รศ.ดร.อนันต์ จันทรโอภากร การโอนหุ้น รศ.ดร.อนันต์ จันทรโอภากร
ความหมาย การโอนหุ้น หมายถึงการที่หุ้นเปลี่ยนมือโดยเจตนาของผู้ถือหุ้นและผู้รับโอนหุ้น ไม่ใช่กรณีหุ้นตกไปยังบุคคลอื่นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย
การโอนหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ หุ้นชนิดนี้ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นเจ้าของหุ้น หุ้นชนิดนี้ย่อมมีข้อกำหนดห้ามโอนไม่ได้ มาตรา ๑๑๓๕ บัญญัติว่า “หุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้เพียงด้วยส่งมอบใบหุ้นแก่กัน” มาตรา ๑๑๓๔ ใบหุ้นนออกให้แก่ผู้ถือนั้น จะออกได้ก็ต่อเมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ และจะออกให้ได้แต่เฉพาะเพื่อหุ้นซึ่งได้ใช้เต็มค่าแล้ว ในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ทรงใบหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมมีสิทธิจะได้รับใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ เมื่อเวนคืนใบหุ้นชนิดระบุชื่อนั้นให้ขีดฆ่าเสีย
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ มาตรา ๑๑๒๙ อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นที่โอนกันนั้นด้วย การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นในทะเบียนผู้ถือหุ้น
มาตรา ๑๑๓๐ หุ้นใดเงินที่เรียกค่าหุ้นยังค้างชำระอยู่ หุ้นนั้นบริษัทจะไม่รับจดทะเบียนให้โอนก็ได้ มาตรา ๑๑๓๑ ในระหว่างสิบสี่วันก่อนการประชุมใหญ่สามัญบริษัทจะปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเสียก็ได้
มาตรา ๑๑๓๓ หุ้นซึ่งโอนกันนั้น ถ้าเป็นหุ้นอันยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้น ท่านว่าผู้โอนยังคงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้น แต่ว่า ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในหนี้อันหนึ่งอันใดของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังการโอน ผู้โอนไม่ต้องรับผิดออกส่วนใช้หนี้ เว้นแต่ความปรากฏขึ้นแก่ศาลว่าบรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้ ในข้อความรับผิดเช่นว่ามานั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้โอนเมื่อพ้นสองปีนับแต่ได้จดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
ข้อจำกัดการโอนหุ้นตามข้อบังคับ ข้อบังคับบริษัทที่จำกัดว่าการโอนหุ้นต้องโอนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ไม่นำมาใช้กับการได้หุ้นมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้ข้อบังคับจะระบุว่าใช้บังคับกับการขายหุ้นที่ถูกยึดทรัพย์ด้วยก็ตาม ดังนั้นบริษัทจะอ้างข้อบังคับเพื่อปฏิเสธไม่จดทะเบียนโอนหุ้นโดยอ้างว่าขัดกับข้อบังคับไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๗๗/๒๕๒๒)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๗๗/๒๕๒๒โจทก์ซื้อหุ้นพิพาทของบริษัทจำเลยจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาล โจทก์จึงเป็นบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะได้หุ้นเหล่านั้นมาในเหตุบางอย่าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1132 บริษัท จำเลยมีหน้าที่ต้องลงทะเบียนรับโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นเหล่านั้นแทนเจ้าของหุ้นเดิมสืบไป
จะอ้างว่าโจทก์ได้หุ้นดังกล่าวมาโดยขัดต่อข้อบังคับของบริษัทจำเลยบังคับให้บริษัทจำเลยจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยไม่ได้หาชอบไม่ เพราะการโอนหุ้นตามข้อบังคับของบริษัทเป็นคนละเรื่องกับการได้หุ้นมาดังกล่าว
กรรมการลงลายมือชื่อในใบโอนหุ้นแล้วปฏิเสธการโอนในภายหลังไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๓๐/๒๕๑๙ โจทก์ ที่ ๓ ลงชื่อมอบใบหุ้นในบริษัทจำกัดที่โจทก์ถือไว้แก่ธนาคาร โดยให้โอนหุ้นที่มอบไว้แก่ธนาคารเป็นประกันหนี้ได้ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารตามกำหนด ธนาคารโอนหุ้นเป็นของธนาคารและโอนต่อไปยังผู้อื่นได้ตามข้อสัญญานั้น ข้อบังคับของบริษัทที่ว่ากรรมการอาจปฏิเสธการโอนหุ้นได้นั้น ไม่ได้บังคับว่ากรรมการต้องอนุมัติก่อนจึงจะโอนหุ้นได้ เมื่อกรรมการลงชื่อในใบโอนหุ้นแล้ว จะปฏิเสธการโอนภายหลังย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
แบบของการโอนหุ้นตามมาตรา ๑๑๒๙ วรรคสองใช้บังคับแม้ยังไม่ได้ออกใบหุ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๓/๒๕๔๕ หุ้นของบริษัททั้งหมดเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อ แม้คู่ความจะรับกันว่าทางบริษัทยังไม่ออกใบหุ้น แต่การโอนหุ้นก็ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง เพราะเป็นกรณีโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ซึ่งกำหนดแบบไว้ว่าถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ เมื่อหนังสือสัญญาโอนหุ้นไม่มีผู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายมือดังกล่าว การโอนหุ้นระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นโมฆะตามบทบัญญัติดังกล่าว
สัญญาซื้อขายหุ้น ไม่ใช่การดำเนินการโอนหุ้น มาตรา ๑๑๒๙ ใช้กับการโอนหุ้นเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๐๘/๒๕๔๓ ตามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายหุ้นของบริษัท ณ. ระหว่างโจทก์ผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อ ข้อ ๒ ระบุว่าจำเลยได้ชำระค่าโอนหุ้นให้แก่โจทก์ด้วยเช็ค ๕ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท และข้อ ๔ ระบุว่า โจทก์ยินยอมลงลายมือชื่อโอนหุ้นของบริษัทดังกล่าวให้แก่จำเลยภายใน ๗ วันนับจากวันทำสัญญานี้ ถือว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัท ณ. ยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ต้องทำแบบที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง และข้อบังคับของบริษัท ณ. ในหมวด ๒ ข้อ ๔ ว่าด้วยเรื่องหุ้นและผู้ถือหุ้น การซื้อขายหุ้นจึงหาตกเป็นโมฆะไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๗๔/๒๔๘๗ โอนหุ้นบริษัทจำกัดชนิดระบุชื่อโดยไม่ได้ลงชื่อผู้รับโอนด้วย นับว่าใช้ไม่ได้แม้จะได้จดแจ้งการโอนในทะเบียนของบริษัทก็คงใช้ไม่ได้ มาตรา ๑๑๔๑ เป็นแต่ข้อสันนิษฐานว่าทะเบียนของบริษัทถูกต้องและไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หุ้นในบริษัทจำกัดเป็นสิทธิชนิดหนึ่ง การโอนหุ้นบริษัทจำกัดไม่สมบูรณ์ถ้าผู้รับโอนได้ปกครองมาเกิน ๕ ปีก็อาจได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นตาม มาตรา ๑๓๘๒
ครอบครองปรปักษ์หุ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๓๙๕/๒๕๒๙ การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อของบริษัทจำกัด แม้จะกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อผู้ร้องรู้เห็นมิได้โต้แย้งปฏิเสธการโอนหุ้นนั้นจึงถือได้ว่าผู้ร้องรับหุ้นนั้นไว้โดยเจตนายึดถือเพื่อตน ย่อมได้สิทธิครอบครอง เมื่อครอบครองเป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปี หากการโอนหุ้นเป็นโมฆะผู้ร้องก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแล้ว จึงต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นส่วนที่ยังชำระไม่ครบตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงถาม
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการครอบครอบปรปักษ์หุ้น หุ้นเป็นทรัพย์สินไม่มีรูปร่างชนิดหนึ่ง ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยว่า ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง (ฎ. ๘๔๖/๒๕๓๔ และ ๙๕๔๔/๒๕๔๒) ดังนั้นหุ้นก็ไม่น่าจะครอบครองปรปักษ์ได้เช่นเดียวกันกับกรณีของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๑๖/๒๓๙๒ การโอนหุ้นนั้น หากเพียงแต่โอนในทะเบียนของบริษัทลงชื่อแต่ผู้รับโอนฝ่ายเดียว ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๑๒๙
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๘๖/๒๕๑๒ การโอนหุ้นบริษัทจำกัดชนิดระบุชื่อในใบหุ้นนั้น แม้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอน แต่เมื่อไม่มีพยานลงชื่อรับรองลายมือย่อมเป็นโมฆะ การโอนหุ้นซึ่งตกเป็นโมฆะ แม้บริษัทจะได้ลงชื่อผู้รับโอนในทะเบียนผู้ถือหุ้น และเคยนัดหมายให้ผู้รับโอนเข้าประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นก็ดี ก็ไม่ทำให้ผู้รับโอนกลายเป็นผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๐๘/๒๕๑๕ ผู้โอนมีหนังสือถึงบริษัทว่าผู้โอนประสงค์จะโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นให้แก่ผู้รับโอน แล้วต่อมาผู้รับโอนก็มีหนังสือถึงบริษัทว่ามีความประสงค์จะรับโอนหุ้นดังกล่าว ขอให้บริษัทจัดการโอนหุ้นดังกล่าวดังนี้ หนังสือทั้งสองฉบับนี้เป็นเรื่องที่ผู้โอนและผู้รับโอนแจ้งความประสงค์เพื่อให้บริษัทจัดการโอนหุ้นเท่านั้น หาใช่เป็นหนังสือโอนหุ้นตามแบบที่กฎหมายบังคับไม่ การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรค ๒
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๗๐/๒๕๒๒ การโอนหุ้นบริษัทจำกัดชนิดระบุชื่อต้องมีพยานลงลายมือชื่อในหนังสือโอนหุ้น มิฉะนั้นเป็นโมฆะ แม้จะทำต่อหน้าพยานรู้เห็นหลายคนก็ตาม การจดลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และโจทก์มาฟ้องให้โอนหุ้นคืน ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ที่รับโอนหุ้นต่อไปโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนก็ไม่เป็นเจ้าของหุ้น การประชุมใหญ่ก็นับเป็นจำนวนผู้ถือหุ้นไม่ได้ ไม่ครบองค์ประชุมหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นมติของที่ประชุมไม่มีผล กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งก็ไม่ใช่กรรมการของบริษัทโดยชอบ
การแถลงเลขหมายหุ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๖๐/๒๕๒๕ ในเอกสารการโอนหุ้น โจทก์ผู้รับโอนกับผู้โอนได้ลงลายมือชื่อมีพยานรับรอง ๒ คน ทั้งกรรมการบริษัทจำเลยสองนายได้ลงชื่อประทับตราบริษัทอนุมัติให้โอนหุ้นกันได้ ถูกต้องตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสองบังคับไว้ ส่วนที่บทบัญญัติมาตราดังกล่าวบัญญัติความต่อไปว่าตราสารการโอนหุ้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย ก็เพื่อจะรู้ได้แน่นอนว่าหุ้นใดของผู้ถือหุ้นยังอยู่และหุ้นใดได้โอนให้บุคคลอื่นไปแล้วเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าถ้ามิได้แถลงหมายเลขหุ้นที่โอนกัน การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมเป็นโมฆะ ทั้งบริษัทจำเลยยังไม่ได้ออกใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้น ย่อมไม่มีเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันที่ผู้โอนจะแถลงลงในหนังสือโอนหุ้นและจดแจ้งการโอน กับชื่อผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นได้ การโอนหุ้นดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๒๗/๒๕๒๑ ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ บังคับว่าการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อในใบหุ้นต้องแถลงเลขหมายหุ้นซึ่งโอนกันลงในตราสารการโอนด้วยนั้น ก็เพื่อว่าถ้าผู้โอนมีหุ้นหลายหุ้นและต้องการโอนเพียงบางหุ้น ก็ให้ระบุเลขหมายหุ้นที่โอนไป เพื่อจะรู้ได้แน่นอนว่าหุ้นใดยังอยู่หรือโอนไปแล้วเท่านั้น แต่ในกรณีที่ผู้โอนต้องการโอนหุ้นทั้งหมดดังคดีนี้เพียงแต่ระบุในเอกสารการโอนว่าขอโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ผู้รับโอน ก็ถือได้ว่าเป็นการแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันแล้ว
การจดแจ้งการโอนในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ความในมาตรา ๑๑๒๙ วรรคสองหมายความว่า การโอนหุ้นแม้จะทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้แจ้งการโอนให้บริษัทจดทะเบียนการโอนลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น การโอนนั้นก็ยังใช้ยันบริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้
ยันบริษัทไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๕๓/๒๕๓๗ ในวันประชุมวิสามัญครั้งที่ ๒/๒๕๒๙ จำเลยยังไม่ได้จดแจ้งการรับโอนหุ้นของโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม โดยจำเลยปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อจะเรียกประชุมวิสามัญ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเข้าประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๗๖ และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมครั้งนี้
การประชุมวิสามัญครั้งที่ ๓/๒๕๒๙เป็นเพียงการลงมติรับรองมติของที่ประชุมวิสามัญครั้งที่ ๒/๒๕๒๙ เป็นมติพิเศษ ซึ่งโจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวอ้างว่ามีการนัดเรียกหรือประชุมหรือลงมติฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทอย่างไร โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยทำงบดุลและงบกำไรขาดทุนไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงอันเป็นเรื่องที่ได้พิจารณากันในการประชุมครั้งก่อนเพื่อมาขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมครั้งนี้ไม่ได้ การประชุมวิสามัญเป็นการประชุมใหญ่ครั้งอื่นนอกจากการประชุมสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๗๑ซึ่งการประชุม
วิสามัญโดยปกติจะเป็นเรื่องรีบด่วนสำคัญที่ต้องให้ที่ประชุมใหญ่วินิจฉัย ไม่อาจรอจนกว่าจะมีการประชุมสามัญได้ และผู้ถือหุ้นอาจต้องออกเสียงลงมติ หากไม่มีการพักการโอนหุ้นก็อาจมีปัญหาในการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าประชุมและผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ที่ประชุมกรรมการจำเลยมีมติให้ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๑๓/๒๕๓๑ การโอนหุ้นทำที่บริษัทจำเลยต่อหน้ากรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลย บริษัทจำเลยจึงมีหน้าที่จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนแจ้งอีก การที่บริษัทจำเลยไม่จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเองแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม จะบัญญัติถึงการโอนหุ้นที่ไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้ แต่ก็หมายถึงว่าเป็นเรื่องที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้รู้เห็นด้วย กฎหมายจึงให้ถือตามที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน เมื่อการโอนหุ้นได้โอนกันที่บริษัทจำเลย กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยรู้เห็นเป็นพยาน จึงมิใช่กรณีที่จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสามมาใช้ได้ [บริษัทจะอ้างมาตรานี้มาเรียกให้ผู้โอนหุ้นไปแล้วชำระค่าหุ้นอีกไม่ได้]
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๓๑/๒๕๓๘ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๒๙วรรคสามที่บัญญัติถึงการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นที่ยังไม่ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าจะนำมาใช้ยันแก่บริษัทไม่ได้นั้น หมายถึงกรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอนโอนหุ้นกันเองโดยบริษัทมิได้ร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย ขณะที่มีการโอนขายหุ้นกัน ส. ผู้รับโอนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยแม้ ส. จะรับโอนหุ้นไว้ในฐานะส่วนตัวแต่ในฐานะที่ ส. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยอยู่ด้วยจึงต้องถือว่าบริษัทจำเลยร่วมรู้เห็นและยินยอมให้มีการโอนหุ้นแล้ว
บริษัทจำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยไม่จำต้องให้ผู้โอนหรือผู้รับโอนคนหนึ่งคนใดแจ้งให้ดำเนินการอีก การที่บริษัทจำเลยไม่ดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงเป็นความผิดของบริษัทจำเลยเอง และการที่บริษัทจำเลยยกเหตุที่ไม่มีการจดแจ้งการโอนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ผู้โอนต้องรับผิดย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕
บริษัทจำเลยหรือผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระโดยอ้างว่าการโอนหุ้นไม่สมบูรณ์ตามมาตรา ๑๑๒๙ วรรคสามไม่ได้ ส่วนมาตรา ๑๑๓๓ เกี่ยวกับความรับผิดของผู้โอนหุ้นสำหรับจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่โอนหมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทที่ผู้โอนเคยถือหุ้นอยู่ไม่ได้หมายถึงว่าผู้โอนจะต้องรับผิดต่อบริษัทในเงินค่าหุ้นซึ่งตนยังส่งใช้ไม่ครบแม้จะได้โอนหุ้นไปแล้ว ผู้คัดค้านจึงเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินแก่ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๙ ไม่ได้
2. ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๗๓/๒๕๔๓ การโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม เมื่อโจทก์รับว่าการโอนหุ้นให้แก่ ม. มิได้จดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของ ป. ในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงยังคงปรากฏชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วยันจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ โจทก์ต้องนำเงินปันผลจากหุ้นของ ป. มาคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
3. ยันระหว่างกันเองได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๘๑-๒๐๘๗/๒๕๑๔ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นบุตรของนายพิพัฒน์และเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทน้ำแข็งนครจำกัด คนละ 3 หุ้น มูลค่าหุ้นละ8,000 บาท นางสาวกมลทิพย์ นายมนัส และนายมานิตย์ จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายพิพัฒน์นำใบหุ้นของตนไปจำนำประกันเงินกู้ขาย โอน หรือจำหน่ายด้วยประการใด ๆ ตามมูลค่าของหุ้น โดยคนทั้งสามยอมรับผิดทุกประการ
นายพรชัย นายพูนศักดิ์ และนายไพบูลย์ จำเลยขณะยังเป็นผู้เยาว์ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้นายพิพัฒน์นำหุ้นของตนไปจำหน่าย ขาย โอน ประกันเงินกู้ หรือจำนำ โดยจะไม่เรียกร้องหรือเกี่ยวข้อง ส่วนแพทย์หญิงผิวจำเลยได้ทำหนังสือมอบกรรมสิทธิ์ใบหุ้นให้นายพิพัฒน์ แล้วนายพิพัฒน์ได้นำเอาหุ้นทั้งหมดไปตีใช้หนี้ให้โจทก์ แต่ทำการโอนหุ้นกันไม่ได้เพราะขัดกับข้อบังคับของบริษัท
มีปัญหาว่า จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องรับผิดใช้เงินค่าหุ้นคืนให้โจทก์หรือไม่ สำหรับนายพรชัย นายพูนศักดิ์ และนายไพบูลย์ จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะทำเอกสารจำเลยทั้งสามยังเป็นผู้เยาว์อยู่ และเอกสารนี้ระบุว่าเป็นหนังสือให้ความยินยอม มิใช่หนังสือมอบอำนาจดังโจทก์อ้างแต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีเอกสารดังกล่าวนี้ นายพิพัฒน์ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองก็ใช้อำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ได้ โดยไม่ต้องรับความยินยอมของบุตรถ้ากิจการที่ทำนั้นไม่ขัดต่อประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์
แต่ในกรณีนี้นายพิพัฒน์เอาหุ้นของบุตรผู้เยาว์ไปตีใช้หนี้ให้โจทก์โดยหนี้นั้นเป็นหนี้ของนายพิพัฒน์เอง บุตรผู้เยาว์ย่อมเสียประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว และนายพิพัฒน์ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ กรณีจึงเห็นได้ว่าประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๗ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตของศาลก่อน ฉะนั้น การกระทำของนายพิพัฒน์ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตของศาลก่อน จึงเป็นโมฆะ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดคืนเงินค่าหุ้นไม่ได้
ส่วนแพทย์หญิงผิวจำเลย ตามเอกสารปรากฏว่ามอบกรรมสิทธิ์ใบหุ้นให้นายพิพัฒน์มิใช่มอบอำนาจ การที่นายพิพัฒน์นำหุ้นไปโอนให้โจทก์จึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายพิพัฒน์เมื่อไม่อาจโอนหุ้นให้กันได้โจทก์ก็ต้องเรียกร้องเอาจากนายพิพัฒน์ จะมาเรียกจากจำเลยมิได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
สำหรับนายมนัส นายมานิตย์ และนางสาวกมลทิพย์จำเลยนั้นเอกสารมีข้อความชัดว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจและยอมรับผิดทุกประการต่อการกระทำของนายพิพัฒน์ กรณี จึงเป็นเรื่องจำเลยทั้งสามคนนี้ตั้งให้นายพิพัฒน์เป็นตัวแทนไปกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ เมื่อนายพิพัฒน์ไปก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ใดโดยอาศัยใบมอบอำนาจนี้ ก็ย่อมต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมีนิติสัมพันธ์กับผู้นั้นด้วยฉะนั้น การที่นายพิพัฒน์โอนหุ้นนี้ให้โจทก์ โดยโจทก์ใช้หนี้แทนนายพิพัฒน์ไป ซึ่งเท่ากับนายพิพัฒน์ได้รับเงินค่าหุ้นมาแล้ว ต่อมานายพิพัฒน์โอนหุ้นให้โจทก์ไม่ได้จำเลยทั้งสามก็ย่อมต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์ แม้หนี้ที่โจทก์ใช้หนี้แทนไปนั้นจะเป็นหนี้ของนายพิพัฒน์เองก็ตาม และไม่เป็นการนอกเหนืออำนาจที่นายพิพัฒน์ได้รับมอบไป
การได้หุ้นมาโดยผลของกฎหมาย มาตรา ๑๑๓๒ ในเหตุบางอย่างเช่นผู้ถือหุ้นตายก็ดี หรือล้มละลายก็ดี อันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิจะได้หุ้นขึ้นนั้น หากว่าบุคคลนั้นนำใบหุ้นมาเวนคืน เมื่อเป็นวิสัยจะทำได้ ทั้งได้นำหลักฐานอันสมควรมาแสดงด้วยแล้ว ก็ให้บริษัทรับบุคคลนั้นลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๗๗/๒๕๒๒ ซื้อหุ้นพิพาทของบริษัทจำเลยจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาล โจทก์จึงเป็นบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะได้หุ้นเหล่านั้นมาในเหตุบางอย่าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓๒ บริษัทจำเลยมีหน้าที่ต้องลงทะเบียนรับโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นเหล่านั้นแทนเจ้าของหุ้นเดิมสืบไป จะอ้างว่าโจทก์ได้หุ้นดังกล่าวมาโดยขัดต่อข้อบังคับของบริษัทจำเลยบังคับให้บริษัทจำเลยจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยไม่ได้หาชอบไม่ เพราะการโอนหุ้นตามข้อบังคับของบริษัทเป็นคนละเรื่องกับการได้หุ้นมาดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๐/๒๕๑๐ เจ้ามรดกมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย เมื่อเจ้ามรดกตายหุ้นของเจ้ามรดกย่อมตกมาเป็นของทายาททันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙ และ ๑๖๐๐ ทายาท จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ ตามมาตรา ๑๑๙๕ ได้ แม้ว่าบริษัทจำเลยจะยังไม่ได้จดทะเบียนทายาทเป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๐๑/๒๕๓๓ ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม หุ้น ที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายย่อมตกเป็นของทายาทในทันที การโอนหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๒๙ มาตรา ๑๑๓๒ และข้อบังคับของบริษัทฯ มิได้ห้ามโอนไว้ จำเลยซึ่งเป็นภริยาผู้ตายและเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องโอนหุ้นให้โจทก์บิดาผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมตามส่วน จำเลยจะขอให้โจทก์รับเป็นตัวเงินตามมูลค่าหุ้นแทนหาได้ไม่
ความรับผิดของผู้โอนในเงินค่าหุ้นต่อบริษัท ความรับผิดของผู้ถือหุ้นที่จะต้องชำระค่าหุ้นให้บริษัทจนครบถ้วนนั้นสิ้นสุดลงเมื่อผู้ถือหุ้นได้โอนหุ้นไปยังผู้อื่นโดยชอบแล้ว แม้หุ้นนั้นจะยังชำระราคาไม่ครบ ก็เป็นความรับผิดของผู้ถือหุ้นคนใหม่ที่จะต้องชำระให้บริษัทต่อไป ความรับผิดของผู้โอนหุ้นไปแล้วตามมาตรา ๑๑๓๓ หมายถึงความรับผิดต่อเจ้าหนี้บริษัท ไม่ใช่ความรับผิดต่อบริษัท
การใช้สิทธิของเจ้าหนี้บริษัทตามมาตรานี้เป็นการใช้สิทธิของตนเอง ไม่ใช่เรียกร้องในนามบริษัทหรือเป็นการใช้สิทธิของลูกหนี้ เพราะบริษัทลูกหนี้ ไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อผู้โอนแล้ว (ฎ. ๑๕๙๐/๒๕๐๓) แต่ศาลจะบังคับให้ผู้โอนหุ้นหรือเจ้าของหุ้นคนเดิมรับผิดก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ถือหุ้นในปัจจุบันทั้งหมด (ไม่ใช่เฉพาะผู้รับโอนเท่านั้น) ไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้ค่าหุ้นที่ยังค้างชำระอยู่ เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบ ความรับผิดของผู้โอนหุ้นจึงเปรียบเสมือนผู้ค้าประกันเจ้าหนี้ของบริษัทสำหรับหนี้ที่บริษัทก่อขึ้นก่อนมีการโอหนหุ้น
กรณีที่บริษัทล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมเข้ามาจัดการทรัพย์สินของบริษัท เพื่อรวบรวมทรัพย์สินของบริษัทมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัท ฉะนั้น แม้ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้โอนหุ้นไปแล้ว แต่เป็นหุ้นซึ่งยังมิได้ส่งใช้เงินค่าหุ้นเต็มจำนวน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ย่อมเรียกผู้ที่เคยถือหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบได้ตามมาตรา ๑๑๓๓ (ฎ.๓๙๑๓/๒๕๓๑) แต่ความรับผิดของผู้โอนหุ้นไปแล้วนี้ เป็นความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัท หาได้รับผิดต่อบริษัทโดยตรงไม่ ฉะนั้น ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ล้มละลายชำระค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ แต่ปรากฏว่าหุ้นนั้นถือได้ว่ามีการโอนไปแล้วโดยการรับรู้ของกรรมการบริษัท แม้จะยังไม่มีการจดทะเบียนการโอน
ก็อาจอ้างถึงการโอนหุ้นมายันบริษัทได้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกให้ผู้ที่เคยถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ยังส่งไม่ครบอย่างกับเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ไม่ได้ (ฎ. ๔๗๘/๒๕๓๔) [หมายความว่าถ้าจะเรียกค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบจากผู้โอนหุ้น ต้องเรียกตามมาตรา ๑๑๓๓ เท่านั้น ไม่ใช่เรียกโดยใช้สิทธิของบริษัทที่จะเรียกจากผู้ถือหุ้นอยู่ในปัจจุบันของบริษัท]