ชาวพุทธตัวอย่าง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระมหิตลาธิเศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงบรรพชาสามเณร สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงบรรพชาสามเณร เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะทรงผนวชเป็นสามเณรประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นอย่างดี ทรงศึกษา ณ ยุโรปประเทศ
ภายหลังทรงลาผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ทรงเข้าเรียนแฮโรว์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เพื่อทรงศึกษาวิชาเบื้องต้น ต่อมาทรงศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมนายร้อยที่ประเทศเยอรมนี และทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกจนสำเร็จ และหลังจากนั้นได้ทรงศึกษาด้านทหารเรือ และทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารเรือ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ และทรงรับราชการอยู่ในกองทัพเรือเยอรมนี ทรงรับราชการกระทรวงทหารเรือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น สมเด็จ ฯ พระบรมราชชนก จึงเสด็จจากประเทศเยอรมนีกลับประเทศสยาม (ประเทศไทย) และทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรืออยู่ระยะหนึ่ง
ทรงสนพระทัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงมีพระเมตตาต่อปวงประชาราษฎร์อย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อเสด็จโรงพยาบาลศิริราช ทอดพระเนตรเห็นความขาดแคลนของโรงพยาบาลศิริราช ความทุกข์ยากของราษฎรเมื่อป่วยไข้ สถานที่ในโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และเครื่องมือไม่เพียงพอ ทรงสลดพระทัยเมื่อเห็นภาพเหล่านั้น พระองค์จึงตัดสินพระทัยลาออกจากกองทัพเรือ เสด็จประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขจนสำเร็จแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมเหรียญทอง และได้เสด็จนิวัตเมืองไทย
ทรงอภิเษกสมรส สมเด็จ ฯ พระบรมราชชนก ได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินราบรมราชชนนี (พระนามเดิม สังวาล ตะละภัฏ) ในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยรับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระธิดาและพระโอรสทั้งสิ้น ๓ พระองค์ คือ ๑. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ๒. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ๓. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระกรณียกิจด้านการแพทย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงการศึกษาแพทย์ การศึกษาพยาบาล การปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช การสาธารณสุข และทรงพัฒนารากฐานระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ด้านการทหาร ทรงพัฒนากองทัพเรือ เช่น เรือตอร์ปิโด เรือดำน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านการศึกษาด้านการประมง และด้านอื่น ๆ อีกมาก สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงเป็นชาวพุทธตัวอย่างที่ดี สมควรถือเป็นแบบอย่าง คือ ในขณะที่ทรงพระเยาว์ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่งดงาม ทรงนำหลักธรรมมงคลชีวิต ๓๘ ประการ มาปฏิบัติพระองค์ได้อย่างเหมาะสม เช่น ทรงเคารพเชื่อฟังพระบรมราชชนก (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระบรมราชชนนี (สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี) เป็นอย่างยิ่ง ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อทรงพระเยาว์ ทรงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนด้วยความอ่อนน้อมเคารพครูอาจารย์โดยไม่ถือพระองค์
สมเด็จฯพระบรมราชชนก ทรงมีพระราชจริยาวัตรอันงดงามในฐานะแพทย์ที่มีน้ำพระทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อประชาชน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของราษฎรที่เจ็บป่วย พระองค์จึงตัดสินพระทัยลาออกจากการเป็นทหารเรือและเสด็จกลับไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา โดยศึกษาวิชาแพทย์ และสาธารณสุขจนสำเร็จ ทรงเสด็จกลับมาปฏิบัติหน้าที่แพทย์รักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยและทรงแก้ไขพัฒนาโรงพยาบาลศิริราชให้เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไม่เห็นแก่พระองค์เอง พระเมตตาของสมเด็จฯพระบรมราชชนก สอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
สมเด็จฯพระบรมราชชนก ทรงมีพระราชจริยาวัตรอันงดงามในฐานะแพทย์ที่มีน้ำพระทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อประชาชน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของราษฎรที่เจ็บป่วย พระองค์จึงตัดสินพระทัยลาออกจากการเป็นทหารเรือและเสด็จกลับไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา โดยศึกษาวิชาแพทย์ และสาธารณสุขจนสำเร็จ ทรงเสด็จกลับมาปฏิบัติหน้าที่แพทย์รักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยและทรงแก้ไขพัฒนาโรงพยาบาลศิริราชให้เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไม่เห็นแก่พระองค์เอง พระเมตตาของสมเด็จฯพระบรมราชชนก สอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
จะเห็นได้ว่า ตลอดพระชนม์ชีพสมเด็จฯพระบรมราชชนก ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประเทศชาติและเพื่อประชาชน ซึ่งถือได้ว่าสมเด็จฯพระบรมราชชนก ทรงเป็นชาวพุทธตัวอย่างที่ดีงาม สำนึกในพระกรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นล้นพ้นในฐานะที่ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ การสาธารณสุข การพยาบาล การทันตแพทย์ การประมง การทัพเรือ และการสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” และ “พระบิดาแห่งการสังคมสงเคราะห์ของไทย” สมควรที่ประชาชนชาวไทยจะได้สนองพระกรุณาธิคุณ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนเป็นประชาชนที่ดี น้อมนำพระราชจริยาวัตรเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นชาวพุทธที่ดีตลอดไป