โรคหลังการเก็บเกี่ยว
ผลิตผลพืชสวนที่เน่าเสีย เพราะเชื้อจุลินทรีย์นั้น อาจจะถูกเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายตั้งแต่ยังเป็นผลหรือต้นอ่อน แล้วเชื้อจุลินทรีย์จะอาศัยอยู่ในผลิตผลนั้นๆ โดยยังไม่ทำให้เกิดอาการของโรคขึ้นมา หรือผลิตผลอาจจะถูกเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายในระหว่างการเก็บเกี่ยว หรือในระหว่างการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ในช่วงการขนถ่าย การจัดมาตรฐาน การเก็บรักษา การขนส่งและในตลาด เป็นต้น
สภาพทาง สรีรวิทยาของผลิตผล เช่น การสร้างเนื้อเยื่อซ่อมแซมแผล อายุในระยะที่เก็บเกี่ยว และโครงสร้างของผลิตผลก็มีผลต่อกระบวนการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากนั้นการรู้และเข้าใจถึงวิธีการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ก็มีความสำคัญมากต่อการป้องกันกำจัดโรคหลังเก็บเกี่ยว 1. การสูญเสียเชิงปริมาณ เป็นการสูญเสียที่เห็นได้ชัดเจน เพราะปริมาณของผลิตผลจะหายไปเพราะการเน่า ซึ่งการเน่าจะมีสาเหตุมาจากทั้งเชื้อราและแบคทีเรียจะทำให้ปริมาณผลิตผลที่สามารถจำหน่ายได้ลดลง
2. การสูญเสียเชิงคุณภาพ เป็นการสูญเสียที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายผลิตผลแล้วทำให้คุณภาพเสียไป หรือลดมาตรฐานลงมาแ 3. ความปลอดภัยของผู้บริโภค การศึกษาในปัจจุบันได้ให้ความสนใจต่อสารพิษซึ่งเป็นสารเมตาโบไลท์ที่เชื้อราสังเคราะห์ขึ้นมา ซึ่งมีพิษต่อมนุษย์และสัตว์ เอฟลาทอกซิน ซึ่งสร้างโดย เชื้อรา Aspergillus flavus เชื้อรา Penicillium expansum ซึ่งเป็นเชื้อราที่เข้าทำลายผลไม้เช่น แอปเปิล และสาลี่ สามารถสร้างสารพิษ ชื่อ พาทูลิน
P.viridicatum และ P.citrinuma สามารถสร้าง Citrinin P. viridicatum และ P.ochraceous ยังสร้างสารพิษ Orchratoxin A 5. Fusarium graminearum สามารถสร้างสารพิษ Zearalenone
การเข้าทำลายก่อนการเก็บเกี่ยว (Preharvest Infection) การเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ก่อนการเก็บเกี่ยวนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้หลายทาง โดยที่จะเข้าทำลายในระหว่างที่ผลิตผลยังอยู่ในสวน การเข้าทำลายโดยตรง (Direct Penetration) การเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ โดยวิธีนี้มักจะผ่านเข้าไปทางรูเปิดธรรมชาติและรอยแผลที่เกิดจากการช้ำหรือขูดขีด ตลอดจนรอยแผลจากแมลง การเข้าทำลายแบบนี้ เชื้อจุลินทรีย์จะพักตัว (Quiescent) จนกระทั่งถึงเวลาหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งความต้านทานโรคของผลิตผลลดลง และสภาพแวดล้อมเหมาะต่อการเจริญของเชื้อ
สาเหตุ การเข้าทำลายแบบนี้มีความสำคัญต่อความสูญเสียของผลิตผลมาก เช่นกรณีโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง และมะละกอ โรค Crown rot ของกล้วย และ Stem-end rots ของส้ม เป็นต้น นอกจากนั้น ท้อ ที่ถูกเชื้อรา Monilinia fructicola เข้าทำลายตั้งแต่ยังเป็นดอกอยู่นั้น ผลอ่อนที่เกิดขึ้นอาจจะไม่แสดงอาการของโรคเลย แต่อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว เชื้อราที่เป็นปาราสิตอย่างอ่อน (Weak parasite) และแบคทีเรียจะเข้าสู่ผลิตผลโดยทางรูเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ เลนติเซลหรือการแตกของผิวอันเนื่องมาจากการเจริญของผลไม้ ซึ่งการทำลายอาจจะไม่เกิดขึ้นทันที
รอยแผลมักจะเป็นทางที่ดีที่สุดที่เชื้อราจะเข้าทำลาย ผลไม้ ซึ่งถ้าคิวติเคิล และเซลล์ผิวถูกทำลาย และสปอร์ของเชื้อราได้รับอาหารและความชื้นจากแผลนั้น ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการงอกของสปอร์ การเน่าที่เกิดบริเวณปลายผล (Blossom End) นั้น ตามปกติมักจะเกี่ยวข้องกับการเข้าทำลายตั้งแต่เป็นดอก
การเข้าทำลายหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest Infection) เชื้อราหลายชนิดที่ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากมาย แก่ผลิตผลนั้น ไม่สามารถที่จะเข้าสู่ผักและผลไม้ได้ถ้าไม่เกิดแผลขึ้น การที่ผิวของผลิตผลเกิดแผลนั้นแม้จะเกิดในระดับที่ต่ำมาก ก็มักจะเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเน่าเพราะถูกเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายได้ ดังนั้นแผลที่เกิดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยว จึงเป็นทางที่เชื้อจุลินทรีย์จะเข้าสู่ผลิตผลได้ นอกจากนั้นการเข้าทำลายหลังการเก็บเกี่ยว อาจเกิดโดยเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายโดยตรง เช่น เชื้อรา Sclerotium และ Colletotrichum เป็นต้น
การเข้าทำลายแบบแฝง (Quiescent หรือ Latent Infections) การเข้าทำลายผลิตผลของเชื้อจุลินทรีย์นั้น ในช่วงใดช่วงหนึ่งของการเข้าทำลายนั้น เชื้อจุลินทรีย์อาจจะหยุดชะงักการเจริญ สำหรับการหยุดชะงักดังกล่าวนี้เรียกว่า "Latent" ซึ่งนักโรคพืชหลังเก็บเกี่ยว ชื่อ Verhoeff ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า Latency ไว้เมื่อปี 1974 ว่า คือ การพักตัวของเชื้อสาเหตุโรคพืช ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะเปลี่ยนไปเป็นเชื้อสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคได้ อันที่จริงในปี 1950 Gaumann ได้กล่าวถึงความหมายของ "Latency" ว่า คือ ตัวที่ไม่ทำให้เกิดอาการของโรคในขณะนั้น
แต่นักไวรัส และนักระบาดวิทยา ได้ให้คำจำกัดความของ Latency ว่าเป็นช่วงระหว่างการเข้าทำลาย และการแสดงอาการของโรค ในปี 1974 Hayward ได้รายงานถึงการเจริญของแบคทีเรียที่ไม่ทำให้เกิดอาการของโรค และเรียกว่าเป็นการเข้าทำลายแฝง (Latent infection) ต่อมามีการสรุปว่า Latent infection ใช้กับกรณีที่พืชไม่แสดงอาการ แต่ Quiescent Infection ใช้กับกรณีที่เชื้อสาเหตุถูกระงับการเจริญเป็นระยะเวลาหนึ่ง การเข้าทำลายแบบแฝงนี้อาจจะเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ก็ได้ เช่น อาจจะเกิดในช่วงการงอกของสปอร์ การยืดออกของ germ-tube การสร้าง appressorium หรือการสร้างกลุ่มเส้นใย
การเข้าทำลายแบบแฝงของโรคหลังเก็บเกี่ยว คือ การชะงักการเจริญและพัฒนาของเชื้อสาเหตุผ่านทางลักษณะทาง สรีรวิทยาของพืชอาศัย จนกว่าระยะการแก่ของพืชอาศัยจะมาถึง พืชอาศัยจึงจะแสดงอาการของโรค
สรีรวิทยาของผลิตผลที่สัมพันธ์กับโรคหลังเก็บเกี่ยว 1. ความแก่ของผลิตผล (Maturity) ผลไม้โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวก่อนที่จะสุกเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อ ขนส่งได้สะดวก การเก็บเกี่ยวก่อนการสุกนี้ทำให้ผลไม้มีความต้านทานต่อการเน่าเสียดีกว่าผลไม้ที่เก็บเกี่ยวตอนสุกแล้วยิ่งไปกว่านั้นผลไม้ในระยะ preclimacteric ตามปกติ จะมีเนื้อแข็ง ต้านทานต่อการถูกทำลายทางกลในระหว่างการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ผลไม้ที่ได้รับเชื้อสาเหตุขณะยังเป็นผลอ่อนอาจจะยังไม่แสดงอาการก็ได้ เนื่องจากเนื้อของผลไม้ยังแข็งอยู่และอาจจะมีปริมาณของสารระงับกิจกรรมของเอนไซม์โพลีกาแลคตูโรเนส
ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทำลายส่วนที่เป็นเพคตินของเซลล์ในผลไม้ดิบที่ยังไม่แก่จะมีสารระงับกิจกรรมของเอนไซม์โพลี - กาแลคตูโรเนส (Polygalacturonase inhibitor) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งพบในผลไม้หลายชนิด เช่น สาลี่ พลัม และท้อ เป็นต้น โปรตีนดังกล่าวประกอบด้วย 2 ไอโซเมอร์ แต่ละไอโซเมอร์มีน้ำหนักโมเลกุลประมาณ 91,000 ดัลตัน และจะเสียคุณสมบัติไปที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส โปรตีนนี้สามารถระงับปฏิกิริยาของเอนไซม์โพลีกาแลคตูโรเนส ซึ่งได้จากเชื้อราหลายชนิดเช่น Monilinia sp Aspergillus niger และ Botrytis cinerea
ผลไม้ที่ยังอ่อนนั้น เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย แต่เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตโดยสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ความต้านทานต่อการเกิดอาการของโรคจะคงอยู่ไปจนกว่าผลไม้จะแก่ ความต้านทานนี้จะลดลงเมื่อผลไม้เริ่มสุก เมื่อผลไม้เข้าสู่ระยะเสื่อมสภาพ ความต้านทานต่ออาการของโรคจะยิ่งลดน้อยลงไปอีก
2. การซ่อมแซมรักษาแผลของผลิตผล (Wound Healing) เชื้อจุลินทรีย์จะเข้าทำลายผลิตผลทางแผลได้ง่ายที่สุด แผลนั้นมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการเก็บเกี่ยว ผลิตผลบางชนิด เช่น มันฝรั่ง มันเทศ แครอท และหอมหัวใหญ่ มีความสามารถที่จะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาปิดแผลได้ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนั้นผลิตผลดังกล่าวมักจะต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า Curing ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น มีการถ่ายเทอากาศดี และอุณหภูมิจะอยู่ในช่วง 20-25 องศาเซลเซียส ทั้งนี้เพื่อให้มีการรักษาแผลที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์
ผลไม้ไม่มีคุณสมบัติในการรักษาแผลดังกล่าว แต่ผลไม้มักจะมีสารประกอบพวกฟีนอลอยู่สูง สารดังกล่าวจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน โดยมีเอนไซม์โพลีฟีนอล ออกซิเดส เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดเป็นสารสีน้ำตาล ซึ่งมีพิษต่อเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดอาจจะหยุดการงอกของสปอร์หรือฆ่าเชื้อราบางชนิดได้ นอกจากนั้นการแห้งของแผลก็จะระงับการเข้าทำลายได้ เพราะเชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ต้องการความชื้นสูงในการเข้าทำลายผลิตผล
3. สาร Phytoalexins ผลิตผลบางชนิดสามารถสร้างสารบางอย่างขึ้นมาได้เมื่อถูกเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายหรือเมื่อผลิตผลอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม สารดังกล่าวนี้เรียกว่า Phytoalexin ซึ่งมีโครงสร้างผันแปรไปตามชนิดของเนื้อเยื่อ สาร Phytoalexins นี้เข้าใจว่าจะเข้าทำปฏิกิริยากับเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เสียลักษณะการยอมให้สารผ่านเข้าออก และมีลักษณะที่ผิดปกติไม่สามารถเจริญได้
ในระยะเริ่มแรกที่พบสาร Phytoalexins นั้น เชื่อกันว่าเป็นการตอบสนองต่อการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ แต่ปัจจุบันพบว่าเมื่อพืชเกิดแผล พืชจะสร้างสารเมตาโบไลท์ขึ้นมา เรียกว่า Wound metabolite ซึ่งป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ได้
สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดโรคหลังเก็บเกี่ยว 1. อุณหภูมิ การจัดการเกี่ยวกับอุณหภูมิเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเกิดโรค ในขณะเก็บรักษา ในขณะขนส่ง หรือในระหว่างการวางขาย อุณหภูมิต่ำจะช่วยลดการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ลงได้ แต่อุณหภูมินั้นต้องไม่ต่ำจนเกิดอันตรายต่อผลิตผลนั้นๆผลิตผลควรจะผ่านขั้นตอนการลดความร้อน (Cooling) ทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เชื้อราบางชนิดสามารถเจริญได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แต่อย่างไรก็ตามการเจริญที่อุณหภูมิดังกล่าวจะน้อยมาก
เชื้อรา Rhizopus stolonifer และ Aspergillus niger จะไม่สามารถเจริญได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียสนอกจากนั้นที่อุณหภูมิต่ำเชื้อราจะงอกจากสปอร์ได้ช้ามาก และเส้นใยที่งอกออกมาที่อุณหภูมิต่ำมักจะไม่สามารถเจริญต่อไปได้
2. ความชื้น เชื้อจุลินทรีย์จะเข้าทำลายผลิตผลได้ดีเมื่อมีความชื้นสูง ในการเก็บรักษาผลิตผลทางพืชสวนทั่วไป ความชื้นสัมพัทธ์ในห้องเก็บรักษาจะอยู่ในระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดการสูญเสียน้ำในระหว่างการเก็บรักษา ความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซนต์นี้ค่อนข้างจะเหมาะสมต่อการเจริญและการงอกของสปอร์ของเชื้อรา ดังนั้นในห้องเก็บรักษาผลิตผลจึงควรมีการหมุนเวียนของอากาศที่ดีและพอเพียง หลังจากที่นำผลิตผลออกจากห้องเย็นมักจะเกิดปัญหาเกิดหยดน้ำขึ้นที่ผิวของผลิตผล (Sweating) การเกิดหยดน้ำนี้จะช่วยให้เชื้อจุลินทรีย์งอกจากสปอร์ และเข้าทำลายผลิตผลได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเกิดหยดน้ำขึ้น โดยการใช้ระบบการหมุนเวียนของอากาศ การเก็บเกี่ยวผลิตผลจะต้องเก็บเกี่ยวในขณะที่ผลิตผลนั้นแห้ง ผลิตผลที่เปียกชื้นควรผึ่งให้แห้งก่อนที่จะบรรจุลงภาชนะหรือขนส่งตลอดจนเก็บรักษา
3. สภาพบรรยากาศที่เก็บรักษา การควบคุมบรรยากาศที่ใช้ในการเก็บรักษาโดยผันแปรปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน และไนโตรเจน หรือเติมคาร์บอนมอนอกไซด์ในบรรยากาศ และเอทธิลีน จะมีผลต่อผลิตผลและเชื้อจุลินทรีย์ การควบคุมสภาพบรรยากาศนี้อาจจะให้ผลดีในผลิตผลบางชนิด แต่ในทางตรงกันข้ามอาจจะเกิดผลเสียต่อผลิตผลบางชนิดก็ได้ ปริมาณของก๊าซในบรรยากาศจะต้องควบคุมอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลเสีย
ก๊าซเอทธิลีนที่ปรากฏในบรรยากาศจะมีผลทำให้ผลไม้สุกเร็วขึ้น เร่งการเสื่อมสภาพของผักและดอกไม้ ซึ่งทำให้เกิดการอ่อนแอต่อโรคขึ้นมา แต่ผลของเอทธิลีนต่อการเกิดโรคนี้ยังไม่แน่นอนนัก เพราะในบางกรณีเอทธิลีนมีผลทำให้เกิดความต้านทานโรคได้ นอกจากนั้นเอทธิลีนยังทำให้เกิดผลเสียต่อผลิตผลบางชนิดด้วย เช่น ทำให้เกิดรสขมของสาร Isocoumarin ในแครอท และการไม่บานของดอกคาร์เนชั่น และอาการอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว
คาร์บอนมอนอกไซด์เป็นก๊าซซึ่งจะรบกวนกระบวนการ Oxidative phosphorylation เพราะจะไปแข่งกับออกซิเจน จึงมีผลในการระงับการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ การใช้คาร์บอนมอนอกไซด์ 10 เปอร์เซ็นต์ จะลดการเกิดโรคหลังเก็บเกี่ยวได้ผลดี แต่การใช้คาร์บอนมอนอกไซด์ให้ได้ผลต้องใช้ร่วมกับการควบคุมออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์
เทคนิคการใช้ความดันต่ำในการเก็บรักษาผัก และผลไม้ (Low-pressure storageหรือ Hypobaric storage) จะให้ผลคล้ายคลึงกับการควบคุมบรรยากาศ แต่ผลของการใช้ความดันต่ำต่อการเกิดโรคยังมีการศึกษาไม่มากนัก ตัวอย่างที่มีการศึกษากันแล้ว เช่น ใช้ความดันที่ 80-170 มม.ปรอท จะลดอาการเน่าเสียของ มะนาว แครนเบอรี่ และมันฝรั่ง
การป้องกันและกำจัดโรคหลังเก็บเกี่ยว 1. การควบคุมโรคก่อนการเก็บเกี่ยว เป็นการควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยวตั้งแต่ผลิตผลยังอยู่ในสวน ซึ่งการควบคุมวิธีนี้จะช่วยป้องกันและกำจัดโรคพืชที่แสดงอาการแบบแฝง ซึ่งเชื้อสาเหตุจะเข้าทำลายตั้งแต่ยังอยู่ในสวน วิธีการควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยวก่อนการเก็บเกี่ยวทำได้หลายวิธี
1.1 การรักษาความสะอาด (Sanitation) การรักษาความสะอาดในสวนผลไม้หรือสวนผัก จะช่วยลดการใช้สารเคมีในการป้องกันโรคไปได้มาก เช่น มีการเก็บซากของผลิตผลที่เน่าเสียหรือร่วงหล่นอยู่ในบริเวณสวนไปเผาทิ้ง โดยเฉพาะอาการแบบเน่าแห้งของผลไม้ต่างๆ เพื่อลดปริมาณของสปอร์ เชื้อราให้ลดลง 1.2 การใช้สารเคมี (Chemical Application) ในผลิตผลบางชนิดนั้น Latent Infection จะเกิดขึ้นตอนกลีบดอกร่วง ดังนั้นจึงควรมีการฉีดพ่นสารเคมีในช่วงออกดอก อาจจะฉีดพ่นทุกๆ 7 หรือ 14 วันตอนออกดอก จะช่วยป้องกันกำจัดโรคหลังเก็บเกี่ยวได้หลายชนิด เช่น Botrytis Rot ของผล สตรอเบอรี่และราสเบอรี่ เป็นต้น
2. การป้องกันหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest Control) ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของพืชหรือเซลล์ผิวนั้น อาจจะถูกทำลายไปบ้างในช่วงการเก็บเกี่ยว และเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดยังเข้าทำลายผลิตผลได้โดยไม่ต้องมีแผล ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมโรคหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อลดการงอกของสปอร์เชื้อราที่ติดมากับผลิตผล วิธีการป้องกันหลังการเก็บเกี่ยวทำได้หลายวิธี เช่น
2.1 การรักษาความสะอาด (Sanitation) หลังการเก็บเกี่ยวจะต้องมีการดูแลรักษาความสะอาดของภาชนะบรรจุที่ใช้ในขั้นตอนต่างๆ เช่น ถุงที่ใช้เก็บรักษาผลไม้ กล่อง ลัง เข่ง สายพานที่พาให้ผลิตผลเคลื่อนที่ไปตามราง ตลอดจนตัวผู้ที่ทำงานในโรงบรรจุ สิ่งดังกล่าวควรจะปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ น้ำที่ใช้ในการล้างผักและผลไม้นั้น ควรมีการผสมคลอรีน pH 7-8.5 ลงไป โดยให้มีคลอรีนอยู่ 50-100 ส่วนต่อล้านทั้งนี้เพราะสภาพดังกล่าวจะเหมาะสมต่อการกำจัดเชื้อราและยังทำให้สารเคมีสลาย ตัวช้าลงด้วย
2.2 การจัดการสภาพแวดล้อมที่ใช้เก็บรักษา การควบคุมสภาพแวดล้อมหลังเก็บเกี่ยวจะมีผลต่ออัตราการพัฒนาของโรคโดยไม่มีพิษตกค้าง
อุณหภูมิ อุณหภูมิมีผลอย่างเห็นได้ชัดต่อการเจริญของเชื้อราหลายชนิด เชื้อราหลายชนิดจะหยุดการเจริญที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ดังนั้นการใช้อุณหภูมิที่ถูกต้องและเหมาะสมในการเก็บรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยว ความชื้น ความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงจะกระตุ้นการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ แต่ในบางกรณีความชื้นที่สูงมากๆ ในห้องเก็บรักษาที่ออกแบบพิเศษ ก็ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดโรคมากขึ้น อาจจะเป็นไปได้ว่าความชื้นสูงจะทำให้เกิดโรคมากขึ้น เมื่อการควบคุมระบบอุณหภูมิไม่ดีพอ
สภาพบรรยากาศ การลดปริมาณออกซิเจนลงให้เหลือประมาณ 1-5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การเจริญของเชื้อราลดน้อยลง ในทำนองเดียวกับการเพิ่มปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้นในช่วง 3-20 เปอร์เซ็นต์ จะลดการเจริญของเชื้อราได้ นอกจากนั้น คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งอาจจะเติมเข้าไปในบรรยากาศของห้องเก็บรักษาก็จะช่วยลดการเจริญของเชื้อราลงได้เช่นกัน แต่ต้องระวังเพราะคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นก๊าซที่มีพิษต่อมนุษย์สูงมาก
3. การป้องกันและกำจัดโรคหลังเก็บเกี่ยวโดยวิธีทางเคมี การใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดโรคหลังเก็บเกี่ยวนั้น อาจจะช่วยปรับปรุงในแง่ความสะอาดของผลิตผลป้องกันผลิตผลจากการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ หรือระงับการเจริญของเชื้อสาเหตุ สารเคมีบางชนิดอาจจะมีคุณสมบัติในการควบคุมโรคทั้งสามวิธี
3.1 สารเคมีที่ใช้เพื่อรักษาความสะอาด คลอรีนเป็นสารเคมีที่ใช้ในการลดปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์บนผลิตผล เครื่องมือ หรือในน้ำที่ใช้ล้างผลิตผล คลอรีนจะเปลี่ยนเป็นกรดไฮโปคลอรัสในน้ำ แต่สารละลายนี้ต้องมี pH เป็นด่างเพื่อการใช้ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพราะช่วยป้องกันการสูญเสียคลอรีนไป สารนี้สามารถจำกัดแบคทีเรีย เชื้อรา และ ยีสต์ 2. สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันโรค การใช้สารเคมีประเภทนี้ให้ได้ผลดีจะต้องไม่มีการเข้าทำลายแบบแฝง ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ต้องมีน้อย และผลิตผลต้องไม่มีบาดแผลอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ
สารเคมี Sodium orthophenyl phenate หรือ SOPP สามารถใช้ควบคุมเชื้อราหลายชนิด เช่น Geotrichum และ Rhizopus สาร SOPP นี้ ควรจะใช้ในสภาพที่เป็นด่างเพื่อป้องกันการเกิดการแตกตัว เป็นสารที่มีความปลอดภัยไม่เป็นพิษต่อผักและผลไม้หลังจากใช้สารนี้ถ้ามีการล้างผักและผลไม้ SOPP ส่วนใหญ่จะหมดไปจากผิว แต่ในส่วนที่เกิดแผลจะยังคงมีสารตกค้างอยู่ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายผลิตผล ในระหว่างการวางขายหรือการขนส่ง สารนี้นิยมใช้กับผลไม้หลายชนิด เช่น ผลไม้จำพวกส้ม แอปเปิล สาลี่ ท้อ มันเทศ และผัก ผลไม้อีกหลายชนิด
วิธีใช้อาจจะใช้ได้หลายวิธี เช่น แช่ไว้ประมาณ 1-3 นาที ซึ่งอาจจะแช่ในถังที่มีสาร SOPP ไหลหมุนเวียน หรือผลไม้อาจจะเลื่อนไปตามสายพานและผ่านฟองของ SOPP โดยมีแปรงช่วยให้ SOPP สัมผัสกับผิวผลไม้ทั้งผลประมาณ 15 วินาที ในการใช้ทุกวิธีดังกล่าวข้างต้น ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 1 ครั้ง ฟองของ SOPP นั้นจะใช้ SOPP 5 เปอร์เซ็นต์ และโซเดียมลอรีลซัลเฟต (Sodium lauryl sulfate) 0.3 เปอร์เซ็นต์ สารเคมีโปแตสเซียมซอเบต (Potassium sorbate) เป็นสารเคมีฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีการใช้อย่างกว้างขวาง จะป้องกันการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ เมื่อใช้ในปริมาณที่สูงและมักใช้กับผลไม้แห้ง ใช้ป้องกันเชื้อรา Rhizopus, Penicillium และ Aspergillus
สารเคมีในกลุ่ม Benzimidazole เป็นกลุ่มสารเคมีที่สำคัญที่ใช้ในการป้องกันโรคหลังการเก็บเกี่ยว ใช้ได้ผลดีกับเชื้อรา Monilinia, Penicillium Botrytis, Ceratocystis และColletotrichum สารเคมีชนิดนี้สามารถใช้ป้องกันการเจริญของเชื้อราที่เข้าทำลายแฝง เช่น Diplodia, Phomopsis และ Colletotrichum ที่เกิดกับผลไม้เมืองร้อนหลายชนิด
สารเคมีในกลุ่ม Benzimidazole และสารใกล้เคียง เช่น บีโนมิล ไธอะเบนดาโซล คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) และไธโอฟาเนต เมทธิล (Thiophanate-methyl) มีคุณสมบัติในการควบคุมเชื้อราใกล้เคียงกัน แต่อาจจะต่างกันในปริมาณที่ใช้ โดยทั่วไปสามารถใช้ทดแทนกันได้ อาจจะมีบางกรณีที่ต้องดูคุณสมบัติในทางชีววิทยาและทางเคมีของสารแต่ละชนิด
ไบฟีนิล (Biphenyl) เป็นสารเคมีที่ใช้รวมไปกับภาชนะบรรจุที่บรรจุผลไม้ตระกูลส้ม โดยสารนี้จะระเหยออกมาจากภาชนะบรรจุในระหว่างการขนส่งหรือเก็บรักษา สารนี้จะระงับการสร้างสปอร์ของเชื้อรา Penicillium ได้ดีทั้ง P.italicum และ P.digitatum แต่สารนี้มักก่อให้เกิดปัญหาในแง่ทำให้ผลส้มมีกลิ่นของสารนี้ไปชั่วระยะหนึ่ง และเพราะสาเหตุนี้ไบฟีนิลจึงใช้กับผลิตผลชนิดอื่นๆ ไม่ได้ และปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พบ คือ อาจจะมีพิษตกค้างสูงเกินไป โดยเฉพาะกรณีที่ผลไม้ตระกูลส้มบางชนิดที่ดูดสารนี้ได้มากเพราะในขณะขนส่งมีความเย็นไม่พอเพียง
ไดคลอแรน (Dicloran) เป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมเชื้อรา Rhizopus stolonifer ซึ่งเป็นเชื้อราที่เข้าทำลายผลิตผลทางแผล สารเคมีนี้ใช้ได้ดีกับผลิตผลจำพวก เชอรี่ ท้อ และผลไม้เมล็ดแข็งอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามสารเคมีชนิดนี้ใช้ได้ผลน้อยมากกับเชื้อรา Monilinia fructicola และ Rhizopus ชนิดอื่นๆ จึงมีการใช้ไดคลอแรมผสมกับบีโนมิล เพื่อป้องกันโรคเน่าที่เกิดจากเชื้อ Rhizopus stolonifer และ Monilinia fructicola
3. สารเคมีที่ระงับการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ แม้ว่าผลิตผลเสียหายง่ายหลายชนิดต้องใช้สารเคมีเพื่อป้องกันการเกิดโรค แต่ว่าสารเคมีที่ใช้ในการระงับการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ก็ยังจำเป็นที่ต้องใช้อยู่เพื่อควบคุมโรคที่เกิดก่อนการเก็บเกี่ยว หรือเกิดขึ้นทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เช่น เชื้อรา Monilinia และ Rhizopus นั้น การเจริญของเชื้อราทั้งสองจะหยุดหรือช้าลงโดยการใช้ DCNA (2,6-Dichloro-4-nitroaniline) หรือ Botran ซึ่ง DCNA จะป้องกันการเน่าเสียได้ตลอดฤดูการเก็บรักษา สารเคมีชนิดนี้มีคุณสมบัติในการดูดซึมบางส่วน (Partially systemic) และมีพิษตกค้างในเนื้อเยื่อที่มีชีวิต ซึ่งจะต้องระมัดระวังเรื่องพิษตกค้างที่อาจจะหลงเหลือในขณะบริโภคด้วย
วิธีการใช้สารเคมีควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยวนั้นทำได้หลายวิธี 1. การรม (Fumigation) การรมมีประโยชน์มากต่อการควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยวในผลิตผลที่บรรจุภาชนะเรียบร้อยแล้ว หรือในห้องเก็บที่ปิดมิดชิด มีการรมสารเคมีในผลิตผลหลายชนิดที่ใช้ได้ผล เช่น
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อควบคุมโรคที่เกิดจาก Botrytis cinerea ในผลองุ่น ซึ่งใช้กันเป็นการค้าในบริเวณที่มีการปลูกองุ่น และราสเบอรี่ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ทนต่อสารเคมีชนิดนี้ได้ ระดับปลอดภัยของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ใช้จะต้องไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ ถ้าใช้ปริมาณที่สูงจะทำให้สีผลรอบๆ ก้านเป็นสีขาว ในประเทศไทยมีการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กับลำไย และลิ้นจี่ เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลไม้ดังกล่าวและช่วยควบคุมโรคด้วย
2. การฉีดพ่น แช่ สารเคมี วิธีการที่สำคัญในการใช้สารเคมีทางหลังการเก็บเกี่ยวนั้น มักจะใช้กับตัวกลางที่เป็นน้ำ ซึ่งสารเคมีที่ใช้ต้องเป็นชนิดไม่ระเหยและจะอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของการบรรจุหีบห่อ
4. การใช้รังสี (Radiation Treatments) รังสีแกมมาเป็นรังสีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งก่อให้เกิดโรคของผักและผลไม้ แต่ผลของการใช้รังสีอาจจะทำให้คุณภาพของผลิตผลเสียไปได้ จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง 5. การใช้สารควบคุมการเจริญของพืช (Growth Regulator Treatments) มีการใช้สารควบคุมการเจริญของพืชหลายชนิดหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อรักษาความสดของผลิตผล ซึ่งก็อาจจะช่วยลดการเป็นโรคได้ เช่น การใช้ 2,4-D กับพืชตระกูลส้ม เพื่อรักษาสีเขียวที่รอยต่อของผลกับก้าน ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นสด ทำให้แบคทีเรียและราเข้าทำลายไม่ได้
6. การบรรจุหีบห่อ การบรรจุหีบห่อชนิดที่ห่อผลิตผลแต่ละหน่วยแยกกันนั้น ก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้ดี โดยวัสดุที่ใช้ห่อนั้นอาจจะมีการจุ่มลงในสารเคมีก่อน วิธีการนี้ใช้กันมากกับแอปเปิล และสาลี่ ในปัจจุบันนี้มีการเริ่มใช้วัสดุพวก High Density Polyethylene ในผลส้ม และผลไม้อื่นๆ อีกหลายชนิดก็ช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้ดี
จบบทที่ 14