สาเหตุโรครวงไหม้ของข้าวในประเทศไทย การศึกษาจำแนกเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุโรครวงไหม้ของข้าวในประเทศไทย Identification of Bacterial Pathogens Causing Panicle Blight of Rice in Thailand ผู้รับทุน: นางสาววันวิสาข์ เพ็ชรอำไพ อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาสตราจารย์ ดร. วิชัย โฆสิตรัตน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โรครวงไหม้ของข้าวเกิดได้จากเชื้อสาเหตุทั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเกิดจากเชื้อ Burkholderia glumae ถึง 76% (Nandakumar et al., 2009) ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกา ปานามา โคลอมเบีย ศรีลังกา เนปาล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา (CABI, 2014) แต่ยังไม่มีรายงานพบเชื้อนี้ในประเทศไทย แต่มีการคาดการณ์ว่าเชื้อนี้จะมีโอกาสแพร่ระบาดได้อย่างมากในประเทศเขตร้อนและกึ่งร้อน อีกทั้งมีสถานภาพเป็นศัตรูพืชกักกัน (regulated pest) จึงต้องมีการศึกษาและจัดจำแนกที่มีความถูกต้อง
การทดสอบคุณสมบัติทางสัณฐานวิทยา และชีวเคมีบางประการของเชื้อแบคทีเรีย จากการเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบนอาหาร NA เป็นเวลา 48 ชั่วโมง พบว่าโคโลนีมีลักษณะสีขาวออกเทา กลม ขอบเรียบ นูนเล็กน้อย และโคโลนีมีขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร เมื่อทดสอบแกรมของเชื้อแบคทีเรียด้วยการย้อมแกรมเพื่อดูการติดสีและรูปร่างของเซลล์พบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ มีลักษณะท่อนสั้น ขนาดกว้าง 0.53-0.57 ไมโครเมตรและยาวประมาณ 2.0-2.5 ไมโครเมตร และพบการสะสมของ poly-β-hydroxybutyrate (PHB)
การทดสอบความสามารถในการเกิดโรคในต้นข้าวอายุ 2 เดือน เมื่อปลูกเชื้อแบคทีเรียทั้ง 46 ไอโซเลท ลงบนต้นข้าวอายุ 2 เดือน จำนวน 6 สายพันธุ์ ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105, พิษณุโลก 2, ข้าวญี่ปุ่น, กข31, กข41 และ กข47 ภายหลังการปลูกเชื้อ 14 วัน พบลักษณะแผลจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กในต้นข้าวที่ปลูกเชื้อด้วยน้ำนึ่งฆ่าเชื้อรวมทั้งเชื้อ Xanthomonas oryzae pv. oryzae โดยเชื้อแบคทีเรียทั้ง 46 ไอโซเลทมีค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคตั้งแต่ 33.33-100% ซึ่งก่อให้เกิดลักษณะอาการกาบใบเน่าในต้นข้าวทุกสายพันธุ์ที่นำมาทดสอบ
การตรวจสอบเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia glumae และ B การตรวจสอบเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia glumae และ B. gladioli เบื้องต้นด้วยเทคนิคพีซีอาร์ จากการตรวจสอบเชื้อแบคทีเรียทั้ง 46 ไอโซเลท ด้วยเทคนิคพีซีอาร์โดยใช้ไพรเมอร์ที่จำเพาะต่อเชื้อ Burkholderia glumae (Takeuchi et al., 1997) พบว่ามีเชื้อแบคทีเรียจำนวนทั้ง 45 ไอโซเลท สามารถเพิ่มปริมาณชิ้นดีเอ็นเอที่มีขนาดประมาณ 400 bp ยกเว้นไอโซเลท BGLCN และเมื่อตรวจสอบด้วยไพรเมอร์ที่จำเพาะต่อเชื้อ B. gladioli พบว่ามีเพียงไอโซเลท BGLCN ที่สามารถเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอขนาดประมาณ 300 bp ได้
การเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S-23S rDNA internal transcribed spacer (ITS) เมื่อเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S-23S rDNA internal transcribed spacer (ITS) ของเชื้อแบคทีเรียไอโซเลท 1BGRE5-1 ความยาว 395 bp กับเชื้อบนฐานข้อมูล Genbank พบว่าจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับเชื้อ B. glumae ทั้ง 3 ไอโซเลท ที่นำมาเปรียบเทียบมีลำดับนิวคลีโอไทด์ที่คล้ายคลึงกับเชื้อ B. glumae ที่มีรายงานของสายพันธุ์ BJG3 จากประเทศญี่ปุ่นที่เปอร์เซ็นต์ความเหมือนของลำดับนิวคลีโอไทด์ 100% กับสายพันธุ์ BGR1 จากประเทศเกาหลีใต้ 99.73% และสายพันธุ์ MAFF 301169T จากประเทศญี่ปุ่น 99.73%