ประเภทของนาฏศิลป์ไทย นางศุจินันท์ ฉลาด โรงเรียนโชคชัยสามัคคี นครราชสีมา
ระบำ ศิลปะการรำที่มีผู้แสดงพร้อมกันเป็นหมู่ ไม่ดำเนินเรื่องราว เน้นการแปรแถวในลักษณะต่างๆ อย่างเป็นระเบียบงดงาม เน้นความพร้อมเพรียงเป็นหลัก เช่น ระบำสุโขทัย ระบำศรีวิชัย ระบำฉิ่ง
รำ การแสดงท่าทางเคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะเพลงร้อง หรือเพลงดนตรีจะเป็นศิลปะการรำเดี่ยว รำคู่ รำประกอบเพลง รำอาวุธ รำทำบทหรือใช้บท โดยเน้นท่วงท่าลีลาที่งดงามในการร่ายรำ เช่น รำสีนวล รำฉุยฉาย
ฟ้อน ระบำที่มีผู้แสดงพร้อมกันเป็นหมู่ เป็นศิลปะการร่ายรำที่มีลีลาเฉพาะในท้องถิ่นล้านนา ที่เป็นการเคลื่อนไหวแขนขา ยืดยุบเข่าตามจังหวะเพื่อความอ่อนช้อยงดงาม เช่น ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนเล็บ
เซิ้ง การร้องรำทำเพลงแบบพื้นเมืองอีสาน ลีลาและจังหวะการร่ายรำจะรวดเร็ว กระฉับกระเฉง เน้นความสนุกสนาน การแต่งกาย แต่งตามแบบพื้นเมืองของชาวอีสาน เช่น เซิ้งกระติ๊บ เซิ้งแหย่ไข่มดแดง เซิ้งโปงลาง
ละคร มหรสพอย่างหนึ่งที่แสดงเป็นเรื่องราว โดยนำภาพจากประสบการณ์และจินตนาการของมนุษย์มาผูกเป็นเรื่อง มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกก่อให้เกิดความบันเทิงและความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยมีนักแสดงเป็นผู้สื่อความหมายและเรื่องราวต่อผู้ชม แบ่งเป็น ๗ ประเภท ๑. ละครชาตรี ๒. ละครใน ๓. ละครนอก ๔. ละครดึกดำบรรพ์ ๕. ละครพันทาง ๖. ละครร้อง ๗. ละครพูด
โขน เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งของไทย มีประวัติที่เก่าแก่ยาวนานมาก เชื่อว่ามีความเก่าแก่อย่างน้อยย้อนไปถึงสมัยอยุธยามีการสันนิษฐานว่าเป็นการแสดงที่พัฒนามาจากการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ กระบี่กระบอง และการแสดงหนังใหญ่ ดังนั้นการแสดงโขนจึงเป็นการรวมศิลปะการแสดงหลายชนิดเข้าด้วยกัน เป็นการแสดงที่อาศัยท่าเต้นเป็นการแสดงออกทางอารมณ์เป็นสำคัญ ตัวละครมีทั้งแบบสวมมงกุฎบนศีรษะ และสวมหน้ากาก โดยการแสดงเป็นเรื่องราว มีทั้งบทเจรจา และบทร้อง สำหรับเนื้อเรื่องที่นำมาแสดงโขนนั้นเดิมมีทั้งเรื่องอุณรุท และรามเกียรติ์ แต่ในปัจจุบันนิยมเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น