การอำนวยความเป็นธรรมทางอาญาของพนักงานฝ่ายปกครอง นายทศพล เผื่อนอุดม (จพง.ปค.ชำนาญการพิเศษ) หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบการสอบสวนคดีอาญา
คดีอาญา หมายถึง คดีที่เกี่ยวกับความผิดและมีโทษซึ่งกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติต่างๆ ที่มีโทษทางอาญา เช่นความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน พระราชบัญญัติจราจรทางบก เป็นต้น ซึ่งโทษทางอาญานั้นมีอยู่ ๕ ประการด้วยกัน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน (ม.๑๘)
ประเภทของคดีอาญา นั้นแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ (๑) คดีอาญาแผ่นดินหรือคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ เช่น คดีฆ่าคนตายหรือคดีลักทรัพย์ และคดีอาญา (๒) คดีอาญาที่เกี่ยวกับความผิดต่อส่วนตัว หรือคดีอาญาที่สามารถยอมความกันได้ เช่น คดียักยอกทรัพย์ เป็นต้น
คดีแพ่ง คดีแพ่ง คือ คดีที่มีการโต้แย้งสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง เช่น การฟ้องให้ผู้กู้ชำระเงินตามสัญญากู้ หรือการฟ้องให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการฟ้องคดีแพ่งมุ่งให้จำเลยชำระเงิน หรือ ชดใช้ค่าเสียหาย มิได้มุ่งจะให้จำเลยต้องถูกลงโทษ เช่น จำคุก ตามกฎหมายอาญา คดีแพ่ง นอกจากเป็นเรื่องพิพาทกันดังกล่าวแล้ว อาจเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลเพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิของตน เช่น การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท
กระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ กระบวนการนับแต่มีการกระทำความผิดอาญาเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยผ่ากระบวนการหา/ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากองค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่การสอบสวน การฟ้องร้อง การพิจารณา/พิพากษา ตลอดจนการบังคับโทษภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
องค์กรต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ก. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ = บังคับใช้กฎหมาย , จับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ข. พนักงานสอบสวน (ฝ่ายปกครอง/ตำรวจ/กคพ/ปปช/ปปง/ปปส) = รวบรวมพยานหลักฐาน สรุปสำนวน ส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการ ค. อัยการ = ฟ้องคดี ดำเนินคดีว่าความในชั้นศาล ง. ศาล = พิจารณาพิพากษาคดี จ. ราชทัณฑ์ = ควบคุมตัวจำเลยตามพิพากษา
การทบทวนกลุ่มอำนาจหน้าที่ด้านอำนวยความเป็นธรรมทางอาญาของพนักงานฝ่ายปกครอง (๑) อำนาจในการสืบสวน ตรวจค้น จับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายในเขตอำนาจรับผิดชอบของพนักงานฝ่ายปกครอง ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑๖) (๑๗) มาตรา ๑๗ มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๐ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗
(๒) อำนาจในการไกล่เกลี่ยทางอาญาของนายอำเภอหรือปลัดอำเภอที่นายอำเภอมอบหมาย กรณีความผิดอันยอมความได้ มิใช่เป็นความรับผิดเกี่ยวกับเพศ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๖๑/๓ (๓) อำนาจการชันสูตรพลิกศพคดีวิสามัญฆาตกรรม ของพนักงานฝ่ายปกครอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคสาม
(๔) อำนาจในการสอบสวนคดีอาญาของพนักงาน ฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ และปลัดอำเภอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑๑) (๑๖) มาตรา ๑๘ มาตรา ๒๑ มาตรา ๑๔๐ ซึ่งบทบาทในการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานฝ่ายปกครองนั้นแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ
(๔.๑) กลุ่มงานสอบสวนที่พนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้ปฏิบัติงานหลัก (line function)หรือผู้รับผิดชอบในคดีอาญาบางประเภทที่เป็นความผิดทางปกครองหรือความผิดเล็กน้อยไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรงมีอัตราโทษไม่สูง (mala prohibita) เพื่อแบ่งเบาภาระการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเพื่อให้การทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญาที่เป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรงและคดีที่มีอัตราโทษสูงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (mala in se) เช่น - การสอบสวนตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเปรียบเทียบและการสอบสวนคดีละเมิดข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๗ - การสอบสวนตามกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๔ ตามกฎหมาย ๑๙ ฉบับ
(๔.๒) กลุ่มงานสอบสวนที่พนักงานฝ่ายปกครองเข้าไปร่วมตรวจสอบถ่วงดุล (check & balance) ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น - การร่วมสอบสวนกรณีที่ข้าราชการส่วนภูมิภาค ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ต้องหาคดีอาญาตามข้อบังคับ มท ที่ ๑/๒๕๐๙ ลงวันที่ ๑ ก.พ. ๒๕๐๙ ข้อ ๑๓ - การเข้าควบคุมการสอบสวนหรือร่วมสอบสวนตามนโยบายของรัฐบาลในคดีเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรของชาติอื่น ๆ ตาม นส.มท ๐๒๐๗/ว ๙๘๑ ลว. ๒๖ ก.ค.๒๕๓๒
- กรณีราษฎรขอความเป็นธรรม ตาม นส.มท ๐๓๐๗.๑/ว ๓๗๒๙ ลว. ๙ พ.ค. ๒๕๔๗ - คดีวิสามัญฆาตกรรม ตาม นส.มท ๐๓๐๗.๑/ว ๑๐๘ ลงวันที่ ๔ ม.ค. ๒๕๕๑ ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ ๑๒.๔ และ ข้อ ๑๒.๕
- อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการพิจารณาสำนวนคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ฆ่าตายหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๓ วรรคท้าย และหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส ๐๐๒๓/๑๓๗๒๐ ลงวันที่ ๒๖ ก.ย. ๒๕๕๐ และหนังสือ มท ที่ ๑๙๘๕๐/๒๕๐๑ ลงวันที่ ๑๒ ธ.ค. ๒๕๐๑
(๕) อำนาจในการพิจารณาสำนวนชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญาของผู้ว่าราชการจังหวัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๖ (๖) อำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองพยานในอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๕๑
(๗) อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการคำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ ถอนฎีกาของพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕
จบการบรรยาย -สวัสดี-