ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรม บ่อเกิดวรรณกรรม
บ่อเกิดวรรณกรรม ม.ล. ตุ้ย ขุมสาย ม.ล. ตุ้ย ขุมสาย ได้แสดงความคิดเห็นว่า จุดเริ่มต้นของวรรณกรรมอยู่ที่สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้ผู้ประพันธ์เกิดอารมณ์ ความรู้สึก แล้วก่อตัวขึ้นเป็นมโนภาพแต่โดยนิสัยของนักประพันธ์ เขามักเกิดแรงบันดาลใจที่จะถ่ายมโนภาพนั้นไปให้ผู้อื่นได้รับทราบด้วย จึงเกิดวรรณกรรมขึ้น
บ่อเกิดวรรณกรรม บรรจง บรรเจิดศิลป์ กล่าวว่า ที่กำเนิดแห่งศิลปะและวรรณกรรมนั้น คือชีวิตที่เป็นจริงของมนุษย์ คือ สิ่งที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งการคลี่คลายขยายตัวทางเศรษฐกิจของสังคม คือผลงานประวัติศาสตร์ทั้งหมดของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หรือกล่าวย่อๆ ก็คือ ความเป็นจริงทางภววิสัยของมนุษย์นั่นเองเป็นแหล่งกำเนิดแห่งศิลปะและวรรณกรรม
บ่อเกิดวรรณกรรม บำรุง สุวรรณรัตน์ และ ชูศักดิ์ เอกเพชร บำรุง สุวรรณรัตน์ และ ชูศักดิ์ เอกเพชร ได้กล่าวไว้หลายลักษณะดังนี้ คือ 1. วรรณกรรมที่เกิดขึ้นเพราะแรงกระตุ้นทางธรรมชาติ ได้แก่ บทชมธรรมชาติ ชมปลา เหล่านี้เป็นต้น 2. วรรณกรรมที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางศาสนาและปรัชญา เขียนขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการสอนศาสนาโดยตรง เช่น ทศชาติชาดก มหาเวสสันดรชาดก พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น
3. วรรณกรรมที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยทางวรรณกรรมด้วยกัน หมายความว่า เมื่อกวีหรือนักเขียนได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องราวจากวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ก็เกิดแรงบันดาลใจ แล้วนำเค้าเรื่องมาดัดแปลงแล้วรจนาขึ้นใหม่หรือคิดสืบเนื่องต่อออกไปเช่น รามเกียรติ์ อิเหนา เป็นต้น 4. วรรณกรรมที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับชีวิต หมายความว่า เรื่องราวของชีวิตทั้งความดี ความชั่ว ความรัก ความชัง ความสมหวัง ความผิดหวัง ฯลฯเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดวรรณกรรม 5. วรรณกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความผันผวนทางการเมืองและสังคม วรรณคดีเก่า ๆ ของไทยที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางการเมือง และสังคม หรือเรียกรวม ๆ กันว่า "ปัจจัยทางประวัติศาสตร์" เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย สามกรุง บทเสภาพระราชพงศาวดาร เป็นต้น
บ่อเกิดวรรณกรรม ดวงใจ ไทยอุบุญ กล่าวไว้ดังนี้ ดวงใจ ไทยอุบุญ กล่าวไว้ดังนี้ 1. เกิดจากการชื่นชมและเทิดทูนวีรบุรุษ คิดว่าบรรพบุรุษของตนมีความเก่งกล้าสามารถ เกิดความภาคภูมิใจ จึงต้องการที่จะยกย่องเชิดชู และให้คนรุ่นลูก รุ่นหลานได้รู้จักบรรพบุรุษของตน โดยได้นำเรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้น ๆ มาแต่งขึ้นเป็นเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ ดังเช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย สามกรุง เป็นต้น 2. อิทธิพลทางศาสนา ศาสนามีอิทธิพลต่อจิตใจคน เป็นหลักยึดปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เป็นเครื่องโน้มเหนี่ยวใจให้คนเรามีศีลธรรมประจำใจและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก กวีจึงได้นำคำสั่งสอนหรือพุทธปรัชญามาแต่งขึ้นเพื่อสอนใจประชาชน เช่น สุภาษิตพระร่วง มหาชาติคำหลวง เป็นต้น
3. เกิดจากกวีต้องการบันทึกเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน ให้ชนรุ่นหลังได้ทราบทั้งทางด้านวัฒนธรรมประเพณี การศึกษา ประวัติศาสตร์ หรือความนึกคิดของคนในสมัยนั้นๆ เช่น จินดามณี พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นต้น 4. เกิดจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างชาติ ที่ทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ ,วัฒนธรรมประเพณีของชาติอื่นๆ ได้แก่ เรื่องแปลจากต่างประเทศ เช่น สามก๊ก เวนิสวานิช นิทานเวตาล เป็นต้น หรือเรื่องที่แต่งขึ้นจากประสบการณ์ตรงของผู้แต่ง เช่น นิราศลอนดอน สามกรุง เป็นต้น 5. เกิดจากอารมณ์หรือความรู้สึกของกวี อาจเกิดจากประสบการณ์ของกวี ทำให้มีแรงบันดาลใจที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมา เช่น มัทนะพาธา นิราศนรินทร์ กำศรวลศรีปราชญ์ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า บ่อเกิดของวรรณกรรมเกิดขึ้นจากหลายๆสาเหตุ และวรรณกรรมเรื่องหนึ่งๆอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุก็ได้...