การเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความหมายของประชาธิปไตย ประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองที่อำนาจมาจากประชาชน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น คือ การปกครองที่อำนาจสูงสุดในประเทศ หรือ ที่มักเรียกกันว่า “อำนาจอธิปไตย” มาจากราษฎร ราษฎรทุกคนเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ การใช้อำนาจอธิปไตยของราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย แบ่งออกได้เป็น 3 แบบด้วยกัน คือ ราษฎรใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง โดยทางผู้แทน ราษฏรใช้อำนาจอธิปไตยกึ่งโดยตรง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
เมื่อเราพูดถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” นั้นไม่ได้หมายถึง การเมืองอย่างเดียว แต่ต้องเป็นประชาธิปไตย ไปทั้งหมด ทั้งการเมืองเศรษฐกิจ และสังคม ต้องไม่มองเฉพาะด้านอุดมการณ์แต่ต้องมองในด้านให้มาเป็นวิถีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ประชาธิปไตยย่อมเรียนรู้ได้ด้วยการกระทำ
ปัจจุบัน ระบอบการเมืองการปกครองของไทย กลายเป็นระบอบการเมือง ของกลุ่มผลประโยชน์ โดยกลุ่มผลประโยชน์ทุกอย่าง ในระบอบการเมืองล้วนแต่ใช้เงิน ทำให้เกิดการเมือง ในระบอบธนาธิปไตย
ธนาธิปไตย ธนาธิปไตย คือ ระบบการเมืองการปกครองที่อำนาจรัฐตกอยู่ในกำมือของกลุ่มคนมีเงิน และกลุ่มก็ใช้เงินเป็นปัจจัยในการเข้าสู่อำนาจรัฐและใช้อำนาจนั้นในการหาผลประโยชน์ การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบแต่เนื้อแท้ก็คือ ธนาธิปไตย ซึ่งเป็นการเมืองเพื่ออำนาจ ผลประโยชน์ และอภิสิทธิ์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจการเมือง
เหตุที่ธนาธิปไตยเข้ามาในการเมืองไทยได้เพราะโครงสร้างประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นมีส่วนประกอบสำคัญ คือ จะต้องมีโครงสร้างหลักซึ่งได้แก่ 1. รัฐธรรมนูญ 2. รัฐสภา 3. พรรคการเมือง 4. รัฐบาล
ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วจำนวน 18 ฉบับ ฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มี 309 มาตรา แบ่งออกเป็นทั้งหมด 15 หมวด และบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเอกสาร ถึงแม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันไปกี่ครั้งก็ตาม แต่ถ้าพฤติกรรมของนักการเมืองยังเหมือนเดิม การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถช่วยพัฒนาการเมืองไทยได้ รัฐธรรมนูญ
ผังการบริหารราชการแผ่นดินของไทยแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็น 3 อำนาจหลัก คือ 1. อำนาจนิติบัญญัติ (ใช้อำนาจผ่านรัฐสภามีหน้าที่บัญญัติกฏหมายมีสมาชิกจำนวน 650 คน)(500+150คน) 2. อำนาจบริหาร (ใช้อำนาจผ่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จำนวน 36 คน) 3. อำนาจตุลาการ (ดำเนินการผ่านทางศาลภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์)
ในส่วนของอำนาจบริหารยังแบ่งออกเป็น 1. อำนาจบริหารส่วนกลาง ( กระทรวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ) 2. อำนาจบริหารส่วนภูมิภาค (จังหวัด อำเภอ) 3. อำนาจบริหารส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา)
รัฐสภา รัฐสภาของไทยประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีสมาชิกจำนวน 500 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) มีสมาชิกจำนวน 150 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี หน้าที่หลักของ ส.ส. และ ส.ว. คือ การทำหน้าที่นิติบัญญัติ (บัญญัติกฎหมาย) และการลงพื้นที่เพื่อดูแลความทุกข์สุขของประชาชน และหาแนวทางแก้ไขเมื่อพบปัญหา
พรรคการเมือง พรรคการเมือง คือ กลุ่มของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในเรื่องใหญ่ๆ คล้ายคลึงกัน รวมกันขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อต้องการนำอุดมการณ์และนโยบายนั้นไปบริหารประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ในปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 49 พรรคการเมือง(ณ วันที่ 18/3/54)
พรรคการเมือง ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อการเลือกตั้งและต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้หากพรรคการเมืองได้แสดงบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์จะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
หลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง จะมีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. ซึ่งได้รับการเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรี อื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปี มิได้
ถ้าคณะรัฐบาลทุจริต หรือกระทำผิดด้วยเหตุใดๆก็ตามก็ จะต้องแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการทางรัฐสภาเท่านั้น คือ การลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีทางเลือก 2 ทาง คือ ลาออกและหานายกใหม่ในสภา หรือ ยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันยุบสภา ไม่ควรใช้วิธีการเป็น MOBโดยชุมนุมอย่างไม่สงบและทำความเสียหายให้กับประเทศชาติ
สิ่งที่ทุกคนต้องระมัดระวัง คือ เราจะต้องไม่ทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็น รัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ตามความหมายขององค์การสหประชาชาติ รัฐที่ล้มเหลว หมายถึง รัฐ หรือ ประเทศที่แม้จะมีรัฐบาลแต่ไม่สามารถบริหารหรือปกครองประเทศได้ อาจเป็นเพราะเกิดความแตกแยก หรือ ขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม บางประเทศถึงกับมีการสู้รบกลายเป็นสงครามกลางเมือง
เราต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อธำรงไว้ ซึ่งการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ยั่งยืนสถาพรตลอดไป