พ.ญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โครงการลดเค็ม อยุธยา พ.ญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา
โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคมะเร็ง เบาหวานและความดัน กำลังเป็นภาวะวิกฤตระดับโลก(Global Crisis) ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ข้อมูลจากองค์การอนามัยโรค(World Health Organization-WHO) พบว่า ในปี 2548 ร้อยละ 60% ของการเสียชีวิตทั้งหมดของโลก(ราว 35 ล้านคน) เกิดจากโรคเรื้อรัง และกว่าครึ่งของจำนวนนี้ 17 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนั้นองค์การอนามัยโรคระบุว่าภาระโรค(Burden of disease) มากกว่าครึ่งเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และ 30% ของภาระโรคในกลุ่มนี้เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไม่ได้จำกัดอยู่ที่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น แต่ได้เป็นปัญหาที่สำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งส่งผลต่อภาระในระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม การสูญเสียของประชากรก่อนวัยอันควรและภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
สำหรับสังคมไทยพบความชุกของโรคความดันโลหิตสูงในประชากรอายุ 15 ขึ้นไป สูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2552 พบว่ามีความชุกของความดันโลหิตสูงร้อยละ 21.4 นอกจากนั้นยังพบว่าอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของโรคหัวใจเพิ่มจาก 109.4 ในปี 2537 เป็น 793.3 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2552 โรคหลอดเลือดสมอง 48.76 ในปี 2537 เป็น 228.19 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2552 โรคไตวายเพิ่มจาก 217.05 ในปี 2547 เป็น 512.65 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2552 และจากการศึกษาภาระโรคในปี 2547 พบว่าการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังคิดเป็น 50% ซึ่งสูงกว่าโรคติดต่อถึง 3 เท่า ซึ่งภาระโรคที่เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดคิดเป็น 12% ในปี 2548 โดยประชากรยิ่งมีอายุมากขึ้นจะแนวโน้มเป็นเป็นโรคไม่ติดต่อมากขึ้น
การศึกษาผลกระทบของการบริโภคโซเดียมต่อภาวะสุขภาพพบว่าการบริโภคโซเดียมในปริมาณมากทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนั้นยังทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา(Left ventricular hypertrophy) และเกิดการสะสมของผังพืดในกล้ามเนื้อหัวใจ ไตและหลอดเลือด และการศึกษาพบว่าการลดการบริโภคโซเดียมจาก 3800 มิลลิกรัมต่อวัน เป็น 2500 มิลลิกรัมต่อวันจะลดภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งจะลดโอกาสการเกิดภาวะไตวาย นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ที่บริโภคโซเดียมมากกว่า 4600 มิลลิกรัมต่อวันมีอัตราการขับ Creatinine ลดลงและภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2300 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งหมายถึงการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูงมีแนวโน้มมีโอกาสเกิดภาวะไตวายสูงขึ้น
บทบาทขององค์การอนามัยโลกต่อการดำเนินการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากร องค์การอนามัยโลกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวและประกาศให้การดำเนินการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากรเป็นภารกิจหนึ่งในสามอันดับแรกและคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อลดความชุกของโรคเรื้อรัง โดยตั้งเป้าหมายในระดับประเทศว่าต้อง”ลดการบริโภคโซเดียมในประชากรลง 30% ภายในปี 2023” นอกจากนั้นยังได้แนะนำให้ประชากรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2300 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน
สำหรับแบบแผนการบริโภคโซเดียมในประเทศไทยแตกต่างจากประเทศตะวันตก ซึ่งกรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ ทำการสำรวจปริมาณการบริโภคโซเดียม 4 จังหวัดเมื่อปี 2550 (นครราชสีมา นครปฐม เชียงใหม่ สุราษฏร์ธานี) พบว่าประชากรไทยมีค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูงคือ ประมาณ 3700 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดโดยมีสัดส่วนของการกินอาหารนอกบ้านและซื้ออาหารนอกบ้านมากินมากกว่าการบริโภคมาจากอาหารแปรรูป
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตาม ยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย(2550-2559) โดยกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาลดปัญหาโรควิถีชีวิต ที่สำคัญ 5 โรค (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง มะเร็ง) ใน 4 ด้าน คือ ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการตาย ลดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียงใน 2 ด้าน คือ เพิ่มการบริโภคที่เหมาะสม เพิ่มการออกกำลังกายที่เพียงพอ โดยคาดหวังผลลัพธ์ของการพัฒนาว่าจะทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิตด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ สมดุล ยั่งยืนและเป็นสุข บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากหลักการและเหตุผลความสำคัญของปัญหาข้างต้น จะเห็นว่าการบริโภคเกลือหรือโซเดียมที่สูงเกินความจำเป็น เกิดจากแบบแผนและพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม
ทำให้เกิดภาระโรครวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองและโรคไตวายเรื้อรังที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย กระบวนการพัฒนาคนและระบบงานเพื่อควบคุมและป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ แสวงหาความร่วมมือ แนวทางมาตรการเชิงสร้างสรรค์ ที่จะนำมาใช้ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ตามมาตรการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมที่สอดคล้องกับความหลากหลายตามบริบท(การบริหารจัดการ)ของกลุ่มคนพื้นที่ หรือการบริหารจัดการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละภาคส่วน ดังนั้นทีมผู้ศึกษาวิจัย จึงได้พัฒนาโครงการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือ(โซเดียม)ในประเทศไทยขึ้น
วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ 1. พัฒนาและสังเคราะห์องค์ความรู้ ข้อมูลวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์(Evidence Base)ที่เป็นปัจจุบัน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานลดการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในประเทศไทย ที่สอดคล้องกับข้อจำกัด สภาพปัญหา และบริบทของพฤติกรรมการบริโภคอาหารในแต่ละพื้นที่ 2. พัฒนารูปแบบแนวทางที่จะใช้ในการรณรงค์การลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมของประเทศไทยที่สอดคล้องกับสภาวะสังคม วัฒนธรรมและบริบทของแต่ละพื้นที่ 3. ถอดบทเรียนของกระบวนการพัฒนาคน และระบบงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ Model เพื่อจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ 4. พัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดการบริโภคเกลือ(โซเดียม)