องค์ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์การทอเสื่อกก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอเสื่อกกบ้านนาหมอม้า ผู้ให้องค์ความรู้ นางนิ่ม นวลขาว ที่อยู่ 961 หมู่ 7 ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ นำองค์ความรู้ไปใช้งาน/โครงการ : ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนการทอเสื่อกก เริ่มแรกจัดตั้งเป็นกลุ่มทอเสื่อกกวัฒนธรรมชุมชน ปี 2518 มีสมาชิกทั้งหมด 85 ราย เมื่อปี 2545 ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กิจกรรมทอเสื่อกกซึ่งสมาชิกจะทอเสื่อกกแบบเป็นผืน ซึ่งลวดลายแล้วแต่ถนัด ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำตามวิถีชีวิตในชุมชนไม่ได้คิดอะไรมากมาย ต่อมาเมื่อปี2549 สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอเสื่อกกได้มาทำการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน
การทอเสื่อกกที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ ทางกลุ่มจะต้องพัฒนา ตั้งแต่การปลูกกก ต้องเลือกพื้นที่ดินร่วนปนทรายสามารถระบายน้ำได้ดี ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีเล็กน้อย ส่วนมากจะใส่ปุ๋ยหมัก แล้วจะได้ต้นกกที่มีคุณภาพที่ดี เวลาเก็บเกี่ยวก็จะเลือกต้นกกที่พอดี คือ ต้นที่เป็นหนุ่มสาว จะต้องสังเกตให้ดอกบานใบสีขาวหรือเปลือกตรงโคนต้นเป็นสีน้ำตาลอมเขียวค่อยตัด หลังจากตัดเสร็จแล้วก็มาคัดขนาดสั้นยาวเป็นหมวดหมู่ แล้วก็จักให้เป็นเส้นเล็กๆ นำไปตากแดดจัด ประมาณ 5 – 6 แดด จะได้เส้นกกที่แห้งและขาวนวล ย้อมง่ายเก็บเอาไว้เตรียมมัดหมี่ เลือกเส้นหรือขนาดพอดีกับลาย ใช้กก 1 กก. ต่อ 1 ผืน กว้าง X ยาว ขนาด 120 ซม. X 2 เมตร แยกออกเป็นส่วนๆ พร้อมมัด อีกส่วนหนึ่ง เป็นพื้นลายตามที่ต้องการเสร็จแล้วนำกกทั้งสองส่วนไปแช่ในน้ำสะอาดหนึ่งคืน
นำกกที่แช่น้ำไว้ขึ้นมาเตรียมย้อม ตั้งน้ำให้เดือดในหม้อใส่สารส้ม 1 กำ เกลือ 1 กำมือ แล้วพอน้ำเดือดผสมสีที่เราต้องการจะย้อมกับน้ำอุ่นละลายลงหม้อใส่สี 3 ซองต่อน้ำ 1 กก. เสื่อ 1 ผืนใช้กก 1 กก. ใช้สีไม่ต่ำกว่า 6 ซอง ถ้าเป็นสีเข้มเพิ่มสีอีกเท่าตัว คนให้เข้ากันแล้วพอหม้อเดือดเตรียมนำกกที่แช่ไว้ลงในหม้อ ต้มให้เดือดสม่ำเสมอประมาณ 10 นาทีค่อยๆ กลับเส้นกก ที่อยู่ข้างบนลงล่างทิ้งไว้อีก 10 นาที แล้วดูว่าสีมันติดเส้นกกสม่ำเสมอแล้วยกเส้นกกลงจากหม้อทิ้งให้เส้นกกเย็นก่อนแล้วนำไปล้างน้ำสะอาด 2 ครั้ง นำเส้นกกไปผึ่งแดดให้แห้งแล้วเตรียมทอ
การทอเสื่อกกสิ่งที่ต้องเตรียม คือ กี่ ด้ายฟืม ไม้คันฟืม ไม้พังกก เชือก 2 เส้น คนทอ 2 คน คนหนึ่งทออีกคนผูกกก ใช้เวลาทอประมาณ 4 – 6 ชั่วโมงต่อ 1 ผืน ทอเสร็จแล้วเก็บงานทำความสะอาดผืนเสื่อ แล้วอบแดดอีกครั้งเพื่อกันเชื้อรา ค่อยนำไปจำหน่ายได้
สรุป การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื่อกกที่จะทอเสื่อแบบผืนใหม่ๆ เหมือนสมัยก่อนแต่ทางกลุ่มพัฒนาการทอเสื่อกกพับมีไว้ 3 ขนาด ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และทำกระเป๋าจากเสื่อ กระเป๋าถือ หมอน กระเป๋าเครื่องสำอาง กระเป๋าโทรศัพท์ ที่รองแก้ว ที่รองจาน ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน กล่องกระดาษทิชชู ที่ใส่จดหมาย การพัฒนาลวดลาย เช่นลายหงส์ ทางกลุ่มได้พัฒนาลวดลายถึง 80 ลาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื่อกกนาหมอม้านั้น ทางกลุ่มได้ถ่ายทอดศิลปะและทำเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนสู่ลูกหลานในชุมชนทางกลุ่มได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้รับรางวัล 1. ชนะเลิศหมู่บ้าน OTOP VILLAGE CHAMPION (OVC) 2. ชนะเลิศการประกวดเสื่อกกแบบประยุกต์ ในงานวันเกษตรอีสานประจำปี 2549 3. ได้รับคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสี่ดาว ในปี 2549 4. ได้รับคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ระดับสามดาว ในปี 2549 5. ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ในปี 2552 จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอำนาจเจริญ
นางวราภรณ์ วงศ์ประเสริฐ ผู้บันทึก นางวราภรณ์ วงศ์ประเสริฐ ผู้บันทึก ตำแหน่ง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ