ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2549 นาฏศิลป์น่ารู้ จัดทำโดย ด.ญ. คมคาย รื่นสดงาม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/3 โรงเรียนมหรรณพาราม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2549
นาฏศิลป์ เป็นศิลปวัฒนธรรมสาขาหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองของไทยเรา ความงดงามของท่าร่ายรำตามจังหวะและทำนองเพลง ตลอดจนการแสดงสื่อความหมายด้วยบทเจรจา ท่าทาง และคำร้องเป็นลำนำ ช่วยให้ผู้ชมได้ชื่นบานสนุกสนานได้อิ่มเอมกันสุนทรีรส และเกิดอารมณ์คล้อยตามไปกับการแสดง
นาฏศิลป์ไทยจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ปู่ ยา ตา ยาย ได้ถ่ายทอดไว้ให้สมควรที่เยาวชนทั้งหลายควรสนใจรับสืบทอด และรักษาไว้เป็นศรีสง่าของชาติไทยสืบไป
ท่วงท่าของการร่ายรำนั้น เกิดขึ้นจากอิริยาบถต่าง ๆ ของคนในชีวิตประจำวันนั้นเอง แม้ว่ามือและแขนจะเป็นส่วนสำคัญของการรำ แต่อวัยวะทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นศีรษะ หน้า คอ ลำตัว เอว ขา และ เท้า ก็ต้องเคลื่อนไหว รับสัมพันธ์กันทุกส่วนจึงจะแลดูงามและสื่อความหมายได้ดี
การแสดงท่ากวัก โบกสะบัด จีบคว่ำ จีบหงาย ร้องไห้ อิ่มเอม โกรธ ขับไล่ ฯลฯ ล้วนแต่มีท่ารำที่สวยงาม และดูได้เข้าใจชัดเจนทั้งสิ้น
เนื่องจากการร่ายรำ เป็นศิลปะขั้นสูง ผู้ที่จะรำเป็นจึงต้องได้รับการฝึกหัดและฝึกฝนอย่างจริงจัง จึงจะดูนิ่มนวล กลมกลืน และงามสง่า ครูนาฏศิลป์โบราณได้ประดิษฐ์ท่ารำไว้มาก เป็นท่าหลักที่ต้องเรียนรู้ให้แม่นยำ ท่าหลักสำหรับฝึกหัดรำนี้มักเรียกกันว่า "แม่บท"
ท่ารำที่เลี่ยนแบบอิริยาบถทั้งของเทพบุตร เทพธิดา คน สัตว์และธรรมชาติแวดล้อม เช่น เทพนม สอดสร้อยมาลา กวางเดินดง เมขลาล่อแก้ว ยอดตองต้องลม เป็นต้น
ท่ารำ บางท่าเป็นการแสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง หนุมานผลาญยักษ์ พระลักษมณ์แผลงฤทธิ์ เป็นต้น
การรำคือการแปลชื่อท่ารำต่าง ๆ มาประดิษฐ์ให้มีส่วนสัดงดงาม เรียบเรียงลำดับ ทำให้เข้ากับจังหวะและทำนองของเพลงร้องเพลงดนตรีที่บรรเลงประกอบ ตบแต่งท่ารำสำหรับเชื่อมท่าต่างๆ ให้ติดต่อกลมกลืนกัน การแสดงนาฏศิลป์แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ ๑. ระบำ ๒. ละคร
ระบำ เป็นการแสดงร่ายรำประกอบคำร้องและทำนองจังหวะดนตรีที่มุ่งความสวยงามและความบันเทิงเป็นสำคัญ ผู้แสดงจะมีเพียงคนเดียวหรือเป็นหมู่ก็ได้ การแสดงระบำต้องมีความพร้อมเพรียงและช่วยให้เกิดความสนุกสนาน
ละคร เป็นการแสดงรำที่มีเรื่องราวดำเนินไปโดยลำดับ มีหลายประเภท เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์และโขน สำหรับโขนนั้นยังมีวิธีการแสดงที่แตกต่างกันไป เช่น โขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอ และโขนฉาก
นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการนำนาฏศิลป์แบบตะวันตกมาใช้ จึงเกิดมีละครร้อง ละครพูด ละครพูดสลับลำ และละครสังคีต การละครได้เฟื่องฟูมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้มีวิวัฒนาการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน