ดาวศุกร์ (Venus)
ดาวศุกร์เป็นดาวดวงที่สองถัดจากดาวพุธ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่หก มีวงโคจรที่เกือบจะเป็นวงกลมมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น มีความเบี่ยงเบนน้อยกว่า 1 %
Venus หรือที่ชาวกรีกเรียกว่า Aphrodite เป็นเทพแห่งความรักและความสวยงาม ดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ชื่อเนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างมากที่สุดสำหรับคนในสมัยโบราณ
ดาวศุกร์เป็นที่รู้จักตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวัตถุที่สว่างมากที่สุดบนท้องฟ้ารองจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และเช่นเดียวกับดาวพุธที่มีชื่อเรียก 2 ชื่อ คือ Eosphorus สำหรับดาวศุกร์ยามใกล้รุ่งและ Hesperus สำหรับดาวศุกร์ยามค่ำ
การหมุนรอบตัวเองของดาวศุกร์นั้นช้ามาก ใช้เวลาประมาณ 243 วัน และช้าลงเรื่อยๆ และเนื่องจากเวลาที่ใช้ในการหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์มีค่าใกล้เคียงกัน (225 วัน) ทำให้ดาวศุกร์หันผิวหน้าเพียงด้านเดียวเข้าหาโลกเมื่อดาวทั้งสองดวงอยู่ใกล้กันมากที่สุด
ดาวศุกร์ เคยถูกกำหนดให้เป็นดาวน้องสาวกับโลก เนื่องจากความคล้ายคลึงกันทั้ง ขนาด มวล ความหนาแน่น และปริมาตร ดาวศุกร์มีขนาดเล็กกว่าโลกเพียงเล็กน้อย (95% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก และ 80%ของมวลของโลก) จากความเหมือนกันหลายประการ ทำให้คิดว่า ใต้ชั้นเมฆหนาของดาวศุกร์ น่าจะมีลักษณะที่เหมือนกับโลกและอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่
ต่อมาจึงพบว่าดาวศุกร์มีความแตกต่างจากโลกมาก ดาวศุกร์ไม่มีมหาสมุทร บรรยากาศที่หนาแน่นซึ่งประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซต์และไม่มีไอน้ำ เมฆซึ่งประกอบด้วยกรดซัลฟุริค และความกดดันที่พื้นผิวที่สูงกว่าพื้นผิวโลกมาก
ความดันบรรยากาศของดาวศุกร์ที่พื้นผิวมีค่าเท่ากับ 90 ATM หรือมีความดันเท่ากับที่ความลึก 1 กิโลเมตรใต้ท้องทะเล บรรยากาศประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซต์ เป็นส่วนใหญ่ มีชั้นเมฆหลายชั้นหนาหลายกิโลเมตรที่มีส่วนประกอบเป็นกรดซัลฟุริค ซึ่งความหนาของเมฆทำให้บดบังความสามารถในการมองเห็นพื้นผิวของดาวศุกร์
ชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นสูงทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) ซึ่งเป็นสาเหตุให้พื้นผิวดาวศุกร์มีอุณหภูมิสูง ระหว่าง 400 ถึง 740 K อุณหภูมิบนดาวศุกร์ยังสูงกว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวของดาวพุธ ถึงแม้ว่าดาวศุกร์จะห่างจากดวงอาทิตย์เกือบสองเท่าของดาวพุธ
บนดาวศุกร์ ครั้งหนึ่งอาจเคยมีน้ำปริมาณมหาศาล แต่ได้ระเหยหายไปหมด ในปัจจุบันบนดาวศุกร์จึงแห้งแล้ง
การสำรวจด้วยคลื่นวิทยุซึ่งสามารถผ่านชั้นเมฆที่หนาของดาวศุกร์ได้ แสดงให้เห็นว่า พื้นผิวส่วนใหญ่ของดาวศุกร์ปกคลุมไปด้วยลาวาอายุน้อยราวๆ 300 ถึง 500 ล้านปีเท่านั้น พื้นที่ราบที่เก่าแก่บนดาวศุกร์มีอายุประมาณ 800 ล้านปีเท่านั้น พบภูเขาไฟรูปโล่ขนาดเล็กนับพันแห่ง
ในปัจจุบันยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์ทางภูเขาไฟยังเกิดขึ้นอยู่ แต่มีเพียง 2-3 จุดเท่านั้น การที่ยังเกิดมีปรากฏการณ์ทางภูเขาไฟอย่างมาก ทำให้ลักษณะภูมิประเทศเดิมหายไป
บนดาวศุกร์ไม่พบหลุมอุกาบาตขนาดเล็กบนพื้นผิวของดาวศุกร์ ซึ่งอาจเนื่องจากอุกาบาตจะหลอมละลายไปในขณะที่วิ่งผ่านบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวศุกร์ หลุมอุกาบาตขนาดใหญ่ที่พบบนพื้นผิวดาวศุกร์ซึ่งมักเกิดเป็นกลุ่ม เชื่อว่าเกิดจากอุกาบาตขนาดใหญ่ซึ่งแตกออกเป็นก้อนขนาดเล็กเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศลงมา
โครงสร้างภายในของดาวศุกร์เชื่อว่ามีลักษณะคล้ายกับโครงสร้างของโลก มีแกนกลางที่เป็นเหล็กซึ่งมีรัศมีประมาณ 3000 กิโลเมตร มีหินหลอมเป็นเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักดาวศุกร์
ดาวศุกร์ไม่มีสนามแม่เหล็ก ซึ่งอาจเนื่องจาการหมุนที่ช้ามาก และดาวศุกร์ไม่มีดาวบริวาร
ดาวศุกร์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นดวงดาวที่สุกสว่างที่สุดในท้องฟ้า