มาตรฐาน ISO 14000 ใครควรทำ ทำแล้วได้อะไร ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต หรือ ผู้ให้บริการ เพราะในแต่ละองค์กรมีกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น สำหรับองค์กรที่เป็นผู้ผลิต นอกจากจะได้สินค้า หรือ ผลิตภัณฑ์แล้ว ในระหว่างกระบวนการผลิต อาจจะมีผลที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ตามมา เช่น เสียง ฝุ่น ของเสีย สารปนเปื้อน ถ้าองค์กรที่เป็นผู้ให้บริการ ก็จะอยู่ในรูปของการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างไม่คุ้มค่าและไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งล้วนเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากมีการจัดการที่เหมาะสม ก็จะสามารถควบคุม และลดผลกระทบเหล่านั้นได้อย่างดี
ทำแล้วได้อะไร ช่วยลดต้นทุนในระยะยาว เนื่องจากมีการพิจารณาถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เป็นผลให้ต้นทุนต่ำลง เพิ่มโอกาสในด้านการค้า ทำให้การเจรจาทางด้านการค้าสะดวกยิ่งขึ้น เป็นผลให้สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดในอนาคตอีกด้วย สร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับองค์กร เนื่องจากได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์จรรโลงสภาพแวดล้อมให้แก่สังคมส่วนรวม เป็นผลให้ภาพพจน์ขององค์กรเป็นที่ยอมรับของสังคม ได้รับเครื่องหมายรับรองการจัดการสิ่งแวดล้อม องค์กรที่นำมาตรฐาน ISO 14000 ไปปฏิบัติ สามารถขอให้หน่วยงานรับรองให้การรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถนำไปใช้ในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดีขึ้น
มาตรฐาน ISO 14000 คืออะไร ในสังคมที่โลกกำลังให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมลพิษต่างๆ ไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำ การกำจัดของเสีย ฯลฯ ได้ส่งผลกระทบต่อพลเมืองโลกอย่างมก ผลกระทบนี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศในโลก และเป็นเหตุให้เกิดแรงผลักดันให้ องค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดมาตรฐาน หรือ ISO (International Organization for Standardization) จัดทำอนุกรมมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม “ISO 14000 Series” ขึ้น
โครงสร้างของอนุกรมมาตรฐาน ISO 14000 เป็นชุดของมาตรฐานที่ประกอบไปด้วยมาตรฐานหลายเล่ม เริ่มตั้งแต่หมายเลข 14001 โครงสรางของอนุกรมมาตรฐานนี้แบ่งเป็น Environment Management Systems (EMS) Environment Auditing and Related Environment Investigations (EA) Environment Labeling (EL) Environment Performance Evaluation (EPE) Life Cycle Assessment (LCA) Term and Definitions (T&D) สำหรับมาตรฐานที่สามารถขอยื่นรับรองได้คือ ISO 14001 (EMS)
สาระสำคัญในมาตรฐาน EMS มีดังนี้ 1. ข้อกำหนดทั่วไป (General Requirement) องค์กรจะต้องจัดทำเอกสาร ดำเนินการ คงไว้และปรับปรุงการดำเนินการในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และองค์กรต้องแสดงขอบเขตในการนำมาตรฐานไปใช้งาน (ข้อกำหนด 4.1) 2. นโยบายสิ่งแวดล้อม (Environmental policy) การจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยผู้บริหารรับสูงขององค์กร ต้องมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง และกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของพนักงานในองค์กร (ข้อกำหนด 4.2)
3. การวางแผน (Planning) (ข้อกำหนด 4.3) เพื่อให้บรรลุนโยบายสิ่งแวดล้อม องค์กรจึงต้องมีการวางแผนในการดำเนินงาน โดยอย่างน้อยต้องครอบคลุมถึงองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้ แจกแจงรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ในองค์กรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก (ข้อกำหนด 4.3.1) แจกแจงข้อกำหนดทางกฎหมาย และข้อกำหนดอื่นๆ ที่องค์กรเกี่ยวข้องต้องทำ (ข้อกำหนด 4.3.2) จัดทำวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดการกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ข้อกำหนด 4.3.3) จัดทำโครงการการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น (ข้อกำหนด 4.3.3)
4. การดำเนินการ (Implementation) ข้อกำหนด 4.4 เพื่อให้การดำเนินการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่างน้อยองค์กร ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมถึงองค์ประกอบดังนี้ กำหนดโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการสิ่งแวดล้อม (ข้อกำหนด 4.4.1) เผยแพร่ให้พนักงานในองค์กร ทราบถึงความสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดการฝึกอบรมตามความเหมาะสม เพื่อให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม มีความรู้ และความชำนาญในการดำเนินงาน (ข้อกำหนด 4.4.2 และ 4.4.3) จัดทำและควบคุมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม (ข้อกำหนด 4.4.4 และ 4.4.5) ควบคุมการดำเนินงานต่างๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ (ข้อกำหนด 4.4.6) จัดทำแผนดำเนินการหากมีอุบัติเหตุต่างๆ เกิดขึ้น รวมทั้งมีการซักซ้อมการดำเนินการอย่างเหมาะสม (ข้อกำหนด 4.4.7)
5. การตรวจสอบและการแก้ไข (Checking & corrective action) ข้อกำหนด 4.5 เพื่อให้การจัดการสิ่งแวดล้อมได้รับการตรวจสอบและแก้ไข อย่างน้อยการดำเนินการขององค์กร ต้องครอบคลุมถึงองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้ ติดตามและวัดผลการดำเนินการโดยเปรียบเทียบกับแผนที่วางไว้ (ข้อกำหนด 4.5.1) ประเมินความสอดคล้อง ในการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ข้อกำหนด 4.5.2) ข้อบกพร่องที่ตรวจพบต้องได้รับการแก้ไข ป้องกัน และกำหนดผู้รับผิดชอบ (ข้อกำหนด 4.5.3) บันทึกสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการเก็บรักษา ชี้บ่ง สอบกลับได้ (ข้อกำหนด 4.5.4) ตรวจประเมินระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใน (ข้อกำหนด 4.5.5)
6. การทบทวนและการพัฒนา (management review) ข้อกำหนด 4.6 ผู้บริหารองค์กรต้องทบทวนระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้การจัดการสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ โดยพิจารณาจากผลการดำเนินกิจกรรมทั้งทางด้านปฏิบัติตามกฎหมาย การตรวจติดตามภายใน การสื่อสารจากภายนอก และข้อร้องเรียน การบรรลุตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนงาน สถานการณ์แก้ไขและป้องกัน และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น