โรคทูลารีเมีย (Tularemial) สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข http://thaigcd.ddc.moph.go.th/index.html 20/03/2551
ลักษณะโรค โรคทูลารีเมีย หรือโรคไข้กระต่าย (Rabbit Fever) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ถึงคน ที่มีอันตรายสูงโรคหนึ่งเนื่องจากสามารถติดต่อทางละอองฝอย (Aerosol) ได้ และสามารถใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม A ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 จนถึงขณะนี้ พบว่ามีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 200 ราย
ระบาดวิทยา โรคนี้เกิดในสหภาพโซเวียต เอเชียไมเนอร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป ยกเว้นคาบสมุทรไอเบอเรียน (Iberian Peninsula) และเกาะอังกฤษ
เชื้อก่อโรค โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Francisella tularensis มีลักษณะเป็นค๊อกโคบาซิลไล ไม่เคลื่อนที่ ไม่สร้างสปอร์ มีแคปซูล แบคทีเรียนี้มี 4 types โดย type A มีความรุนแรงที่สุด
สัตว์รังโรค และแมงนำโรค สัตว์รังโรคอยู่ในสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 100 ชนิด รวมทั้ง สัตว์ฟันแทะ เช่น กระต่าย หนู กระรอก กวาง แพรีด๊อก (Parrie dog) และสามารถติดต่อมายังสัตว์เลี้ยงจำพวกวัว ควาย แกะและแมวได้ โดยมีเหลือบ เห็บ หมัด หรือยุงเป็นแมลงนำโรค
วิธีการติดต่อ โรคนี้ติดต่อมายังคนโดยถูกแมลงพาหะที่กัดเลือดสัตว์ที่ติดเชื้อนี้กัด หรือติดโดยสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง (Secretion) ของสัตว์ ที่ป่วยด้วยโรคนี้ เข้าทางบาดแผล เยื่อเมือก หรือรอยถลอก ขีดข่วน หรือถูกสัตว์ป่วยกัดโดยตรง การหายใจ หรือกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนได้ เชื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ ไม่มีรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน ระยะฟักตัวของโรค 1 – 14 วัน แต่ทั่ว ๆ ไป 3 – 5 วัน
อาการในคน ลักษณะของโรคทูลารีเมีย ในคนมี 2 รูปแบบขึ้นอยู่กับช่องทางที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย คือ ทางผิวหนัง และทางการหายใจ หากเชื้อเข้าทางผิวหนังจะเกิดบาดแผล ต่อมน้ำเหลืองบวมโตตรงที่รับเชื้อหากเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจผู้ติดเชื้อจะเป็นไข้แบบไทฟอยด์ (typhoidal tularemia) คือมีไข้ หนาวสั่น โลหิตเป็นพิษ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ไอแห้ง ๆ และอ่อนเพลีย หากผู้ป่วยมีอาการปอดบวมร่วมด้วยจะเจ็บหน้าอก มีเสมหะเป็นเลือด อึดอัด หายใจไม่สะดวก จนอาจหยุดหายใจ ลักษณะปอดบวมจากการตรวจทางรังสีทรวงอก อัตราตายของโรคแบบไข้ประมาณร้อยละ 35
การรักษา รักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกสเตร็พโตไมซิน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อในปริมาณ 30 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรืออาจใช้ยาเจนตาไมซิน ปริมาณ 3 – 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 10 – 14 วัน ยาเตตระไซคลีนและ ครอแรมเฟนิคอลก็ใช้ได้ผลเช่นเดียวกัน แต่ผู้ติดเชื้อมักมีอาการไข้กลับค่อนข้างสูง
ข้อแนะนำ โรคนี้เกิดจากการติดต่อจากสัตว์ที่เป็นฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก สัตว์ป่าอื่น ๆ เช่น สกั้งค์ และนำมาซึ่งการติดต่อสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ดังนั้น ผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ควรที่จะต้องปฏิบัติ ดังนี้ คือ 1. การตัดสินใจในการที่จะเลี้ยงสัตว์ พวกกระต่าย หรือ หนู ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ไม่มีสัตว์ป่วย เช่น มีอาการเซื่องซึมไม่ปราดเปรียวอยู่ในกรงหรือในฝูง ที่จำหน่าย และเป็นแหล่งที่สามารถตรวจสอบหลักแหล่งได้ เช่น ฟาร์มสัตว์เลี้ยง เป็นต้น 2. การเลี้ยงสัตว์เหล่านี้จะต้องรักษาความสะอาดทั้งตัวสัตว์ และอาหารสัตว์ที่นำมาเลี้ยงสัตว์ 3. หลังจากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ควรล้างมือทำความสะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง โดยเฉพาะมือที่มีบาดแผล ไม่ควรสัมผัสสัตว์โดยตรง
ข้อแนะนำ 4. ไม่ควรคลุกคลีหรือกอดหอมสัตว์เหล่านี้ โดยตรง 5. สิ่งสำคัญ หากตัดสินใจเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ จะต้องคำนึงถึงโรคต่าง ๆ ที่อาจมีมากับสัตว์เหล่านี้ นอกจากโรค Tularemia แล้ว ยังมีโรคอื่น ๆ อีกมาก ที่สัตว์เหล่านี้ สามารถนำมาสู่คนได้ เช่น โรคท้องร่วงจากเชื้อซัลโมเนลลา พยาธิชนิดต่าง ๆ 6. จากการเกิดโรคในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการถูกแมลงพาหะกัด มีอัตราการเกิดโรคนี้ที่สูงกว่าการติดต่อทางอื่น ๆ การเดินทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ควรป้องกันด้วยสารไล่แมลงที่มีส่วนผสมของสาร DEET อยู่ด้วยจะสามารถป้องกันแมลงพาหะดังกล่าวได้ และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
สำนักระบาดวิทยา www.bt.cdc.gov/agent/tularemia ที่มา สำนักระบาดวิทยา www.bt.cdc.gov/agent/tularemia