ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙-๒๘๗/๒, ๓๖๗-๓๙๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙-๒๘๗/๒, ๓๖๗-๓๙๘ ครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ ดร.ศุภกิจ แย้มประชา
ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตราที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๒๑๗ ถึง ๒๓๙ (๒๓ มาตรา) วันนี้ เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับการวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เกิดระเบิดและทำให้เกิดเพลิงไหม้ มาตรา ๒๑๗ ถึง ๒๒๕ (๙ มาตรา)
วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น มาตรา ๒๑๗ ถึง ๒๑๙ มาตรา ๒๑๗ ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท ข้อสังเกต ทรัพย์ มีความหมายตามปพพ. มาตรา ๑๓๗ คือวัตถุมีรูปร่าง เป็นได้ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่นจึงผิดมาตรานี้ ฎีกาที่ ๕๓๖๔/๒๕๓๖, ๕๗๑๐/๒๕๔๑ ถ้าเป็นทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ไม่ผิดมาตรานี้ เพราะต้องตีความโดยเคร่งครัด แต่ผิดมาตรา ๓๕๘ เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา ๒๒๓ แสดงว่าจะผิดมาตรานี้ทรัพย์ต้องมีราคาไม่เล็กน้อย หรือ ทรัพย์มีราคาเล็กน้อย แต่การเผาน่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น ความผิดสำเร็จเมื่อทรัพย์ที่เผา หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของทรัพย์ที่เผาลุกติดไฟขึ้น หรือไหม้ไฟ (๒๙๘๔/๒๕๔๙, ๑๑๙๖๓/๒๕๕๓) เป็นเพียงรอยดำ รอยเกรียม รอยเขม่ายังไม่ถือว่าไหม้ เป็นแค่พยายาม (๕๕๔๔/๒๕๓๑, ๒๘๒๙/๒๕๓๒, ๑๑๙๖๓/๒๕๕๓) ต้องแยกให้ออกระหว่างการวางเพลิงเผาทรัพย์ กับการทำให้เสียทรัพย์ด้วยการเผาทำลาย (๖๖๖๖/๒๕๔๒ เคยออกข้อสอบเนติบัณฑิต, ๑๑๑๑๘/๒๕๕๓)
ฎีกาที่น่าสนใจ ความผิดสำเร็จเมื่อใด ๒๘๒๙/๒๕๓๒ การกระทำที่จะเป็นความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนนั้นไม่หมายความเพียงว่าเอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้โรงเรือนนั้นลุก ติดไฟขึ้นด้วย เพียงแต่ฝาผนังบ้านอันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนมีรอยเขม่า ดำแต่ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จ แม้จะมีทรัพย์สินอื่นหลายรายการ เช่นเครื่องเรือนถูกไฟลุกไหม้ไป ก็ถือไม่ได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยได้ถูกไฟไหม้ไปด้วยการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามวางเพลิงเผาโรงเรือนเท่านั้น ๑๑๙๖๓/๒๕๕๓ การกระทำที่จะเป็นความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาทรัพย์นั้นไม่หมายความเพียงว่า เอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์นั้นติดไฟขึ้นด้วย จากสภาพในที่เกิดเหตุ ทรัพย์สินที่ถูกเผาไหม้เสียหายมีเพียงเตียงนอนและเบาะนอน ส่วนฝาบ้านชั้นล่างมีเพียงรอยเกรียม ดำ ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จ คงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ตาม ป.อ. มาตรา ๒๑๘ (๑) ประกอบมาตรา ๘๐, ๘๓ เท่านั้น
ฎีกาที่น่าสนใจ วางเพลิงกับทำให้เสียทรัพย์ ๖๖๖๖/๒๕๔๒ การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ผ่าซีกที่ยึดติดเป็นแผงซึ่งเป็นรั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ แล้วนำไปเผาทำลายนั้น เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๘ เพียงบทเดียวมิใช่กระทำผิดหลายบท เพราะจำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงโดยนำไปเผาให้ใช้การได้เท่านั้น การเผาแผงไม้ไผ่นั้นเป็นการทำลายทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ ๑ ให้เสียหาย มิใช่วางเพลิงเผาทรัพย์รั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ เนื่องจากจำเลยมิได้วางเพลิงเผาแผงไม้ไผ่ในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขตเป็นที่อยู่อาศัย ของโจทก์ร่วมที่ ๑ อันจะต้องด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๗ ๑๑๑๑๘/๒๕๕๓ การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๖ ร่วมกันรื้อโครงสร้างไม้ห้องแถวของผู้เสียหายมากองรวมกันไว้แล้วนำไปเผาทำลาย มิใช่เผาทำลายในขณะที่ทรัพย์ยังมีสภาพเป็นโครงสร้างไม้ห้องแถวอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๖ มีเพียงเจตนาทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้โดยการรื้อออกมา ส่วนการเผาเป็นเพียงแค่การทำลายชิ้นส่วนที่รื้อออกมาจนตัวทรัพย์ซึ่งใช้การไม่ได้ไปแล้วเท่านั้น จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๖ จึงไม่มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๖ จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๘ เพียงบทเดียว หาใช่เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา ๒๑๗ ด้วยไม่
เหตุฉกรรจ์ของมาตรา ๒๑๗ วางเพลิงทรัพย์บางประเภท มาตรา ๒๑๘ ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้ (๑) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย (๒) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า (๓) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม (๔) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา (๕) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานหรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ (๖) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี ข้อสังเกต เป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้รับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา ๖๒ วรรคท้าย ผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ ทรัพย์ตามมาตรานี้ก็ต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น (๙๗๖/๒๕๓๙) เคยออกข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและเนติบัณฑิต (สมัยที่ ๔๘) ความผิดสำเร็จ โรงเรือนหรือส่วนหนึ่งของโรงเรือนต้องติดไฟ ราดน้ำมันพื้นซีเมนต์เพื่อเผาโรงเรือน ไม่ติดไฟ เป็นพยายามตามมาตรา ๘๐ ไม่ใช่ ๘๑ เพราะพื้นซีเมนต์ก็มีโอกาสติดไฟ (ฎีกาที่ ๒๗๕๗/๒๕๕๒)
ข้อสังเกต มาตรา ๒๑๘ (ต่อ) โรงเรือนที่มีคนอยู่อาศัย หมายถึงสามารถอยู่อาศัยได้ ไม่ได้หมายความว่าขณะที่วางเพลิงต้องมีผู้อาศัยอยู่ (๖๐๕/๒๕๒๑, ๑๑๙๖๓/๒๕๕๓) ๑๑๙๖๓/๒๕๕๓ ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายและครอบครัวย้ายจากบ้านที่เกิดเหตุ ไม่มีใครพักอาศัยอยู่ แต่ผู้เสียหายยังคงไปๆ มาๆ ที่บ้านที่เกิดเหตุ และมีเตียงนอน อุปกรณ์เครื่องนอน โทรทัศน์สีและกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าสำหรับใช้ประโยชน์ในการมาพักอาศัยเป็นครั้งคราวอยู่ด้วย จึงรับฟังได้ว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ความผิดตามมาตรา ๒๑๘ (๑) อาจกระทำโดยเจตนาเล็งเห็นผลได้ (๑๑๔/๒๕๓๑, ๖๗๓๘/๒๕๓๗) เป็นโรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าหรือไม่ ดู ๘๐๖๔/๒๕๕๖ ๘๐๖๔/๒๕๕๖ ผู้เสียหายมีอาชีพทำฟาร์มโค ฟางอัดแท่งที่เก็บอยู่ในโรงเก็บฟาง ไม่ใช่สินค้าที่มีไว้เพื่อการค้าของผู้เสียหาย แต่น่าจะมีไว้เลี้ยงโคผู้เสียหายเองมากกว่า โรงเก็บฟางที่จำเลยวางเพลิงจึงมิใช่โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้าตามความหมายของมาตรา ๒๑๘ (๒) แต่เป็นทรัพย์ทั่วไปของผู้อื่นตามมาตรา ๒๑๗
ฎีกาที่น่าสนใจ เผาโรงเรือนสำเร็จเมื่อใด ๒๗๕๗/๒๕๕๒ จำเลยใช้ไฟแช็กแก๊สจุดไฟบริเวณที่ราดน้ำมันซึ่งเป็นพื้นปูนซีเมนต์และประตูหน้าบ้านของผู้เสียหายซึ่งเป็นประตูเหล็ก แต่วัตถุดังกล่าวหาใช่ว่าจะไม่สามารถติดไฟได้เลยอย่างแน่แท้ไม่ เพราะน้ำมันเบนซินเป็นวัตถุไวไฟติดไฟง่ายสามารถเผาผลาญปูนซีเมนต์และเหล็กได้ ทั้งเมื่อไฟติดแล้วอาจจะลุกลามกระจายเป็นวงกว้างไปไหม้บ้านของผู้เสียหายได้ การที่จำเลยจุดไฟไม่ติดจึงเป็นเหตุบังเอิญมากกว่า การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตาม ป.อ. มาตรา ๘๑ แต่เป็นความผิดฐานพยายามซึ่งอาจบรรลุผลได้ตาม ป.อ. มาตรา ๘๐
การตระเตรียมต้องระวางโทษเช่นเดียวกับการพยายาม มาตรา ๒๑๙ มาตรา ๒๑๙ ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา ๒๑๗ หรือมาตรา ๒๑๘ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำความผิดนั้น ๆ ข้อสังเกต ความผิดทั่วไปจะลงโทษต่อเมื่อกระทำถึงขั้นลงมือ กรณีนี้การกระทำเป็นภยันตรายต่อประชาชน กฎหมายจึงลงโทษการตระเตรียม การตระเตรียมที่จะเป็นความผิด ผู้กระทำต้องมีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ด้วย ๖๗๓๗/๒๕๔๘ จำเลยนำถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเบนซินไปวางบนแคร่หน้าบ้านผู้เสียหายที่ ๒ จากนั้นจำเลยก็บุกรุกเข้าบ้านผู้เสียหายที่ ๑ และทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ ๑ แล้วรีบหลบหนีออกจากบ้านผู้เสียหายที่ ๑ ไปโดยไม่ได้สนใจถุงน้ำมันเบนซินดังกล่าวอีก แม้ขณะทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑จำเลยจะกล่าวขึ้นว่า "โกหกกู จะฆ่าและเผาให้หมด" แต่จำเลยก็มิได้แสดงอาการจะฆ่าผู้เสียหายที่ ๑ ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายที่ ๑ เป็นผู้หญิงอยู่คนเดียว ซึ่งจำเลยอาจกระทำการฆ่าได้โดยง่าย และทั้งจำเลยก็มิได้กลับไปเปิดถุงพลาสติกเอาน้ำมันเบนซินราดหน้าบ้านผู้เสียหายที่ ๒ เพื่อจุดไฟเผาดังพูด พฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่าจำเลยหาได้มีเจตนาจะกระทำการฆ่าหรือเผาตามที่กล่าวขึ้นไม่ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น
ทำให้เกิดเพลิงไหม้วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง มาตรา ๒๒๐ มาตรา ๒๒๐ ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๑๘ ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๘ ข้อสังเกต เช่น จุดไฟเผาฟางข้าวในนาตนเอง ขณะกำลังมีลมพัดแรงและเผาใกล้บ้านผู้อื่นจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น แค่น่าจะเป็นอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นก็เป็นความผิดสำเร็จ ยิ่งถ้าเป็นอันตรายด้วยก็มีความผิดตามมาตรา ๒๒๐ เช่นกัน ฎีกาที่ ๗๐๓/๒๕๐๐ “น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น” หรือไม่ ต้องใช้วิญญูชนพิจารณา ขึ้นกับข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป ฎีกาที่ ๕๙๐/๒๕๓๖ ความแตกต่างของมาตรา ๒๒๐ และ ๒๒๕ ฎีกาที่ ๑๒๘๕/๒๕๒๙ น่าจะเป็นอันตรายยังไม่ต้องถึงขนาดเล็งเห็นผลว่าจะเกิดอันตราย เพราะถ้าเล็งเห็นผล อาจผิดมาตรา ๒๑๗ หรือ ๒๑๘ แล้วแต่กรณี วรรคสองเป็นผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น จึงต้องเป็นผลธรรมดาตามมาตรา ๖๓
ฎีกาที่น่าสนใจ น่าจะเป็นอันตราย ๕๙๐/๒๕๓๖ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๒๐ นั้น จะต้องน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือของผู้อื่น ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่าบ้านเกิดเหตุอยู่ห่างจากบ้านของผู้อื่น ๑๕ เมตร โดยไม่ปรากฏว่าเปลวเพลิงได้ลุกลามไปทางบ้านของผู้อื่นแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ศาลเห็นว่าการวางเพลิงเผาบ้านครั้งนี้น่าจะเป็นอันตรายแก่บ้านเรือนของผู้อื่นอย่างไร เช่นว่า สภาพแวดล้อมของบ้านเกิดเหตุ ทิศทางลมและเปลวเพลิงขณะเกิดเพลิงไหม้เป็นอย่างไร จนน่าจะไหม้ลามไปถึงบ้านเรือนของผู้อื่นที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกันหรือไม่ เป็นต้นการกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิด. ๒๒๐ หรือ ๒๒๕ ๑๒๘๕/๒๕๒๙ จำเลยจุดไฟเมื่อเวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกาแต่เพลิงได้ลามไปไหม้บ้านบุคคลอื่นซึ่งปลูกอยู่ใกล้เคียงกันตอนบ่าย ๓โมง ระยะเวลาห่างกันหลายชั่วโมง แสดงว่าไม่มีลักษณะที่น่ากลัวจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น แต่เป็นเรื่องที่จำเลยตั้งอยู่ในความประมาทไม่คอยควบคุมดูแลให้เพลิงลุกไหม้อยู่ภายในขอบเขตที่จำกัด เพลิงจึงได้ลามเข้าไปยังนาข้างเคียงและก่อให้เกิดความสูญเสียขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามป.อ.มาตรา ๒๒๐ ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรานี้อันเป็นบทหนักได้ การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องขาดความระมัดระวังจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นความผิดตามมาตรา ๒๒๕
ทำให้เกิดระเบิด มาตรา ๒๒๑ และ ๒๒๒ มาตรา ๒๒๑ ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท ข้อสังเกต ทำให้ระเบิด หมายถึง ทำให้ปะทุแตกออกไป “น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น” มีความหมายเดียวกับมาตรา ๒๒๐ ฎีกาที่ ๘๕๘๔/๒๕๔๗ มาตรา ๒๒๒ ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ดังกล่าวในมาตรา ๒๑๗ หรือมาตรา ๒๑๘ ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ฎีกาที่ ๖๐๕/๒๕๒๑, ๒๓๔/๒๕๒๘
ฎีกาที่น่าสนใจ ๘๕๘๔/๒๕๔๗ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกใช้ผ้าปิดปากขวดที่บรรจุน้ำมันและจุดไฟโยนเข้าไปในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน จนเกิดระเบิดและน่าจะเกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นการกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น เป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา ๒๒๑ แล้ว กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องกระทำโดยใช้วัตถุและต้องเกิดความเสียหายเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นด้วยไม่ ๒๓๔/๒๕๒๘ ปกติลูกระเบิดเป็นอาวุธร้ายแรง เมื่อถอดสลักลูกระเบิดหรือสลักนิรภัยออกแล้วย่อมจะต้องระเบิดขึ้นทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้จำเลยทำให้เกิดระเบิดโดยเจตนาฆ่าตัวตายเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๒
ทรัพย์ราคาเล็กน้อย การกระทำไม่น่าเป็นอันตราย มาตรา ๒๒๓ มาตรา ๒๒๓ ความผิดดังกล่าวในมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๐ มาตรา ๒๒๑ หรือมาตรา ๒๒๒ นั้น ถ้าทรัพย์ที่เป็นอันตรายหรือที่น่าจะเป็นอันตรายเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย และการกระทำนั้นไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อสังเกต เป็นมาตราที่ลดอัตราโทษให้น้อยลงแก่การกระทำซึ่งเป็นปกติเป็นความผิดในแต่ละมาตราที่ระบุ เงื่อนไขต้องครบทั้งสองประการ คือ ทรัพย์มีราคาน้อย และการกระทำนั้นไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ราคาน้อยหรือไม่ น่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป ฎีกาที่ ๗๒๒/๒๕๔๕, ๑๐๖๔๗/๒๕๕๔
ฎีกาที่น่าสนใจ ๗๒๒/๒๕๔๕ ทรัพย์ที่เป็นอันตรายจากการวางเพลิงของจำเลยเป็นเพียงประตูบ้านซึ่งทำด้วยไม้มะค่าและต้นไม้ประดับ คิดเป็นเงินประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายก็อยู่ในที่เกิดเหตุและสามารถดับไฟได้ทัน การกระทำของจำเลยจึงไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น กรณีเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๘ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๓ ๘๗๔๖/๒๕๔๓ เมื่อปรากฏว่า กระท่อมนาและทรัพย์สินที่ถูกเพลิงไหม้มีราคาเพียงเล็กน้อย (๒๐,๐๐๐ บาท) ทั้งกระท่อมนาดังกล่าวปลูกอยู่กลางทุ่งนา รอบกระท่อมนาไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ และขณะเกิดเหตุกระท่อมนาไม่มีบุคคลอยู่อาศัย ย่อมไม่อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๒๓
การกระทำเป็นเหตุให้มีผู้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย มาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๔ ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๑ หรือมาตรา ๒๒๒ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้าเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี ข้อสังเกต ความตาย และอันตรายสาหัสเป็นผลที่ทำให้รับโทษหนักขึ้น จึงต้องเป็นผลธรรมดา ฎีกาที่ ๑๔๑๒/๒๕๐๔ (ประชุมใหญ่) จำเลยวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น มีผู้เข้าไปช่วยดับเพลิงแล้วถูกไฟลวกถึงแก่ความตาย การเข้าไปช่วยดับเพลิงเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายเอง หาใช่การวางเพลิงของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่จำเลยจึงไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๔
ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท มาตรา ๒๒๕ มาตรา ๒๒๕ ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือ การกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อสังเกต มาตรานี้ประกอบด้วย ๒ ฐานความผิด ความผิดที่หนึ่ง ต้องมีผล ความผิดที่สอง ไม่ต้องมีผล ประมาท พิจารณาตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่ ข้อแตกต่างของมาตรา ๒๒๐ และ ๒๒๕ ดูที่จุดเริ่มต้นว่าเริ่มจากการทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุของตนเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นก่อนหรือไม่ ถ้าใช่ จึงจะผิดมาตรา ๒๒๐ แต่หากเริ่มต้นไม่เป็นอันตราย แต่ประมาทไม่ดับหรือควบคุมไฟ ต่อมาไฟลุกลามจนน่าจะเป็นอันตราย ก็ผิดมาตรา ๒๒๕ ฎีกาที่ ๒๐๙๐/๒๕๒๖, ๑๒๘๕/๒๕๒๙ ตัวอย่างความผิดที่ ๑ ฎีกาที่ ๑๒๑๑/๒๕๓๐ (ประชุมใหญ่)
ฎีกาที่น่าสนใจ ไม่ประมาท ๓๔๘๕/๒๕๓๕ จำเลยขับรถแทรกเตอร์ไถเกรดหญ้าไปได้ ๑ รอบครึ่งเครื่องยนต์เกิดขัดข้องและดับลง จำเลยสตาร์ตเครื่องยนต์จึงเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นที่เครื่องยนต์ก่อน แล้วลามไหม้ตัวรถแทรกเตอร์และไหม้สวนยางพาราของผู้เสียหาย เหตุไฟไหม้เครื่องยนต์น่าจะเป็นอุบัติเหตุ เพราะปกติธรรมดาแล้วการสตาร์ตเครื่องยนต์ก็เพื่อให้เครื่องยนต์ติดไม่ใช่เหตุที่ต้องเกิดไฟลุกไหม้เครื่องยนต์เป็นปกติธรรมดา การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๕ ๖๕๑๑/๒๕๓๔ จำเลยและ ส.จุดไฟเผาหญ้าในสวนของตน โดยจุดแล้วดับในร่องสวนทีละร่องไล่กันไปจนถึงร่องที่เกิดเหตุ ต่อมาจำเลยกลับไปก่อนปล่อยให้ ส. กับ ต. ช่วยกันดับไฟที่จุดแล้วไม่ปรากฏว่าการดับไฟที่เหลืออยู่นั้นเกินกำลังของ ส.และ ต. ที่จะช่วยกันดับได้การที่เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นภายหลังลุกลามไหม้สวนข้างเคียงเสียหายเกิดจากความประมาทของ ส. ที่ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการดับไฟ หาใช่เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิด
ฎีกาที่น่าสนใจ ประมาท ๑๒๑๑/๒๕๓๐ (ประชุมใหญ่) จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันลักน้ำมันที่ปั๊มผู้เสียหายโดยใช้สายไฟต่อขั้วแบตเตอรี่กับเครื่องปั๊มดูดน้ำมันจากถังใต้ดินมาใส่ถังในรถยนต์ เมื่อดูดน้ำมันได้ ๔ ถังแล้วจำเลยที่ ๒ ดึงสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ให้ปั๊มติ๊กหยุดทำงานเพื่อจะเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังที่ ๕ ทำให้เกิดประกายไฟเป็นเหตุให้เพลิงไหม้ดังนี้พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมาลักทรัพย์โดยวิธีการเช่นนี้ทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันกระจายอยู่ในบริเวณนั้นง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท เพราะแบตเตอรี่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเนื่องจากวิธีการในการลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองซึ่งกระทำด้วยความประมาท ต้องถือว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทุกคนที่ร่วมกันลักทรัพย์ ดังนั้นแม้จำเลยที่ ๓ จะมิได้เป็นผู้ถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ ๓ ร่วมกระทำด้วย จำเลยที่ ๓ จึงต้องมีความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท.
หัวข้อบรรยายครั้งที่ ๔ และ ๕ (วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑) ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายแก่ประชาชน มาตรา ๒๒๖ ถึง ๒๓๙ ลักษณะ ๗ ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง หมวด ๑ ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา มาตรา ๒๔๐ ถึง ๒๔๙