กุดนางใย เนื้อเรื่อง กุดนางใย เป็นชื่อแหล่งน้ำที่สำคัญของเมืองมหาสารคาม มาตั้งแต่สมัยพระเจริญราชเดช(กวด) เจ้าเมืององค์แรก ซึ่งมาตั้งเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2408 ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคควบคู่กับแหล่งน้ำในหนองทุ่ม (กระทุ่ม) ที่เรียกว่ากุดเพราะเป็นที่สิ้นสุดของสายน้ำ (กุด แปลว่าด้วนหรือสิ้นสุด) หรือเรียกว่าแม่น้ำด้วน ปัจจุบัน ตื้นเขินมากคงเหลือเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ใกล้กับกุดนางใยเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาสารคาม และริมกุดนางใย มีร่องรอยของวัตถุโบราณสันนิษฐานว่าพระเจริญราชเดชสร้างไว้เมื่อครั้งตั้งเมือง ได้แก่เสาหงส์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้พิทักษ์เมือง
จากนิทานพื้นบ้านกล่าวว่า ครั้งโบราณที่บริเวณแหล่งน้ำนี้มีครอบครัวหนึ่งตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ มีแม่และลุกชาย ภายหลังได้ลูกสะใภ้มาอยู่ร่วมกัน มาวันหนึ่งลูกชายได้ไปค้าขายทางไกล แม่และลูกสะใภ้อยู่บ้านเพียง 2 คน คืนหนึ่งแม่ผัวเห็นว่าที่ห้องนอนของ ลูกสะใภ้จุดตะเกียงตลอดคืน ซึ่งเป็นการผิดธรรมเนียมโบราณกล่าวคือเมื่อเข้านอนต้อง ดับตะเกียง คืนหนึ่งแม่ผัวสงสัยจึงไปแอบดูว่าลูกสะใภ้ทำอะไรอยู่ ในห้อง และเห็นว่า ลูกสะใภ้กำลังสาวใยไหม ออกจากปากตนเองมาม้วนข้าฝัก จึงเกิดความหวาดกลัวนึกว่า สะใภ้เป็นภูตผีปีศาจ
จึงนำความไปเล่าให้เพื่อนบ้านฟัง คืนต่อมาแม่ผัวและเพื่อนบ้านจึงมาแอบดู เพื่อจับผิดลูกสะใภ้ ในที่สุดได้จู่โจมเข้าไปในห้องขณะที่ลูกสะใภ้กำลังสาวไหมออกจากปาก จึงซักถามว่าเป็นใครมาจากกไหน เป็นภูตผีปีศาจมาหรือเปล่า ทำให้สะใภ้อับอาย จึงหนีออกจากบ้านและโดดลงในลำน้ำนั้นหายไป เมื่อลูกชายกลับมาและรู้ความจริงว่าภรรยาโดดน้ำตาย ณ ที่แห่งนั้นจึงได้แต่ เศร้าโศกเสียใจ เมื่อถึงคืนเดือนหงายจะไปนั่งริมลำน้ำแห่งนี้ และจ้องมองลงไปในสายน้ำ นานๆ เข้าก็มองเห็นภรรยาในสายน้ำนั้น และสาวใยไหมออกจากปาก ต่อมาที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่ากุดนางใย (ใย หมายถึงใยไหม) คติสอนใจ การจะลงโทษใครอย่าผลีผลาม ควรถามสาเหตุและเหตุผลข้อเท็จจริงก่อน