หลักธรรมสำคัญจากวันมาฆบูชา โอวาทปาฏิโมกข์ หลักธรรมสำคัญจากวันมาฆบูชา
โอวาทปาฏิโมกข์หลักธรรมสำคัญจากวันมาฆบูชา โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็น "ปาฏิโมกข์" ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ ๒๐ พรรษาแรก เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน ๓) หลังจาก ตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน เป็นการแสดงปาฏิโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต"
"จาตุรงคสันนิบาต" พระภิกษุสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นผู้ที่พระพุทธองค์ ทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทให้ทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้ได้ อภิญญา ๖ ทั้งสิ้น อภิญญา ๖ ประกอบด้วย ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ ๒. ทิพพโสตหูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ อ่านใจคนอื่นได้ ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติได้ ๕. ทิพพจักษุ ตาทิพย์ ๖. อาสาวักขยญาณ สิ้นอาสวะกิเลส เป็นเวลาที่ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ คือตรงกับ วันเพ็ญเดือน ๓
การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ (จาตุรงคสันนิบาต) มีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนา ของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ๆ แสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้า ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" นี้ ด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอด ๒๐ พรรษาแรก หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง "อาณาปาฏิโมกข์" แทน
ความหมายของโอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทปาฏิโมกข์มักถูกกล่าวถึงในแง่หลักธรรม ๓ อย่างเดียว ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง อาจสรุปใจความได้เป็นสามส่วน คือ หลักธรรม ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖
พระพุทธพจน์คาถาแรก-อุดมการณ์ ๔ ทรงกล่าวถึงจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและ พุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น อันอาจเรียกได้ว่า อุดมการณ์ ๔ ของพระพุทธศาสนา ได้แก่ ความอดทนอดกลั้น นิพพาน (หลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร) ความไม่เบียดเบียน ความสงบ
คาถาโอวาทปาฏิโมกข์และคำแปล อุดมการณ์ ๔ คาถาโอวาทปาฏิโมกข์และคำแปล อุดมการณ์ ๔ ๏ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
พระพุทธพจน์คาถาที่สอง--หลักธรรม ๓ ทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของ พระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" หรือ หลักธรรม ๓ กล่าวกัน เป็นเป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอันเป็นแนวทางที่ พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ ได้แก่ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มีผู้อธิบายว่าทั้งสามข้อนี้อาจอนุมานเข้ากับ ศีล สมาธิ และปัญญา
คาถาโอวาทปาฏิโมกข์และคำแปล : หลักธรรม ๓ ๏ สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธพจน์คาถาที่สาม-- วิธีการ ๖ ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา หรือ วิธีการ ๖ ได้แก่ ไม่ว่าร้าย ไม่ทำร้าย สำรวมในปาฏิโมกข์ (ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยอันดี) รู้จักประมาณในอาหาร อยู่ในสถานที่สงบ เพียรฝึกฝนจิตใจให้สงบ
คาถาโอวาทปาฏิโมกข์และคำแปล : วิธีการ ๖ ๏ อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมใน ปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
บทส่งท้าย เก็บมาเล่าสู่กันตามประสาชาวพุทธปลายแถว เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้สำรวจตัวเองสักหน่อย ว่าคำสอนดี ๆ ที่มีอยู่ เราได้น้อมนำมาปฏิบัติกันมากน้อยแค่ใด ในชีวิตประจำวัน