ชาดก เป็นวรรณกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นำมาจากพระไตรปิฎก โดยมีเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญบารีมีต่าง ๆ ในทุก ๆ ชาติ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๕๕๐ เรื่อง ชาดกแต่ละเรื่องจะมุ่งสอนคติธรรมและจริยธรรมในทางอ้อม โดยใช้บทบาทของตัวแสดงในนิทาน ซึ่งมีทั้งเทวดา คน และสัตว์ต่าง ๆ แสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันทั้งที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ ในชั้นนี้จะนำชาดกมาแสดง ดังนี้
มหาอุกกุสชาดก เป็นชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงพระปรารภเรื่องของอุบาสกมิตตคัณฐกะ และได้ตรัสเทศนาแก่พระภิกษุ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ดังนี้ ดังได้ฟังเล่ามาว่า อุบาสกมิตตคัณฐกะนั้นเป็นบุตรแห่งตระกูลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง ณ เมืองสาวัตถี ได้ส่งสหายไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอสตรีที่เป็นธิดาของตระกูลหนึ่งที่มีชื่อเสียงเช่นกัน นางนั้นจึงถามสหายซึ่งเป็นเถ้าแก่ว่า “อุบาสกนั้นมีมิตรสหายซึ่งสามารถช่วยกิจการงานอันเป็นประโยชน์แก่อุบาสกนั้นมีอยู่บ้างหรือไม่” สหายผู้เป็นเถ้าแก่จึงตอบไปว่า “มิตรและสหายเช่นนั้นของอุบาสกยังไม่มีเลย”
สตรีงามนางนั้นจึงกล่าวว่าถ้าเช่นนั้นขอให้เถ้าแก่กลับไปบอกอุบาสกว่าขอให้ไปคบหาผู้ที่จะเป็นมิตรสหายที่ดีให้ได้เสียก่อน จึงจะยอมแต่งงานด้วยตามที่อุบาสกนั้นปรารถนา เถ้าแก่ก็ได้กลับมาบอกให้อุบาสกทราบความตามที่นางได้สั่งมาทุกประการ ซึ่งอุบาสกมิตตคัณฐกะก็ยินดีปฏิบัติตาม
เริ่มแรกอุบาสกได้ไปผูกมิตรไมตรีจิตกับนายประตู ๔ คนก่อน ต่อมาจึงได้ไปผูกมิตรไมตรีจิตกับบุคคลหลายประเภท ล้วนเป็นคนดีมีชื่อเสียง เช่น มหาอำมาตย์ ฝ่ายนายทหารผู้ปกปักรักษาพระนคร เป็นลำดับ จนกระทั่งผูกไมตรีจิตเป็นที่พอพระทัยกับพระมหากษัตริย์ ครั้นกาลต่อมาก็ไปผูกมิตรกับพระมหาเถระผู้ใหญ่ทั้ง ๘๐ องค์ รวมทั้งพระอานนท์เถระและกาลต่อมาได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงโปรดให้อุบาสกรับไตรสรณคมน์และเบญจศีล ข้างฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้ทรงโปรดปรานประทานอิสริยยศแก่อุบาสกเป็นอันมากโดยอุบาสกมิตตคัณฐกะมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว โดยอาศัยการผูกมิตรไมตรีจิตกับบุคคลทั่วไปและบรรพชิตให้เป็นมิตรสหาย
ต่อมาพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงโปรดพระราชทานเคหสถานใหญ่หลังหนึ่งแก่อุบาสก ให้เขาได้ใช้เป็นเรือนหอ และได้เข้าพิธีแต่งงานกับสตรีงามที่ได้สู่ขอไว้แต่เดิม ฝ่ายบรรดามิตรสหายต่างพากันส่งเครื่องบรรณาการไปช่วยอุบาสกฝ่ายสตรีงามผู้เป็นภรรยาซึ่งเป็นผู้มีปัญญาได้ส่งเครื่องบรรณาการที่พระมหากษัตริย์พระราชทานไปถวายอุปราช เอาเครื่องบรรณาการที่อุปราชส่งมานั้นส่งไปให้แก่เสนาบดีได้ส่งเครื่องบรรณาการต่อ ๆ กัน ไปโดยใช้อุบายอย่างนี้ จึงนับว่าได้ผูกสัมพันธไมตรีสนิทกับมหาชนจนตลอดทั่วมหานคร
ครั้นครบ ๗ วัน ทั้งสองคนสามีภรรยาก็ได้แต่งเครื่องสักการบูชาไว้เป็นอันมากแล้ว ได้ไปอัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มาสู่เคหสถาน ถวายทานเป็นอันมากแด่พระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธานครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว อุบาสกก็ได้บรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติผล