กฎหมายสิ่งแวดล้อม : การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร
1.หลักการและแนวทางการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ในส่วนนี้จะบรรยายถึงหลักการต่างๆในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักการเหล่านี้บางส่วนได้รับการยอมรับในกฎหมายไทย บางส่วนยังไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งหลักการเหล่านี้มีความสำคัญต่อการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ต้องมีการ พัฒนาหลักการแลแนวทางการฟ้องคดีที่กว้างขวางมากขึ้น 1.หลักทรัสต์ต่อมหาชน (Public Trust Doctrine) หลักการนี้มีที่มาจากกฎหมายโรมันที่มีเนื้อหาว่า ทรัพยากรเป็นสมบัติร่วมกันของมหาชน เช่น อากาศ น้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐเก็บรักษาเป็นทรัสต์ไว้แทนมหาชน เมื่อมีการก่อความเสียหายแก่ทรัพยากรจึงเป็นการ กระทบกระเทือนต่อประโยชน์มหาชน ประชาชนจึงสามารถเข้าร่วมปกป้องรักษาได้ เท่ากับว่า ประชาชนทุกคนเป็นผู้ได้รับความ เสียหาย จากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจึงยอมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติได้ ไม่ว่าจะเป็น การฟ้องเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ เดิมผู้มีสิทธิฟ้องคดีใช้หลักกฎหมายแพ่งคือต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายเท่านั้น หลักการนี้นำมาบัญญัติเป็นกฎหมาย Michigan Environmental Protection Act of 1970 ยินยอมให้ประชาชนในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม สามารถฟ้องเอกชนหรือหน่วยงานรัฐได้
2.การฟ้องคดีโดยประชาชน (Citizen Suits) เป็นหลักการที่กำหนดขึ้นให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการฟ้องหน่วยงานรัฐหรือผู้ก่อมลพิษหรือผู้กระทำการ ใดๆที่ฝ่าฝืนกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนที่ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายก็มีสิทธิฟ้อง คดีได้ อย่างไรก็ตามการฟ้องคดีโดยประชาชนตาม The National Environmental Policy Act (NEPA) ไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย แต่หลักๆแล้วเป็นการฟ้องหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการ บังคับกับผู้ก่อมลพิษหรือการดำเนินคดีอาญากับผู้ก่อมลพิษเป็นหลัก นอกจากนี้หลักการนี้ยังขยายไปยังนิติ บุคคล สมาคม มูลนิธิหรือกลุ่มบุคคลที่จะใช้สิทธิในการฟ้องคดีแม้จะไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแต่ก็สามารถ ใช้สิทธิฟ้องคดีในฐานะตัวแทนผลประโยชน์ของสมาชิกดังกล่าวฟ้องคดี
3.การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ส่วนใหญ่ในคดีสิ่งแวดล้อมจะมีผู้เสียหายจำนวนมาก การฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้นจะช่วยความยุติธรรมกับผู้เสียกายได้อย่างกว้างขวาง หลักการ ดำเนินคดีแบบกลุ่มมีพัฒนาการจาก The Court of Chancery ที่วางหลักให้การตัดสินคดีมีผลผูกพันร่วมกัน หลักการจึงมีอยู่ว่า เป็นกระบวนการที่บุคคลหนึ่งหรือหลายคนดำเนินกระบวนการพิจารณาในฐานะส่วนตัวและตัวแทนของผู้อื่น โดยข้อเรียกร้องนั้นมาจาก ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเดียวกัน ผู้ที่ดำเนินคดีมีฐานะเป็นคู่ความซึ่งเป็นตัวแทน (Representation party) ส่วนกลุ่มบุคคล ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม (Class members) จะไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาด้วยและไม่ได้มีฐานะเป็นคู่ความ จะต้องผูกพันตามคำพิพากษาของ ศาล ในประเทศสหรัฐอเมริกาการดำเนินคดีแบบกลุ่มปรากฏในกฎหมาย Federal Rule of Civil Procedure (FRCP) ที่นำไปใช้กับ คดีแพ่งทุกคดี ซึ่งมีเงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1.สมาชิกของกลุ่มมีจำนวนมาก (Numerous)และการเข้ามาร่วมกันในคดีเป็นสิ่งที่ยาก (Impracticable) 2.มีปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงชนิดเดียวกันในกลุ่ม (Common question of fact or law) 3.ข้อเรียกร้องหรือข้อต่อสู้เป็นข้อเรียกร้องหรือข้อต่อสู้ประเภทเดียวกันของกลุ่ม (Typical of claim or defense) 4.คู่ความหรือผู้แทนคดีสามารถป้องกันผลประโยชน์ของสมาชิกในกลุ่มอย่างเป็นธรรมและเพียงพอ (Fairly and adequately protect the interest)
4.การใช้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter-Pays Principle) มีการอธิบายในสองความหมาย คือ 1.ความหมายในฐานะเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ผลักภาระ ให้ผู้ก่อมลพิษต้องเอาต้นทุนการใช้สิ่งแวดล้อมมาอยู่ในบัญชีต้นทุนการก่อมลพิษ หมายความว่า สินค้าที่อาจ ก่อมลพิษจะต้องถูกคำนวณค่าการบำบัดเยียวยาไว้ในต้นทุน เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ประเภท ยางรถยนต์ น้ำมันเครื่อง คอมพิวเตอร์ หลอดไฟ ฯลฯ (product surcharges) ในการกำจัดของเสีย อย่างปลอดภัย (safe disposal) ต่อมาได้พัฒนาหลักการนี้เป็น User-pays-Principle)ที่มี ความหมายกว้างมากขึ้น 2.ความหมายในทางกฎหมาย หมายความว่า ผู้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่ผู้เสียหายได้เรียกร้องมีการชดใช้และสำหรับการฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมที่เสียไป (พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมฯ มาตรา 96 และมาตรา 97)
5.หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) หลักความรับผิดโดยเคร่งครัดในกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ศาลสูงประเทศอังกฤษวางไว้เป็นคดีแรก คือ คดี Rylands v. Fletcher 1868 ที่พิจารณาเรื่องความรับผิดอย่างเคร่งครัด ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่อง ความผิดของผู้กระทำ (Liability without Fault) ซึ่งหมายความว่า เมื่อความเสียหายเกิดจากผู้ถูก กล่าวหา ความรับผิดของผู้ถูกกล่าวหาต่อผู้เสียหายจะเกิดขึ้นทันที โดยไม่ต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่ เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ และแม้ว่าจะเป็นการกระทำโดยสุจริตตามปกติแห่งการ ดำเนินภารกิจ หากว่าโดยสภาพของกิจการนั้นเป็นอันตรายผิดปกติธรรมดาหรืออาจเสี่ยงก่อความเสียหาย แล้ว ก็ถือเป็นความรับผิดทันที ในกฎหมายไทยกำหนดหลักการนี้ไว้ในพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมฯ มาตรา 96 ว่า โจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ถึง ความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการ กระทำของผู้ก่อมลพิษ
2.การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดหลักการไว้ในมาตรา 96 และมาตรา 97 ดังนี้ มาตรา 96 “แหล่งกำเนิดมลพิษก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็น เหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัยหรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหาย ด้วยประการใดๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือ ค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายภาวะมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือ ประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่ามลพิษเช่นนั้นเกิด จาก (1)เหตุสุดวิสัยหรือสงคราม (2)การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ (3)การกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเองหรือของบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่ รับผิดชอบโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้น ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามวรรค หนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพาที่เกิดขึ้นนั้นด้วย”
มลพิษ หมายความว่า ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่น ๆ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่ง เหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งก่อเกิดหรืออาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และให้ หมายความรวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่นๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อย ออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษ แหล่งกำเนิดมลพิษ หมายความว่า ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม อาคาร สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ สถานที่ ประกอบกิจการใด ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมลพิษ เมื่อพิจารณานิยามตามมาตรา 4 และหลักการตามมาตรา 96 จะเห็นได้ว่า การฟ้องคดีมลพิษที่ส่งผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดความเสียหายนั้นกำหนดไว้อย่างครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ดังนั้นความสัมพันธ์ ของมาตรา 96 จึงเป็นกฎหมายหลักในการฟ้องคดีเรียกค่าชดเชยความเสียหายในคดีมลพิษและค่าใช้จ่ายใน การรับภาระขจัดมลพิษด้วย
หลักการตามมาตรา 96 1.หลักการฟ้องคดีตามมาตรา 96 เป็นหลักการเดียวกับการฟ้องคดีละเมิด แต่พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม ฯ เป็นกฎหมายเฉพาะ กำหนดเรื่องการฟ้องกรณีเสียหายจากมลพิษไว้โดยเฉพาะ เมื่อเกิดความเสียหายจากมลพิษจึงฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติ สิ่งแวดล้อม ฯ มาตรา 96 เป็นหลัก 2.ผู้เสียหายจะเป็นฝ่ายรัฐหรือเอกชนก็ได้ มาตรา 96 ไม่ได้กำหนดตัวผู้เสียหายไว้ ผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจึงเป็นได้ทั้งฝ่าย รัฐและเอกชน 3.ผู้ที่ต้องรับผิดจะเป็นฝ่ายรัฐหรือเอกชนก็ได้เช่นกัน เพราะกฎหมายกำหนดไว้เพียงว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิด.. ซึ่งหมายแหล่งกำเนิดมลพิษของฝ่ายรัฐหรือเอกชนก็ได้ 4.ค่าเสียหายให้พิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ซึ่งหมายถึงการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่เสียหาย ค่า รักษาพยาบาล ค่าขาดรายได้ขาดประโยชน์ ค่าเสียหายจากการสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิงหรือแต่ บางส่วน ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะกรณีผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะคนอื่นตามกฎหมาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้การขจัด มลพิษ 5.มาตรา 96 เป็นการกำหนดหลักความรับผิดเด็ดขาด ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ก่อ มลพิษ เพียงแต่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดจากแหล่งมลพิษนั้น เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษนั้นต้องรับผิด
ความรับผิดกรณีทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหาย มาตรา 97 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำหรือละเว้นกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญ หายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตาม มูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น” มาตรา 97 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการบังคับให้ผู้กระทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่ตนได้ ก่อขึ้น หลักการตามมาตรา 97 มีดังนี้ 1.ผู้เสียหายในมาตรานี้ หมายถึงรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เนื่องจากเป็นการกรทำความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของ รัฐ 2.ในส่วนของผู้รับผิดนั้น มาตรา 97 ใช้คำว่า “ผู้ใด” จึงหมายถึงฝ่ายรัฐหรือเอกชนก็ได้ 3.การกำหนดค่าความเสียหายนั้นคิดจากมูลค่าของทรัพยากรที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือทำให้เสียหาย ว่ามูลค่าเท่าใด
คดีและลักษณะคดี ตัวอย่างและลักษณะคดีสิ่งแวดล้อมที่ฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิด การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมให้หน่วยงานรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนใหญ่ถ้ากรณีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ก่อมลพิษจะฟ้องเรียกค่าเสียหายตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม มาตรา 96 และพรบ. จัดตั้งศาล ปกครอง ฯ มาตรา 9 (3) เป็นกรณีละเมิดทางปกครอง นอกจากนั้นอาจฟ้องหน่วยงานรัฐในกรณีอื่น เช่น การละเว้นการปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือกรณีละเมิดอันเกิดจากการกระทำและละเว้นกระทำของฝ่ายปกครอง คดีคลิตี้ (ปกครอง) ฟ้องกรมควบคุมมลพิษละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขฟื้นฟู ตัวอย่างและลักษณะคดีสิ่งแวดล้อมที่ฟ้องเอกชนให้รับผิด การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมเรียกค่าเสียหายจากเอกชน อาจเป็นกรณี ฟ้องตามพรบ.สิ่งแวดล้อม คดีคลิตี้ (เอกชน) ฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท ตามมาตรา 96 ตัวอย่างลักษณะคดีสิ่งแวดล้อมที่ฟ้องให้ชดใช้มูลค่าทรัพยากร กรณีนี้หน่วยงานรัฐจะใช้มาตรา พรบ.สิ่งแวดล้อม 97 คำพิพากษาศาลจังหวัดหล่มสักที่ 789/2552 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฟ้องเอกชนให้รับผิดในการทำลายป่าและค่าเสียหายโลกร้อน การคิดค่าเสียหายของโจทก์นำ แบบจำลองมาใช้กับพื้นที่พิพาท ซึ่งอาจคาดเคลื่อนกับความเป็นจริง แต่การตัดต้นไม้รวม 38 ตอ ซึ่งมีอยู่ถึง 3 ไร่ 3 งาน เห็นชัดว่าทำให้ ทรัพยากรธรรมชาติเสียหายและถูกทำลาย ให้จำเลยชำระเงิน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
3.ข้อจำกัดทางด้านกฎหมายในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม 1.สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังมีข้อจำกัด เช่น การฟ้องคดีมลพิษ ส่วนใหญ่จะเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล 2.การใช้หลักการในเรื่องละเมิดทางแพ่งมาไม่สอดคล้องไปกับคดีสิ่งแวดล้อม เช่น หลักอายุความละเมิดตามมาตรา 448 กำหนดอายุความละเมิดไว้ 1 ปีนับแต่รู้ 10ปีนับแต่ทำ หรือการแก้ไขคำพิพากษาตามมาตรา 444 วรรคสองที่ กำหนดสิทธิแก้ไขคำพิพากษาไว้ไม่เกินสองปี 3.ภาระการพิสูจน์ความเสียหาย ภาระการพิสูจน์ในกฎหมายไทยเป็นระบบพิสูจน์ผิด ตามหลัก ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นนำสืบ ซึ่งไม่สอดคล้องกับต่างประเทศที่ใช้การพิสูจน์ถูกมาใช้ในคดี สิ่งแวดล้อม 4.สิทธิในการฟ้องคดียังจำกัดเฉพาะรายที่เป็นผู้เสียหายจึงมีสิทธิในการฟ้องคดี ประเทศไทยไม่ได้รับหลักประชาชนเป็นผู้เสียหาย การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรจึงจำกัดเฉพาะผู้เสียหายเฉพาะรายหรือหน่วยงานรัฐเท่านั้นเป็น ผู้เสียหาย 5.การกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damage) การกำหนดค่าชดเชยความเสียหายของประเทศไทยยังมีจำกัดเท่าที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง การกำหนดค่าเสียหายเพิ่มเติมที่เป็นการลงโทษผู้ก่อมลพิษ ของไทยจึงมีมูลค่าน้อย
การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเป็นข้อพิพาทได้ทั้งคดีปกครอง คดีแพ่งและคดีอาญาจึงเข้าสู่กระบวนการศาลได้ทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรม ขึ้นอยู่กับลักษณะคดี 4.1.การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครอง -ความหมายของคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครอง หมายความถึง คดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ด้วยกันอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทาง ปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองหรือรักษาสภาพทางธรรมชาติ พืช สัตว์หรือสิ่งมีชีวิต การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การ คุ้มครองดูแลสุขภาพมนุษย์ การจัดระเบียบสภาพแวดล้อมมนุษย์ สภาพภูมิอากาศ ภูมิทัศน์ ศิลปวัฒนธรรม หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง -การพิจารณาว่าคำฟ้องใดเป็นคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้พิจารณาองค์ประกอบดังนี้ 1.วัตถุประสงค์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ตรวจสอบหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุ้มครองหรือเยียวยาสุขภาพ มนุษย์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 2.กฎหมายที่ฝ่ายปกครองใช้อยู่ในกลุ่มกฎหมายเหล่านี้หรือไม่ 1.กลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษโดยตรง 2.กลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและรักษาสภาพธรรมชาติ พืช สัตว์หรือสิ่งมีชีวิต 3.กลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ 4. กลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการคุ้มครองหรือเยียวยาแก้ไขสุขภาพมนุษย์ 5. กลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสภาพแวดล้อมมนุษย์ สภาพภูมิอากาศ ภูมิทัศน์ ศิลปวัฒนธรรม 3.ปัจจัยอื่น เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการที่ต้องจัดทำ EIA และ HIA ข้อพิพาทเกี่ยวกับผลกระทบเป็นวงกว้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
-ลักษณะคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม 1 -ลักษณะคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม 1.การฟ้องหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจทางปกครองไม่ว่าการออกกฎ คำสั่งทางปกครองและการกระทำการอื่นใดเกี่ยวกับกฎหมาย สิ่งแวดล้อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.การฟ้องหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายที่ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 3.การฟ้องคดีละเมิดเรียกให้หน่วยงานของรัฐชดให้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมลพิษ -ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิในการฟ้องคดีปกครองต้องปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ใช้คำว่า “อาจเดือดร้อนหรือเสียหาย” ซึ่งขยายความ เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า สิทธิของเขายังไม่ถูกโต้แย้งแต่อย่างใด แต่ก็ต้องมีความเกี่ยวข้องโดยตรงและความเดือดร้อน หรือเสียหายต้องเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ถึงขนาดที่ว่าใครก็สามารถเข้ามาฟ้องคดีปกครองได้ (คดี Abisset 1958 – คำสั่งนายกเทศ นมตรีห้ามตั้งแคมป์ในเขตเทศบาล แม้บุคคลที่ไม่เคยตั้งแคมป์ในเขตเทศบาลก็เป็นผู้ฟ้องคดีได้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีอาจไปตั้งแคมป์ในเขตเทศบาลใน อนาคตข้างหน้าได้) ส่วนการฟ้องคดีละเมิดของฝ่ายปกครองมีความชัดเจนว่าจะต้องเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิก่อนด้วยการกระทำละเมิดของฝ่ายปกครองหรือต้อง เกิดความเสียหายเกิดขึ้นก่อน จึงจะเป็นผู้เสียหายในการฟ้องคดีละเมิดทางปกครองได้
การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครองมีลักษณะคดีหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีเอกชนฟ้อง หน่วยงานของรัฐให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ การละเว้น การปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหาย การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครอง ถ้าเป็นการเรียกค่าสินไหม ทดแทนจากการกระทำละเมิดจะเป็นการใช้อำนาจการฟ้องพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (3) ไม่ว่าเป็นกรณีที่หน่วยงานออกคำสั่งทางปกครอง ละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษเอง
4.2.การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในศาลยุติธรรม -ความหมายของคดีสิ่งแวดล้อมในศาลยุติธรรม หมายถึงคดีแพ่งและคดีอาญาที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามกลุ่มกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ คดี สิ่งแวดล้อมในศาลยุติธรรมจึงแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ คดีแพ่งและคดีอาญา ส่วนกลุ่มกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ แผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลยุติธรรม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกฎหมายแพ่ง 1.ข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่กฎหมายว่าละเมิด (ม.420 ม.421 ม.437 ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม) และกฎหมายว่าด้วย ทรัพย์สิน 2.คดีที่มีข้อพิพาทตามกลุ่มกฎหมายสิ่งแวดล้อม 24 ฉบับ เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 96 มาตรา 97 กลุ่มกฎหมายอาญา 1.กลุ่มกฎหมายอาญาด้านทรัพยากรธรรมชาติ 13 ฉบับ เช่น พ.ร.บ ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวน ฯลฯ 2.กลุ่มกฎหมายอาญาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ 11 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ร.บ.ส่งเสริมและ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ 3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228 และมาตรา 238
-คดีแพ่งด้านสิ่งแวดล้อม การฟ้องคดีแพ่งด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่จะเป็นคดีละเมิดเพื่อเรียกให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจาก ผู้กระทำละเมิด ซึ่งผู้มีสิทธิฟ้องคดีแพ่งต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 กรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาทตามกฎหมายแพ่ง คือ กรณีละเมิด ซึ่งศาลฎีกาได้วางหลักการฟ้อง คดีสิ่งแวดล้อมว่า “ผู้ฟ้องคดีต้องได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำใดๆที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสียหายต่อ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน หากไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงหรือได้รับแต่ไม่ปรากฏชัดแจ้ง ถือว่า การกระทำ นั้นเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย บุคคลธรรมดาไม่ใช่ผู้เสียหาย และไมมีอำนาจฟ้อง” ส่วนการฟ้องละเมิดในคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกค่าเสียหายโดยหลักจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ 1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 2.พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อม แห่งขาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96