หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 ประเด็นร้อนประวัติศาสตร์ไทย สมัยรัตนโกสินทร์ 15: สงครามเก้าทัพ การทำสนธิสัญญาเบอร์นี การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง
วิเคราะห์ความสำคัญของ ประวัติศาสตร์ไทย (ส 4.3 ม. 4-6/1) ตัวชี้วัดช่วงชั้น วิเคราะห์ความสำคัญของ ประวัติศาสตร์ไทย (ส 4.3 ม. 4-6/1)
แบบทดสอบก่อนเรียน สามารถเลือกได้ใน Folder ที่ 10
หัวข้อ 1. สงครามเก้าทัพ 2. การทำสนธิสัญญาเบอร์นี 3. การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง
1. สงครามเก้าทัพ
การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ. ศ การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 เป็นเวลาเดียวกับที่พระเจ้าโบดอพญาหรือพระเจ้าปดุง ปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงอังวะ พระเจ้าปดุงเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า เมื่อครองราชย์มีพระนามว่า ปโดเมง หมายถึง พระราชาจากเมืองปโดง มีพระนามที่เรียกขานกันในภายหลังว่า โบดอพญา หมายถึง เสด็จปู่
“เราจะทำสงครามเพื่อพิชิตโมกุล (อินเดีย) จีน และโยดะยาให้ได้” พระเจ้าปดุงทำสงครามประกาศพระราชอำนาจใหม่ โดยเอาชนะอาณาจักรยะไข่หรืออารากัน (Arakan) ดินแดนตะวันตกของพม่าที่ ไม่เคยครอบครองมาก่อนได้สำเร็จ ทำให้พระองค์เกิดความฮึกเหิมถึงกับทรงประกาศว่า “เราจะทำสงครามเพื่อพิชิตโมกุล (อินเดีย) จีน และโยดะยาให้ได้”
ปี พ.ศ. 2327 พระเจ้าปดุงเกณฑ์กองทัพจำนวนนับแสนคน ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การรบของพม่าและสยาม จัดเป็น 9 ทัพ แยกเป็น 5 เส้นทาง โดยพระองค์ทรงเป็นจอมทัพ หมายตีกรุงรัตนโกสินทร์ให้ย่อยยับ
ทัพที่ 1 แมงยี แมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพ มีทั้งทัพบก ทัพเรือ จำนวนพล 10,000 เรือกำปั่นรบ 15 ลำ ตั้งที่เมืองมะริด ให้ยกทัพบกมาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนถึงเมืองตะกั่วป่าและเมืองถลาง แต่แมงยีแมงข่องกยอเตรียมเสบียงไม่ทันจึงถูกพระเจ้าปดุงซัดหอกใส่ในที่ประชุมพล เกงหวุ่นแมงยีมหาสีหะสุระ อัครมหาเสนาบดีจึงขึ้นเป็น แม่ทัพที่ 1 แทน
ทัพที่ 2 อนอก แฝกคิดหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล 10,000 ตั้งที่เมืองทวาย ให้เดินเข้าทางด่านบ้องตี้ มาตีกวาดหัวเมืองสยามฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี แล้วให้ลงใต้เพื่อไปบรรจบกับกองทัพที่ 1 ที่เมืองชุมพร
ทัพที่ 3 หวุ่นคยีสะโดะศิริมหาอุจจะนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ ถือพล 30,000 ยกมาทางเมืองเชียงแสน ให้กวาดลงมาทางเมืองนครลำปางและหัวเมืองแม่น้ำยม ตั้งแต่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย แล้วให้ลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
ทัพที่ 4 เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพ ถือพล 11,000 ยกลงมาตีที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์
ทัพที่ 5 เมียนเมหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล 50,000 มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหนุนเข้าตีกรุงเทพฯ เมื่อทัพที่ 4 ทัพหน้าเปิดทางให้แล้ว
ทัพที่ 6 ตะแคงกามะ ราชบุตรที่ 2 (พม่าเรียกว่า ศิริธรรมราชา) เป็นแม่ทัพ ถือพล 12,000 มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าที่ 1 ของทัพหลวงที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ทางด่านเจดีย์สามองค์
ทัพที่ 7 ตะแคงจักกุ (พม่าเรียกว่า สะโดมันชอ) เป็นแม่ทัพ ถือพล 11,000 มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าที่ 2 ของทัพหลวง
ทัพที่ 8 พระเจ้าปดุง ทรงเป็นจอมทัพ ทัพนี้ถือเป็นกองทัพหลวง จำนวนพล 50,000
ทัพที่ 9 จอข่องนรทา เป็นแม่ทัพ ถือพล 5,000 ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาะ แขวงเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร และให้ลงมาบรรจบทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
ทางกรุงเทพ ฯ เมื่อทราบข่าวการระดมไพร่พลเข้าสู่สงครามที่เมืองเมาะตะมะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ประชุมเสนาบดี ขุนนาง และขุนทหาร ทรงประเมินว่า กองทัพของพม่ามีจำนวนมาก แต่มีเป้าหมายสุดท้ายที่กรุงเทพฯ จึงให้เกณฑ์ไพร่พลซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 70,000 คน ตั้งรับตามแนวเข้าสู่กรุงเทพฯ ทั้ง 4 เส้นทางหลัก แบ่งเป็น 4 ทัพ
ทัพที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ภายหลังได้รับการสถาปนาพระยศขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือกรมพระราชวังหลัง) เป็นแม่ทัพ ถือพล 15,000 ขึ้นไปตั้งรับที่นครสวรรค์ ให้ประวิงเวลายันทัพเหนือของพม่าให้ได้นานที่สุด
ทัพที่ 2 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพ ถือพล 30,000 ให้ไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี (เก่า) สกัดทั้ง 5 กองทัพ ที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์
ทัพที่ 3 เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) และเจ้าพระยายมราช ถือพล 5,000 ไปตั้งรับอยู่ที่เมืองราชบุรี เพื่อรักษาทางลำเลียงยุทธปัจจัยของกองทัพที่ 2 และคอยสกัดกองทัพพม่าที่อาจยกมาจากเมืองทวาย
ทัพที่ 4 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นจอมทัพ ทัพนี้ถือเป็นทัพหลวง ไพร่พลเตรียมพร้อมที่ชานพระนคร จำนวน 20,000 เศษ เป็นทัพหนุน พิจารณาจากสภาพการณ์จริง หากการศึกทางด้านใดเพลี่ยงพล้ำก็จะยกไปช่วยในทันที
กองทัพใหญ่ของพม่ามีปัญหาด้านการลำเลียงเสบียงและยุทธปัจจัยจากแนวหลังไปยังทัพหน้า อีกทั้งความไม่ชำนาญ ภูมิประเทศและปัญหาการติดต่อประสานงานระหว่างกองทัพ ทำให้กองทัพพม่าขาดศักยภาพในการทำสงคราม แต่ก็ยังมีจำนวนมากกว่าสยามอยู่เกือบสองเท่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททำให้กองทัพใหญ่ของพม่าติดอยู่ในช่องเขา เคลื่อนทัพไม่ได้เพราะถูกตรึงอยู่ มีทางเดียวคือต้องถอยทัพ กองทัพจำนวนมหาศาลจึงไม่ได้ร่วมรบ
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงได้พระยาเจ่งและกองทัพมอญสวามิภักดิ์มาช่วยรบ กองทัพสยามตั้งค่ายชักปีกกา ขุดสนามเพลาะ ปักขวากหนาม ตั้งปืนกะระยะยิง เมื่อกองทัพที่ 4 ของพม่ายกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ได้เผชิญกับกองทัพของพระองค์ที่ตั้งรับอยู่ พม่าจึงเร่งตั้งค่ายแล้วนำปืนใหญ่ยิงถล่มฝ่ายสยามจนไพร่พลเริ่มเสียขวัญ
ด้วยความเด็ดขาดของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิง-หนาท ทรงประกาศว่า หากใครถอยหนีหรือไม่ยอมสู้รบให้ลงโทษอย่างหนัก โดยจับใส่ครกขนาดใหญ่แล้วโขลกให้ร่างแหลกละเอียด ทำให้ไพร่พลกลับมาฮึดสู้อีกครั้ง พระองค์ทรงคิดกลยุทธ์ใหม่ โดยใช้ไม้ยาวสองศอกเสียบปลายกระบอกปืนใหญ่แทนลูกกระสุนแล้วยิงใส่พม่า จนหอรบปืนใหญ่ของพม่าพังลงมาทั้งหมด
ระหว่างนั้นทรงนำทหารส่วนหนึ่งไปปฏิบัติการสงครามกองโจร “โจรยุทธ์” มอบหมายให้พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นผู้คุมกองโจรไปปฏิบัติการปล้นสดมภ์ขบวนลำเลียงของพม่าที่พุไคร้ ช่องแคบแควน้อย ทำให้ค่ายพม่าขาดเสบียงอาหารและกระสุน ดินดำที่จะใช้ต่อสู้
เมื่อทัพหน้าของพม่าถูกตรึงอยู่ ทัพ 6 และ 7 จึงไม่สามารถเดินต่อได้ แม้ทัพของพระเจ้าปดุงเองก็ต้องหยุดทัพ อีกทั้งขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างหนัก ทหารพม่าจึงเริ่มอดอยาก เจ็บป่วยเป็นไข้ป่า และเริ่มล้มตายไปทีละคน สงครามกองโจรทำให้พม่าเสียขวัญ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงใช้กลยุทธ์หลอกฝ่ายพม่า โดยให้ทหารลอบออกนอกค่ายในเวลาค่ำ แล้วตั้งทัพถือธงเดินเป็นกระบวนกลับมาในตอนเช้า ส่งเสียงสดชื่นอึกทึก พม่าจึงคิดว่าไทยมีกำลังหนุนมาเพิ่มเสมอ จึงยิ่งเสียขวัญหนัก
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงประกาศปลุกขวัญไพร่ทหารว่า “พวกเจ้าเป็นไพร่หลวง ข้าเป็นพระราชวงศ์ แต่เจ้ากับข้าเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเราเป็นคนไทย เป็นเจ้าของแผ่นดินเหมือนกัน รบวันนี้เราจะแสดงให้ผู้รุกรานเห็นว่าเราหวงแหนแผ่นดินแค่ไหน รบวันนี้เราจะไม่กลับมาค่ายนี้อีกจนกว่าจะขับไล่ศัตรูไปพ้นชายแดน ข้าจะไม่ขอให้พวกเจ้ารบเพื่อใคร นอกจากรบเพื่อแผ่นดินของเจ้าเอง แผ่นดินที่เจ้ามอบให้ลูกหลานของเจ้าได้อยู่อาศัยอย่างเป็นสุขสืบไป”
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2328 กองทัพสยามระดมตีค่ายพม่าทุกค่าย พร้อมทั้งใช้ปืนใหญ่ยิงสนับสนุนอย่างหนักตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ไพร่พลสยามไล่ฆ่าฟันพม่าล้มตายจำนวนมาก ที่หนีกระจัดกระจายก็ถูกกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรเข้าตีซ้ำเติม จับเชลย ริบศัสตราวุธกลับมาเป็นจำนวนมาก พงศาวดารพม่ากล่าวว่า “ไทยตีค่ายพม่าแตกที่แนวรบทุ่งลาดหญ้านั้น ทหารพม่ากำลังอดอยากอิดโรย ถูกไทยฆ่าตายและจับเป็นเชลยทั้งนายและไพร่พล ประมาณ 6,000 คน”
เมื่อพระเจ้าปดุงทราบว่าทัพหน้าแตกพ่าย ทั้งเสบียงอาหารขัดสน ไพร่พลเจ็บป่วยล้มตายกันมาก จึงสั่งให้เลิกทัพทั้ง 5 ทัพ ถอยกลับเมืองเมาะตะมะในทันที ส่วนทัพที่ 2 ตั้งทัพอยู่ที่เขางู ราชบุรี ขาดการติดต่อจึงไม่รู้ว่าทัพหน้าแตกพ่ายไปแล้ว จึงยังคุมเชิงอยู่ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสร็จจากศึกทุ่งลาดหญ้าแล้วยกทัพหมายช่วยหัวเมืองทางใต้ผ่านมา บังเอิญปะทะกับทัพพม่าที่เขางูจึงรบพุ่งกัน ทัพพม่าจึงพ่ายแพ้กลับไป
เมื่อนำทัพกลับพระนครได้ 6 วัน ทรงปรึกษากับพระเชษฐาธิราช แล้วทรงแยกทัพเป็นสองทัพใหญ่ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพมาช่วยหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ถูกพม่ายึดครอง ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยกทัพขึ้นหนุนทางภาคเหนือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงยกทัพไปปะทะพม่าที่ไชยาและตีเมืองนครศรีธรรมราช ในที่สุดก็สามารถขับไล่และทำลายกองทัพพม่าที่เหลืออีก 3 ทัพได้สำเร็จ ภายหลังจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุ ถวายเป็นพระอารามหลวง โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นพุทธบูชาในคราวที่พระองค์มีชัยชนะต่อพม่า
2. การทำสนธิสัญญาเบอร์นี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) ทูตของอังกฤษ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม ใน พ.ศ. 2368 เพื่อเจรจาปัญหาทางการเมืองและการค้ากับไทย ในด้านการค้ารัฐบาลอังกฤษมีความประสงค์ที่จะขอเปิดสัมพันธไมตรีทางการค้ากับไทยและขอความสะดวกในการค้าได้โดยเสรี การเจรจาได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 และมีการลงนามในสนธิสัญญากัน โดยจัดทำขึ้น 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ โปรตุเกส และมลายู ซึ่งเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศตะวันตก
ในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขาย พบว่า ผู้แทนรัฐบาลไทยได้รักษาเกียรติยศและผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ดีที่สุด โดยไม่ยอมให้อังกฤษตั้งกงสุลและเอากฎหมายอังกฤษมาใช้ในไทย โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ผู้กำกับกรมท่าและกรมมหาดไทย เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากในการเจรจาดังกล่าว หนังสือสัญญาดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ไทยยอมทำกับต่างประเทศ รัฐบาลไม่ค่อยเต็มใจทำเนื่องจากเนื้อหาทำให้รัฐบาลและขุนนางกรมท่าขาดรายได้
สนธิสัญญาเบอร์นีมีสาระสำคัญดังนี้ 1. ให้เรือพ่อค้าอังกฤษปฏิบัติตามธรรมเนียมไทย ห้ามมิให้ขายกระสุนดินดำแก่เอกชน ให้ขายเฉพาะในหลวงเท่านั้น แต่สินค้าอื่นสามารถค้าขายได้อย่างเสรี ค่าธรรมเนียมสลุบกำปั่นรวมเบ็ดเสร็จ ถ้ามีสินค้าเข้ามาขาย คิดวาละ 1,700 บาท ถ้าไม่มีสินค้าเข้ามาขาย คิดวาละ 1,500 บาท โดยไม่เรียกเก็บจังกอบ ภาษี และค่าธรรมเนียมเพิ่ม สลุบ = เรือใบเดินทะเลชนิดหนึ่งแบบชาวตะวันตก
2. เรือพ่อค้าชาวอังกฤษจะต้องมาทอดสมอคอยอยู่นอกสันดอนปากแม่น้ำก่อน นายเรือจะต้องให้คนนำบัญชีรายชื่อสินค้าที่บรรทุกมาตลอดจนอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ แจ้งแก่เจ้าเมืองปากน้ำ เจ้าเมืองปากน้ำจะให้คนนำร่องและล่ามกฎหมายมาส่ง แล้วจึงจะนำเรือนั้นเข้ามายังแผ่นดิน 3. เจ้าพนักงานสามารถตรวจสอบเรือสินค้าได้ แล้วเอาสินค้ายุทธภัณฑ์ไว้ ณ เมืองปากน้ำ แล้วเจ้าเมืองจึงอนุญาตให้เรือมาถึงกรุงเทพมหานคร
4. เมื่อเรือสินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว เจ้าพนักงานตรวจสอบเรือสินค้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้ค้าขายกันอย่างเสรี (ตามข้อ 1) เวลาจะขนสินค้ากลับจะไม่คิดค่าธรรมเนียมเรือลำเลียง 5. ถ้าเรือบรรทุกสิ่งของเสร็จ ก็ให้นายเรือขอเบิกล่องต่อเจ้าพระยาพระคลัง แล้วไปหยุดทอดสมอตรงที่เคยทอด (ตามข้อ 2) เจ้าพนักงานตรวจสอบแล้วรับเอายุทธภัณฑ์กลับไป
6. พ่อค้าอังกฤษ ตลอดจนผู้บังคับการเรือและลูกเรือทั้งหลายซึ่งเข้ามาค้าขายยังเมืองไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ คนอังกฤษและคนไทยย่อมได้รับโทษเท่ากัน
ผลที่ตามมา ปฏิกิริยาต่อเบอร์นี เบอร์นีถูกกรมการเมืองปีนังและชาวอังกฤษในแหลมมลายูตำหนิเป็นอันมาก เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวเสียเปรียบไทยทั้งในด้านการเมืองและการค้า แต่รัฐบาลอินเดียกล่าวยกย่องเบอร์นี และปูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี ฝ่ายเบอร์นีเองก็เป็นห่วงว่าไทยอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงดังกล่าว เช่นเดียวกับเจ้าเมืองปีนัง
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยเสียผลประโยชน์ จึงมีการเพิ่มภาษีอากรให้ชดเชยรายได้ที่หายไป โดยมีการเรียกเก็บภาษีอากรใหม่ถึงเกือบ 40 อย่าง เดิมการผูกขาดการค้านั้นมีไว้เพื่อหาเงินสำหรับใช้จ่ายบำรุงบ้านเมืองและการศาสนา เมื่อรัฐบาลไม่สามารถผูกขาดสินค้าได้อีกแล้วก็ใช้วิธีโอนสิทธิ์ให้แก่เจ้าภาษีแทน ทำให้สินค้าแพงขึ้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อน สวนทางกับข้าวเปลือกที่ราคาตกต่ำมาก ในขณะที่รัฐบาลมีรายได้ปีละหลายล้านบาท
หลังการลงนามในสนธิสัญญา พ่อค้าฝรั่งรู้สึกไม่พอใจ เพราะคิดว่าเสียค่าธรรมเนียมแพงเกินควร และต้องอยู่ใต้กฎหมายและธรรมเนียมไทย ทั้งยังไม่พอใจที่รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาต่าง ๆ รัฐบาลอังกฤษจึงส่งทูตมาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญา โดยขอตั้งกงสุลอเมริกันและขอลดหย่อนค่าธรรมเนียม
ขณะที่ไทยเห็นว่าข้อตกลงในสนธิสัญญาเบอร์นี มีความเหมาะสม และอังกฤษได้รับผลประโยชน์มากอยู่แล้ว ถ้าไทยยอมแก้ไขสนธิสัญญาให้สิทธิพิเศษแก่อังกฤษมากไป จะทำให้ชาติอื่น ๆ ถือเป็นแบบอย่าง ดังนั้น การเจรจาจึงไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อเซอร์ เจมส์ บรูค กลับไปถึงสิงคโปร์ ได้เสนอให้รัฐบาลอังกฤษใช้กำลังทหารบีบบังคับไทยให้ยอมแก้ไขสนธิสัญญา แต่รัฐบาลอังกฤษไม่เห็นชอบ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษจึงเป็นไปตามสนธิสัญญาเบอร์นีที่จัดทำขึ้นใน พ.ศ. 2369
การทำสนธิสัญญาเบอร์นีก่อให้เกิดการขยายตัวด้านการค้าต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจสยาม 2 ประการ คือ ทำให้รัฐต้องปรับวิธีการหารายได้และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในรูปภาษีมากขึ้น และก่อให้เกิดการผลิตเพื่อการค้าส่งออกเพิ่มขึ้น ในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 รัฐได้หันกลับมาใช้นโยบายการค้าผูกขาดอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาเบอร์นี ก่อให้เกิดปัญหาทางการค้าระหว่างสยามกับอังกฤษ นำไปสู่การทำ สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring treaty) ใน พ.ศ. 2398 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งสยามต้องยอมรับระบบการค้าเสรีของอังกฤษในที่สุด
3. สนธิสัญญาเบาว์ริง
หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษและประเทศสยาม สนธิสัญญาที่สยามทำกับสหราชอาณาจักรลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศโดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2393 พระองค์ทรงตระหนักถึงอันตรายจากการที่รัฐบาลไทยไม่ยอมแก้ไขหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยทรงดูจากการที่จีนและพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ จึงทรงประกาศเจตนาว่ายินดีจะทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
เมื่อทราบว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใหม่ทรงแสดงความต้องการจะทำสนธิสัญญาด้วย รัฐบาลอังกฤษก็ได้ส่งจอห์น เบาว์ริง เข้ามาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ใน พ.ศ. 2398 โดยปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมไทย ให้ทูตเชิญพระราชสาส์นสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียเข้ามาถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย จึงได้รับการต้อนรับดีกว่าทูตตะวันตกที่ผ่านมาทั้งหมด
จอห์น เบาว์ริง อยู่ในกรุงสยาม 1 เดือน และใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เจรจากับ “ผู้สำเร็จราชการฝ่ายสยาม” คือ 1. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร ประธานผู้แทนรัฐบาล 2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท 3. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ผู้สำเร็จราชการพระนคร 4. เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รักษาการในตำแหน่ง สมุหพระกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก 5. เจ้าพระยารวิวงศ์ พระคลัง และสำเร็จราชการกรมท่า บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายตะวันออก
สรุปสาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริง มีดังนี้ 1. คนในบังคับอังกฤษจะอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกงสุลอังกฤษ นับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างด้าว 2. คนในบังคับอังกฤษได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยาม และสามารถอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นการถาวรได้ ภายในอาณาเขตสี่ไมล์ แต่ไม่เกินกำลังเรือแจวเดินทางในยี่สิบสี่ชั่วโมงจากกำแพงพระนคร คนในบังคับอังกฤษสามารถซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวได้ คนในบังคับอังกฤษยังได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยามโดยมีหนังสือรับรองจากกงสุล
3. ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออกชัดเจน 1) อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน 2) สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน (จังกอบ ภาษีป่า ภาษีปากเรือ) หรือภาษีส่งออก
4.พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวาง 5.รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ในการห้ามส่งออกข้าว เกลือและปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวมีทีท่าว่าจะขาดแคลนในประเทศ
ตามสนธิสัญญาเบาว์ริง ไทยได้รับเงื่อนไขให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งเสียเปรียบกว่าจีนและญี่ปุ่นที่ถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าร้อยละ 5 โดยตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น พ.ศ. 2400 อังกฤษยังยอมให้สินค้าบางชนิดเก็บอัตราภาษีขาเข้าสูงกว่าร้อยละ 5 โดยบางชนิดสูงถึงร้อยละ 35 เดิมก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริง ไทยเคยเก็บภาษีขาเข้าจากพ่อค้าฝรั่งถึงร้อยละ 8
อังกฤษประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำสนธิสัญญา เบาว์ริง โดยรัฐบาลสยามยอมให้อังกฤษเข้ามาตั้งกงสุล มีอำนาจพิจารณาคดีที่คนอังกฤษมีคดีความกัน และร่วมพิจารณาคดีที่คนไทยกับอังกฤษ มีคดีความกัน ข้าว เกลือ และปลาไม่เป็นสินค้าต้องห้ามอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการรับเอาวิทยาการตะวันตกสมัยใหม่เข้าสู่ประเทศ ซึ่งทำให้ชาวต่างประเทศยอมรับมากขึ้น