ้นอยู่กับความเต็มใจของบุคคลที่จะให้ข้อมูลด้วย ในบางกรณีที่บุคคลไม่ยอมให้ข้อมูล หรือต่อต้านการวิจัยเพราะไม่มีเวลา หรือไม่ยอมสัมภาษณ์ ในกรณีเช่นนี้ต้องอาศัยการสังเกตโดยตรง เพราะจะช่วยลดปัญหาการขอความช่วยเหลือจากบุคคลไปได้
ข้อเสีย การสังเกตบางอย่างไม่อาจทำได้ตามที่ต้องการ จะต้องรอคอยจนกว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น เช่น พิธีแต่งงาน น้ำท่วม เป็นต้น การสังเกตโดยตรงด้วยวิธีการสัมภาษณ์ จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่า พฤติกรรมบางอย่างไม่เปิดโอกาสให้สังเกตได้ เช่น ความสัมพันธ์ทางเพศ ฯลฯ การสังเกตยังถูกจำกัดด้วยเงื่อนเวลา เนื่องจากระยะเวลาของเหตุการณ์ เช่น เราไม่สามารถสังเกตประวัติชีวิตของบุคคลได้โดยตรง การสังเกตให้ข้อมูลในเชิงคุณภาพ การจะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสถิติจึงต้องเพิ่มเทคนิคพิเศษเข้าไป มิฉะนั้นนักวิจัยก็จะได้แต่เพียงอธิบายลักษณะทั่วไปของข้อมูลเท่านั้น การสังเกตมีปัญหาเรื่องความเชื่อถือได้ของข้อมูล การที่นักวิจัยสร้างความสัมพันธ์กับคนหรือกลุ่มที่ตนศึกษามากหรือน้อย อาจจะมีผลทำให้ข้อมูลที่ได้มีอคติในบางเรื่อง
คุณสมบัติของผู้สังเกต ผู้สังเกตต้องมีประสาทสัมผัสที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ผู้สังเกตต้องมีความสามารถที่จะจดบันทึกเหตุการณ์ได้รวดเร็ว และถูกต้อง ผู้สังเกตต้องมีความตื่นตัวอยู่เสมอ ผู้สังเกตต้องสามารถควบคุมความลำเอียงส่วนตัว ผู้สังเกตต้องมีเครื่องมือสำหรับจดบันทึกข้อมูล
ข้อแนะนำสำหรับผู้สังเกต ต้องรู้จักแสวงหาความรู้ในเรื่องที่จะสังเกตให้มากที่สุด ก่อนสังเกตควรทบทวน อ่านหัวข้อย่อๆ ของเรื่องที่จะไปสังเกตให้แม่นยำขึ้นใจ เพื่อจะได้สังเกตตรงตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย เตรียมเครื่องมือจดบันทึกข้อมูลให้เรียบร้อย การสังเกตควรกระทำอย่างระมัดระวังตั้งใจ พยายามขจัดความกังวลใจ และสิ่งรบกวน ก่อนจะไปสังเกต ควรเตรียมสภาพร่างกาย และเครื่องมือให้พร้อม ต้องตัดสินใจว่าจะสวมบทบาทใดในหลายบทบาทที่ต้องเลือก
ระบบการสังเกต เนื้อหาของการสังเกต การบันทึกการสังเกต การเพิ่มความเชื่อถือได้จากการสังเกต ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สังเกตกับผู้ถูกสังเกต
เนื้อหาของการสังเกต ผู้ที่มีส่วนร่วม (The Participants) ที่ตั้ง (The Setting) จุดมุ่งหมาย (The Purpose) พฤติกรรมทางสังคม (The Social Behavior) ความถี่และระยะเวลา (Frequency and Duration)
การบันทึกการสังเกต บันทึกข้อมูลควรจะกระทำทันทีในขณะที่กำลังสังเกต หรืออยู่ในเหตุการณ์นั้น เพราะจะทำให้สามารถได้ข้อมูลที่ครบถ้วน แอบจดบันทึกไว้ในกระดาษแผ่นเล็กๆ หรือบันทึกเสียงด้วยอุปกรณ์เล็กๆ โดยไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้สึกตัว เมื่อกลับที่พักหรือช่วงเวลาว่างก็ให้รีบจดบันทึกรายละเอียดให้ได้มากที่สุดโดยระบุวันเวลาที่สังเกต และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
การเพิ่มความเชื่อถือได้จากการสังเกต ประสบการณ์ และความสามารถของผู้สังเกต การเลือกใช้เครื่องมือทุ่นแรงและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสม ให้มีผู้สังเกตการณ์มากกว่า 1 คน จัดหมวดหมู่การบันทึกอย่างเป็นระบบ
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สังเกตกับผู้ถูกสังเกต ผู้สังเกตต้องตัดสินใจว่าจะเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าตนเองเป็นนักวิจัย หรือจะใช้วิธีปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าเป็นนักวิจัยจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดทำให้มีโอกาสได้ข้อมูลมากกว่า แต่ในบางสถานการณ์การปลอมตัวก็อาจจะเป็นวิธีการที่ทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความจริงมากกว่า ผู้สังเกตควรจะสร้างมิตรภาพกับผู้ถูกสังเกต โดยการสร้างความสัมพันธ์ทีละเล็กทีละน้อย อย่าทำอย่างรวดเร็ว และไม่ควรเสนอตัวกับผู้ที่เราจะสังเกตมากนัก ควรพยายามทำความรู้จักอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ผู้ถูกสังเกตไว้ใจ